17 มิ.ย. 2019 เวลา 10:39 • สุขภาพ
ฉลาก GDA สำหรับผู้ต้องการลดความอ้วน ?
โดยปรกติเวลาเราไปซื้อของไม่ว่าจากที่ไหนก็ตามแต่ สิ่งแรกที่เราจะดูก่อนเลยนั่นก็คือ…… คำตอบ หลายคนคงคิดว่าราคา ใช่แล้วคงไม่มีใครเถียงเพราะเราจะซื้ออะไรมันก็ต้องดูว่าราคาสมเหตุสมผลไหม
แต่วันนี้สิ่งรอบตัวจะมาแนะนำ การเลือกอาหารที่เหมาะสำหรับคนเฉพาะบางกลุ่ม เช่น คนที่ต้องการลดน้ำหนัก คนที่ต้องควบคุมไขมัน น้ำตาล และความเค็ม เป็นต้น
 
อะไรบ้างที่ควรต้องทราบเมื่อซื้อสินค้า ?
ข้อที่ 1 ข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วย วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุงและคำเตือน ต่างๆ อันนี้ทุกคนทราบดี โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดคือ วันหมดอายุ
ข้อที่ 2 ข้อมูลความคุ้มค่า หรือฉลากโภชนาการ ประกอบด้วย ชื่อ/ประเภทของ อาหาร ส่วนประกอบซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อย และ ปริมาณอาหาร (น้ำหนักหรือปริมาตร) ในภาชนะบรรจุ ข้อมูลตรงนี้ก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะเราจะทราบได้ว่า อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่เรากำลังจะชื้อ มีองค์ประกอบอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถเลือกอาหารได้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย
ข้อที่ 3 ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่าง ๆ ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น ได้แก่ ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย อย. และตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ
ข้อที่ 4 ข้อมูลฉลาก GDA (Guide Diary Amount) ในอาหารบางประเภท ดังที่กำลังจะพูดถึง ดังนี้
ฉลาก GDA (Guideline Daily Amount) ?
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 374) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมแบบ GDA มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18ตุลาคม 2559เป็นต้นไปอาหาร 5 กลุ่ม 15 ชนิด
ฉลาก GDA (Guideline Daily Amount) หรือฉลากหวาน มัน เค็ม เป็นฉลากนอกกรอบขนาดเล็กที่จะแสดงข้อมูลโภชนาการ โดยแสดงค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) มาแสดงที่ฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน และอ่านง่าย ได้แก่
1. มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ
2. ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ
3. ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง
4. ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต
5. เวเฟอร์สอดไส้
วิธีอ่านฉลาก GDA มีหลักการอ่านอย่างไร ?
ฉลาก GDA หรือ ฉลากหวาน มัน เค็มจะแบ่งเป็น 4 ส่วนหลักๆได้แก่
ส่วนที่ 1 จะบอกให้ทราบถึงคุณค่าทางโภชนาการ ที่จะได้รับจากหนึ่งหน่วยบริโภค
ส่วนที่ 2 บอกให้เราทราบถึงปริมาณที่เหมาะสมในการแบ่งรับประทาน เพื่อความเหมาะสมควรแบ่งรับประทานเป็นครั้งๆละเท่าๆ กัน
 
ส่วนที่ 3 จะบอกถึงปริมาณพลังงานเมื่อเรากินหมดซอง ว่าได้รับพลังงานทั้งหมดกี่ กิโลแคลอรี่
ส่วนที่ 4 บอกให้ทราบว่าเมื่อรับประทานหมดทั้งซอง จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียม คิดเป็นร้อยละเท่าไรของปริมาณสูงสุดที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน โดยใน 1 วัน ( ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะวางค่าไว้ที่ 2000 แคลอรี่ต่อวัน ) โดยควรจำกัดการบริโภคพลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียม ไม่ควรเกิน 100%
โดยที่ปริมาณสูงสุดที่แนะนำให้บริโภคใน 1 วัน สำหรับคนทั่ว ๆ ไป ยกเว้นนักกีฬา หรือผู้ที่ต้องใช้พลังงานที่มากกว่าคนทั่วไป ดังนี้
พลังงานรวม เฉลี่ยไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี่
น้ำตาล ไม่ควรเกิน 65 กรัม
ไขมันไม่ควรเกิน 65 กรัม
โซเดียม ไม่ควรเกิน 2,300-2,400 มิลลิกรัม
สรุป ฉลาก GDA มีไว้เพื่ออะไร ?
ฉลาก GDA จริง ๆ มันก็คือฉลากโภชนาการนั่นเอง แต่เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคตระหนักถึงอันตรายของการกินอาหารที่ให้พลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียม ในปริมาณที่มากเกินไป จึงสร้างฉลาก GDA ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มองเห็นง่ายและชัดเจนขึ้น เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภคอย่างเรา
โดยสำนึกดีต่อสิ่งรอบตัว
โฆษณา