21 มิ.ย. 2019 เวลา 03:41 • การศึกษา
วิธีจัดกลุ่มผู้เรียนในมหาวิทยาลัย
ข้อดีและข้อสังเกตของวิธีต่างๆ ในการให้นิสิต นักศึกษาทำงานกลุ่ม
ประมาณ 10 ปีก่อนมีนิสิตคนหนึ่งมาหาผม และบอกว่า
“ อาจารย์คะ เพื่อนคนนี้ไม่ช่วยงานกลุ่มเลยค่ะ”
ถ้าผู้อ่านเป็นผม ผู้อ่านจะทำอย่างไรครับ
นี่คือปัญหาที่พบบ่อยเวลาจัดให้นิสิตหรือนักศึกษาทำงานกลุ่มในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีนิสิตบางคนที่ไม่ยอมช่วยงานเพื่อน ปล่อยให้เพื่อนที่เหลือทำงานอยู่ฝ่ายเดียว บางทีก็ทะเลาะกันบ้าง
เมื่อวันจันทร์ที่ 17 และอังคารที่ 17 มิถุนายน 2562 ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง Blended Learning ซึ่งมีวิทยากรจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และมีอาจารย์จากคณะต่างๆ มาฟังบรรยายอย่างคับคั่ง
กลุ่มของผมซึ่งเป็นอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แลกเปลี่ยนเรื่องการแบ่งกลุ่มนิสิตในวิชาต่างๆ ผมจึงขอเล่าว่า มีวิธีจัดกลุ่มนิสิตอย่างไรบ้าง โดยขอเริ่มจากประสบการณ์ของผมในการสอน 2 วิชาครับ
การแบ่งกลุ่มนิสิตในวิชาเลือก
วิชาการคิดเชิงนวัตกรรมหรือ Innovative Thinking ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า Innov Think เป็นวิชาการศึกษาทั่วไปหรือเจนเอด ( gen-ed หรือ general education) ที่ผมสอนมา 10 ปีแล้ว
เนื่องจาก Innov Think เป็นวิชาเลือกเจนเอดของจุฬาฯ จึงมีนิสิตจากคณะต่างๆ ทุกชั้นปีมาเรียน ผมได้ประสบการณ์ในการจัดกลุ่มนิสิตวิชานี้ แบ่งเป็น 3 วิธีดังนี้ครับ
วิธีแรก: อาจารย์ใจดี ให้จับกลุ่มเอง
สมัยที่เปิดวิชา Innov Think เป็นเจนเอดในปีแรกๆ ผมให้นิสิตจับกลุ่มเอง แต่ละกลุ่มมีนิสิต 3 – 5 คน โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เพราะผมยังเป็นมือใหม่สอนเจนเอด
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นิสิตจับกลุ่มกับเพื่อนในคณะเดียวกันแทบทุกกลุ่ม นิสิตที่มาเรียนคนเดียวจะเศร้ามาก เพราะต้องไปอยู่ในกลุ่มที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันเองอยู่แล้ว
ข้อดีของวิธีนี้คือ นิสิตชอบสิครับ ใครๆ ก็อยากทำงานกับเพื่อนที่รู้จักกันอยู่แล้ว คุยกันง่าย ไปด้วยกันได้
แต่วิธีนี้มีข้อเสียหลายอย่างในมุมมองของผม เพราะการที่นิสิตจับกลุ่มกับเพื่อนคณะเดียวกัน จะไม่มีมุมมองใหม่ เพราะทุกคนคิดเหมือนกัน
1
นิสิตกลุ่มวิศวก็คิดแบบวิศวทั้งหมด นิสิตกลุ่มนิเทศก็คิดสไตล์นิเทศทั้งหมด ซึ่งตรงข้ามกับหลักการของความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องการความหลากหลายของไอเดีย
เคยมีนิสิตเขียนความเห็นว่า เรียนวิชา Innov Think ไม่รู้จักเพื่อนใหม่ต่างคณะเลย นั่งเรียนกับเพื่อนคณะเดียวกัน ทำงานกลุ่มกับเพื่อนคณะเดียวกันทั้งเทอม
ผมใช้วิธีนี้ประมาณ 3 ปีแรกในการสอนวิชา Innov Think หลังจากที่ทราบปัญหาข้างบนแล้ว ผมก็เปลี่ยนมาใช้วิธีที่สองคือ กำหนดเงื่อนไขในการจับกลุ่ม
วิธีสอง : ตั้งข้อกำหนดในการจัดกลุ่ม
ผมตั้งข้อกำหนดว่า ถ้าเป็นกลุ่มละ 4 คน จะมีนิสิตคณะเดียวกันได้ไม่เกินครึ่ง เช่น มีนิสิตวิศว 2 คน นิสิตอักษร 2 คน แต่ห้ามมีนิสิตวิศว 3 คนในกลุ่ม 4 คน
วิธีนี้ทำให้นิสิตทำงานร่วมกับเพื่อนต่างคณะบ้าง ไม่ใช่มีแต่คณะเดียวกันทั้งหมด
ผมลองใช้วิธีนี้ประมาณ 3 ปี ก็ยังไม่ค่อยพอใจ เพราะบางปีมีบางคณะมาเรียนเยอะมาก เช่น คณะวิศว ทำให้บางกลุ่มมีนิสิตวิศวเกินครึ่งอยู่ดี และนิสิตก็ยังรู้จักเพื่อนใหม่น้อย ยังไม่ค่อยหลากหลายเท่าไร
ผมจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีที่ 3 ซึ่งเป็นวิธีล่าสุดและใช้มาหลายปีแล้ว
วิธีปัจจุบัน : บัตรนิสิตเสี่ยงทาย
ผมต้องการฝึกให้นิสิตทำงานร่วมกับเพื่อนต่างคณะ จึงบอกนิสิตตั้งแต่คาบแรกว่า ผมจะจัดกลุ่มนิสิตให้เอง ไม่ให้นิสิตจับกลุ่มกันเอง
เพื่อสร้างทัศนคตินี้ตั้งแต่ต้นเทอม ผมจึงให้นิสิตสลับที่นั่งทุกครั้ง ไม่ให้นั่งโต๊ะเดิม และไม่ให้นั่งติดกับเพื่อนสนิท
เมื่อถึงเวลาทำงานกลุ่ม ผมบอกให้นิสิตทุกคนนำบัตรประจำตัวนิสิตวางบนโต๊ะ จากนั้นหยิบบัตรนิสิต 4 ใบที่มีคณะไม่ซ้ำกัน เช่น วิศว ครุ อักษร วิทยา , เศรษฐ นิเทศ ศิลปกรรม วิทยา
วิธีนี้ทำให้ทุกคนทำงานกับเพื่อนที่ไม่เคยรู้จักอย่างแน่นอน ได้ฝึกการทำงานเป็นทีมอย่างแท้จริง และตรงกับหลักการของความคิดสร้างสรรค์ เรื่องการมีมุมมองที่หลากหลาย เพราะนิสิตจะได้เรียนรู้มุมมองอื่นๆ จากเพื่อนคณะอื่นด้วย
เนื่องจากนิสิตทุกคนมนกลุ่มมาจากคณะที่ต่างกัน ผมจึงบอกให้นิสิตทุกคนต้องประเมินหรือให้คะแนนเพื่อนในกลุ่มด้วย เพื่อป้องกันการอู้งาน
เพราะอาจมีนิสิตบางคนคิดว่า “เจอเทอมนี้แล้ว คงไม่ได้เจอกันอีก ปล่อยให้เพื่อนทำงานดีกว่า เพราะยังไง ทุกคนก็ได้คะแนนงานกลุ่มเท่ากัน”
แต่ละคนจึงได้คะแนนงานกลุ่มไม่เท่ากัน เพราะคะแนนมาจากผมและเพื่อนในกลุ่มด้วย ทำให้นิสิตเกือบทั้งหมดตั้งใจทำงานกลุ่ม ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องทิ้งงานกลุ่มครับ
วิธีจับบัตรนิสิตเสี่ยงทายเหมาะกับกลุ่มละ 3 – 4 คน และจำนวนนิสิตในแต่ละคณะมีพอๆ กัน ไม่ค่อยเหมาะกับกลุ่มที่มีนิสิตจำนวนมาก
นิสิตส่วนใหญ่ชอบวิธีนี้ เพราะรู้จักและสนิทกับเพื่อนใหม่จริงๆ
นี่คือความเห็นบางส่วนจากเทอมต่างๆ ของนิสิตที่ประเมินวิชานี้ในระบบ CU-CAS ครับ
- สงสัยตลอดว่าวันนี้อาจารย์จะจัดกลุ่มแบบไหนอีก โอเค ตอนแรกอาจรู้สึกไม่ค่อยสบายใจที่ต้องอยู่ห่างจากเพื่อนแต่อาจารย์ทำให้เรา จริงๆออกบังคับ แต่ทำให้เราเปิดใจมากๆและมันยังท้าทายเราให้อยากให้อาจารย์ชื่นชมด้วย
- ประทับใจวิชานี้และอ.ธงชัยมากค่ะ เป็นเจนเอดตัวแรกที่ได้เรียนคนเดียว ไม่มีเพื่อนมาเรียนด้วย ได้เพื่อนใหม่จำนวนมากเพราะได้จับกลุ่มใหม่ตลอด
- เป็นวิชาที่ชอบที่สุดตั้งแต่เรียนมาในจุฬาเลยจริงๆ งานไม่ได้เยอะโอเวอร์อย่างที่รีวิวกัน แถมเป็นงานสนุกๆทั้งนั้นเลย ได้เพื่อนใหม่เยอะมาก แถมได้เพื่อนสนิทใหม่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องต่างคณะเพิ่มมาอีก มีแต่คุ้มกับคุ้ม ใครลังเลว่าจะลงดีไหม ลงเลยยย จารย์ต้องเปิดให้อ่านแน่ๆ 555555555
- การทำงานกลุ่มในวิชานี้ ทำให้นิสิตได้เจอกับเพื่อนๆ ต่างคณะ และได้มุมมองความคิด และไอเดียใหม่ๆ ที่นิสิตไม่เคยคิดมาก่อนจากเพื่อนๆ เป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ของนิสิตได้ดีทีเดียวเลยค่ะ :)
- ถ้ามาเรียนคนเดียวจะยิ่งได้เพื่อนกลับไปเยอะเลย ถ้ามีเพื่อนมาด้วยกันอยู่แล้วลองเปิดใจให้กับเพื่อนคนอื่นดูด้วยนะคะ
- เป็นวิชาที่เรียนแล้วสนุกมากค่ะ ได้รู้จักแล้วก็ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆต่างคณะหลายคนเลยค่ะ
แต่ไม่ใช่ว่านิสิตทุกคนจะชอบวิธีนี้ บางคนที่มีโลกส่วนตัวสูง ติดเพื่อน จะไม่ค่อยชอบทำงานร่วมกับเพื่อนที่ไม่รู้จักมาก่อน
แต่นิสิตกลุ่มนี้มีน้อยมาก และผมบอกนิสิตตั้งแต่คาบแรกเรื่องการแบ่งกลุ่มด้วยวิธีนี้แล้ว ถือว่านิสิตรับทราบแล้ว
การจับคู่แบบบุพเพอาละวาดในวิชาบังคับ
เนื่องจากผมได้ประสบการณ์จากการจับกลุ่มในวิชาการคิดเชิงนวัตกรรมแล้ว ผมจึงนำหลักการเรื่องการสุ่มนิสิตมาใช้ในวิชาระบบปฏิบัติการ ซึ่งเป็นวิชาบังคับปี 3 ของนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
วิชาระบบปฎิบัติการจะสอนครั้งละ 3 ชั่วโมง อาจารย์จะบรรยายประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นอีก 2 ชั่วโมงก็จะให้นิสิตจับคู่แล้วเขียนโปรแกรมภาษาซีบนระบบปฎิบัติการลีนุกซ์
ผู้สอนวิชาระบบปฎิบัติการตกลงกันว่า ทุกกลุ่มมีสองคน โดยที่อาจารย์จะให้นิสิตทุกคนนำบัตรประจำตัวนิสิตมาวางบนโต๊ะ จากนั้นอาจารย์จะสุ่มหยิบบัตรนิสิตสองใบขึ้นมา
นิสิตจะส่งเสียงกรี๊ดเฮฮากันมากตอนจับบัตรนิสิต ทุกคนลุ้นแทบจะไม่หายใจเลยว่า จะได้จับคู่กับใคร
อย่างไรก็ตาม ผมบอกนิสิตว่า ไม่ต้องห่วงว่าจะอยู่ด้วยกันตลอดทั้งเทอม เพราะหลังจากที่สอบกลางภาคเสร็จแล้วผมก็จะสุ่มจับคู่ใหม่อีกครั้ง ดังนั้นนิสิตจะได้เปลี่ยนคู่หลังจากที่สอบกลางภาคเสร็จแล้ว
ข้อดีของวิธีนี้คือ นิสิตหลายคนไม่เคยทำงานกับเพื่อนคนอื่นที่ไม่สนิท การจับคู่แบบสุ่มจะทำให้นิสิตได้ทำงานกับเพื่อนซึ่งอาจยังไม่เคยทำด้วยมาก่อน จะได้รู้จักกันมากขึ้น
ข้อเสียของวิธีนี้คือ ถ้านิสิตที่เขียนโปรแกรมอ่อนจับคู่กับนิสิตที่อ่อนด้านการเขียนโปรแกรมด้วยกัน จะทำงานช้ากว่ากลุ่มอื่น อาจต้องอยู่เกินเวลาบ้าง เพราะต้องส่งภายในคาบเรียนเท่านั้น เพราะวิชานี้ไม่มีการบ้าน
นิสิตที่เขียนโปรแกรมเก่งจับคู่กับนิสิตที่เก่งเหมือนกันจะทำงานเสร็จได้เร็วกว่า หรือนิสิตที่เก่งจับคู่กับนิสิตที่อ่อน อย่างน้อยนิสิตที่อ่อนก็ยังได้เรียนรู้จากนิสิตที่เก่งกว่า
การสุ่มจับคู่จึงไม่ได้รับประกันว่าจะให้ผลดีเสมอไป แต่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้นิสิตได้ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่ยังไม่สนิท และอาจรู้จักนิสัยใจคอของเพื่อนมากขึ้น
เลือกหัวหน้ากลุ่ม แล้วหาลูกทีมเอง
อาจารย์ท่านอื่นเล่าวิธีการแบ่งกลุ่มนิสิตว่า เนื่องจากกลุ่มมีนิสิตจำนวนมาก เช่น เกือบ 10 คน จึงใช้วิธีหาหัวหน้ากลุ่มก่อน เช่น ให้นิสิตเสนอชื่อหัวหน้ากลุ่มหรือผู้นำกลุ่ม
จากนั้นหัวหน้ากลุ่มก็หาลูกทีมที่จะมาอยู่ในกลุ่มด้วย ในกรณีที่งานกลุ่มใช้เวลานาน ก็อาจสลับบทบาทของลูกทีม เพื่อให้ทำงานที่หลากหลายด้วย ไม่ใช่ทำงานเดิมๆ
อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์แลกเปลี่ยนความเห็น
การแบ่งกลุ่มผู้เรียนในมหาวิทยาลัยจึงมีมากมายหลายวิธี ขึ้นกับสถานการณ์ ผู้เรียน วิชา และปัจจัยอื่นๆ เช่น เป็นวิชาบังคับ วิชาเลือก
ถ้าผู้อ่านมีเทคนิคอื่นๆ ในการแบ่งกลุ่มผู้เรียนที่ไม่ได้กล่าวในบทความนี้ ก็มาแลกเปลี่ยนกันครับ
ขอบคุณศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ , ทีมวิทยากรจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์จากคณะต่างๆ ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการสอนด้วยกันครับ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา