20 มิ.ย. 2019 เวลา 15:00 • ประวัติศาสตร์
“ข้าว” กับบทบาทในการเติบโตและล่มสลายของอยุธยา
ข้าว เป็นอาหารของชาวไทยและเอเชีย นอกจากผู้คนใช้บริโภคแล้ว ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญตั้งแต่โบราณ
วันนี้ผมจะเล่าถึงข้าวที่มีอิทธิพลต่ออยุธยาในสมัยโบราณ
อยุธยานั้นพัฒนามาจากชุมชนการค้าและการกสิกรรม มีข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญเช่นเดียวกับของป่า ประมงน้ำจืด รวมทั้งพืชต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของอาณาจักรอยุธยา กลายเป็นศูนย์กลางที่ทรงพลังอำนาจในแถบนี้
การปลูกข้าวในประเทศไทยก่อนสมัยอยุธยาเป็นการทำข้าวไร่ก่อนจะพัฒนาสู่นาดำและนาหว่าน โดยเฉพาะการทำนาที่ประหยัดพื้นที่กว่าทำข้าวไร่ 6-7 เท่า ทำให้ชุมชนสามารถรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น ชุมชนขนาดใหญ่พัฒนาเป็นเมือง
การทำนาข้าวในสุโขมัยและล้านนาทำให้เกิดการจับจองที่ดินทำกินและรัฐเริ่มออกกฎหมายเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ มีการผลิตเครื่องมือเกษตรและพัฒนาระบบชลประทาน
พื้นที่ตั้งแต่บริเวณที่ปัจจุบันคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จรดอ่าวไทย มีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 2 เมตร ความลาดเท 1-2 องศา ทำให้น้ำฝนไหลลงตามแม่น้ำต่าง ๆ จะไหลช้า และมีน้ำทะเลหนุน จึงมักมีน้ำท่วมขัง น้ำจากแม่น้ำก็ล้นฝั่งท่วมเข้าแผ่นดินนำพาสารอินทรีย์จากที่สูงมาเป็นอาหารแก่นาข้าว เพิ่มความสมบูรณ์ให้หน้าดิน
ข้าวในสมัยอยุธยากลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล เพราะตั้งแต่ยุคอโยธยา (ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองในปัจจุบัน) ได้มีพัฒนาการทางการเกษตรอยู่แล้ว อยุธยาซึ่งมีศูนย์กลางตั้งอยู่บนพื้นที่ทำนาอันอุดมสมบูรณ์และกว้างขวางสามารถเสริมสร้างกำลังทางเศรษฐกิจจากการทำนาข้าว ไม่เพียงแต่เลี้ยงดูประชากร แต่ยังเป็นการกักตุนเป็นเสบียงอาหารแก่กองทัพและการค้าทางทะเลกับชาติเอเชียโดยเฉพาะจีน
ต่อมา ชาติตะวันตกเริ่มมีบทบาทในการค้ากับอยุธยามากขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์สุพรรณภูมิ การมีพื้นที่ทำนามากทำให้รัฐเก็บอากรค่านาได้เยอะมากขึ้นไปด้วย ด้วยระบบราชการแบบจตุสดมภ์ รัฐมีผู้รับผิดชอบเป็นเสนาบดีกรมนาผู้จัดการด้านเกษตรและเก็บอากรค่านา ซึ่งสิ่งสะท้อนความสำคัญของประโยชน์จากนาข้าวคือเสนาบดีกรมนามีตราประจำตำแหน่งถึง 9 ดวง แสดงถึงอำนาจหน้าที่มีมากพอสมควร ส่วนราชทินนามเต็มคือ “ออกญาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนกระเสตราธิบดีอภัยพิธี ปรากรมภาหุ” มีศักดินา 10,000
ประวัติศาสตร์อยุธยายุคต้นที่คาบเกี่ยวกับปลายสุโขทัยนั้น ส่วนหนึ่งที่ทำให้กำลังที่เหนือกว่าของอยุธยาผนวกสุโขทัยได้ มาจากพื้นที่ปลูกข้าวของสุโขทัยมีไม่มากเท่าอยุธยา สุโขทัยพ่ายสงครามถึง 7 ครั้ง ในเวลา 17 ปี เพราะความสมบูรณ์ด้านเสบียงอาหารไม่อาจเทียบเท่ากองทัพอยุธยาที่แม้มาในฐานะผู้รุกราน และก่อนที่อยุธจะเริ่มรบกับพม่าในศึกเชียงไกร-เชียงกราน กษัตริย์อยุธยามักทำสงครามกับหัวเมืองล้านนาเพื่อขยายอำนาจขึ้นเหนือ ซึ่งมีศึกมากถึง 14 ครั้ง เริ่มตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พ.ศ. 1929 ถึงพ.ศ. 2088 สมัยพระไชยราชาธิราช รวม 126 ปี และฝ่ายรุกรานเป็นอยุธยาทั้งสิ้น จะเห็นว่าหากอยุธยาไม่มีเสบียงพร้อมย่อมไม่สามารถก่อสงครามได้ถี่ขนาดนี้
ความสำคัญของข้าวต่อการทหารมีผลต่อการป้องกันตัวของอยุธยาอย่างยิ่ง ในพ.ศ. 2086 สมเด็จพระเจ้ากรุงหงสาวดี (บุเรงนอง) ยกทัพถึง 300,000 คน มาล้อมอยุธยา แต่เพราะขัดสนเสบียงจึงตัดสินใจถอนกำลังขึ้นเหนือไปปะทะทัพหนุนของอยุธยาที่เป็นทัพหัวเมืองเหนือแตกพ่ายไปและแย่งชิงเสบียงมา แต่ทัพอยุธยาที่ตามมาไล่ตีซ้ำกลับพ่ายแพ้ไปอีก ศึกนี้ทำให้พระเจ้าบุเรงนองจับกุมพระราเมศวรและพระมหินทราธิราช พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้
ต่อมา พ.ศ.2128 กษัตริย์พม่าแก้ไขจุดอ่อนสั่งทัพเชียงใหม่เคลื่อนลงมาจากทางเหนือและทัพพระมหาอุปราชแห่งหงสาวดีคุมกำลังเข้ามาทำนาที่เมืองกำแพงเพชร เพื่อเตรียมทำศึกยืดเยื้อกับอยุธยา พระนเรศวรเห็นว่าอยุธยาจะเสียเปรียบหากพม่าล้อมอยุธยาทั้งมีเสบียงพร้อม จึงยกกำลังออกไปตีทัพทั้งสองเพื่อไม่ให้สะสมกำลังได้
บทบาทของข้าวยังส่งผลต่อการล่มสลายของอยุธยา นั่นคือ ในการปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาของพม่า เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ทัพคองบองแห่งพม่าล้อมอยุธยาอยู่นานถึง 14 เดือน ฝ่ายไทยซึ่งไม่คิดว่าพม่าจะมีเสบียงเลี้ยงดูกองทัพได้นานขนาดนี้ เกิดภาวะขาดแคลน กำลังฝ่ายอยุธยาเสียหายไปมากเป็นเหตุให้เสียกรุงอีกครั้ง
จุดหัวใจของรัฐคองบองหรือแม้แต่รัฐตองอูยุคต้น คือพม่านั้นมีต้นทุนทางภูมิศาสตร์เพาะปลูกในระดับสูง กระตุ้นให้กองทัพพม่าช่วยผลิตกำลังพลและเสบียงอาหาร จนออกมาทำศึกนอกบ้านได้หลายครั้งแบบเต็มอัตราศึก ปากแม่น้ำอิรวดีและบางส่วนของปากแม่น้ำสะโตงเต็มเปี่ยมไปด้วยหัวเมืองและพื้นที่การเกษตรซึ่งมากกว่าแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ความได้เปรียบนี้เป็นผลดีแก่กองทัพพม่า ขณะที่อยุธยามีความลงตัวทางภูมิศาสตร์ซึ่งถูกจำกัดไว้ที่ตัวพระนคร ทำให้ผู้นำอยุธยาประมาท แต่การพัฒนากสิกรรม นาข้าว และระบบชลประทาน ถูกจัดการในขนาดพื้นที่ซึ่งด้อยกว่าพม่า จึงเห็นว่าความบริบูรณ์ของอยุธยาแม้จะส่งเสริมการรุกรานรัฐข้างเคียงเป็นประเทศราชได้บ้าง แต่กับพม่าซึ่งมีพลังทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ อยุธยากลายเป็นฝ่ายเพลี้ยงพล้ำ
จะเห็นได้ว่า “ข้าว” นั้นเป็นสิ่งที่พลิกประวัติศาสตร์จริงๆ
โฆษณา