20 มิ.ย. 2019 เวลา 08:57 • การศึกษา
ตาย ตาย ตาย อกอีแป้นแล่นลึกเข้าตึกแขก!!!
แต่คิด ๆ ไปก็ดีเหมือนกันครับ ยิ่งนึกไม่ค่อยออกว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี หากินกับ น.ส.พ.อย่างนี้ก็ง่ายดีครับ
ลองพิจารณาข่าวพาดหัวนะครับ "นุ๊ก" เขียนอย่างนี้ผิดเต็มประตู แต่ถ้าจะอ้างว่าเป็นวิสามานยนาม - ชื่อเฉพาะ ก็พอจะอ้างได้ คล้าย ๆ ชื่อของ "อ.จำนงค์" ซึ่งที่ถูกต้องไม่มีตัวการันต์ แต่ถ้าเจ้าของบอกว่ามี ก็ต้องมีตามใจท่านแหละครับ
ขอเลี้ยวเข้าซอยนิดนึง คำว่าตัวการันต์หมายถึงพยัญชนะหรือกลุ่มพยัญชนะ ที่มีไม้ทัณฑฆาตอยู่บนหัวนะครับ ยกตัวอย่างตะกี้ ตัวการันต์คือ ค ควาย ครับ โดยมากตัวการันต์มักมีตัวเดียว แต่ในบางกรณีก็มีมากกว่า ๑
กลับมาเรื่องชื่อเล่นตามพาดหัวอีกที เรามาวิเคราะห์กันอย่างนี้ครับ ตัว น หนู น่ะเป็นอักษรต่ำ ซึ่งไม่มีสิทธิ์ใช้รูปวรรณยุกต์ตรีเลยเป็นอันขาด ถ้า นุ๊ก มีไม้ตรีได้ อีกหน่อย นก ก็คงมีได้เหมือนกัน
ส่วน "ปุ๊ก" น่ะถูกแล้วครับ
ปกติพยัญชนะในภาษาไทยแบ่งออกเป็น อักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ อักษรสูงก็ได้แก่พยัญชนะที่มีเสียงสูง อาทิ ไข่ ฃวด ฉิ่ง ถุง ฐาน ผึ้ง ฝา ศาล ฤาษี เสือ หีบ (คนรุ่นผมเค้าท่องกันอย่างนี้แหละครับ)
ส่วนอักษรกลางได้แก่ ไก่ จิก เด็ก ตาย เฎ็ก ฏาย บน ปาก โอ่ง
และอักษรต่ำก็เป็นที่เหลือแหละครับ จำง่ายดี แต่ถ้าเราเขียน ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ไม่แม่นก็อาจจะยังยาก แหะ แหะ
กติกาคือมีอักษรกลางเท่านั้น ที่มีสิทธิ์ใช้รูปวรรณยุกต์ทุกรูป ส่วนอักษรนอกนั้นไม่มีสิทธิ์นะครับ ยกตัวอย่างที่เรามักใช้ผิด เช่น อะไรน้า สวัสดีคร้าบ จะเห็นว่าใช้รูปโทแต่เสียงเป็นเสียงตรี และเมื่อมีตัวสะกด (เฉพาะคำตาย) ยิ่งเป็นเสียงตรีโดยไม่ต้องใส่วรรณยุกต์ใด ๆ ครับ
ก็หวังว่าจากนี้ต่อไปคงจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นนะครับ
โฆษณา