21 มิ.ย. 2019 เวลา 04:12 • การศึกษา
ปลานิล ปลาพระราชทานจาก ในหลวง ร.9 มารู้จักความเป็นมากัน
หลายๆ คนคงจะรู้จัก ปลานิล แต่บางคนอาจจะไม่รู้ที่มาว่ามาจากไหน ซึ่งปลานิล เป็นปลาพระราชทานจาก ในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อความอยู่ดีกินดีของปวงชนชาวไทย มาทำความรู้จักปลานิลและวิธีการเลี้ยงปลานิลแบบต่าง ๆ พร้อมทั้งการนำไปทำประโยชน์ต่าง ๆ
คนไทยคงคุ้นเคย “ปลานิล” มานาน แต่รู้หรือไม่ว่าปลานิลนั้นไม่ใช่ปลาของไทย แต่มีถิ่นกำเนิดจากต่างแดน ก่อนจะถูกนำมาเพาะพันธุ์ในไทย เนื่องด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาเพาะเลี้ยงและทรงพระราชทานชื่อภาษาไทยว่า ปลานิล ส่วนปลาชนิดนี้จะมีที่มา ถิ่นกำเนิด วิธีการเลี้ยงและให้อาหารอย่างไร วันนี้ก็นำคำตอบมาฝากกันแล้วครับ
- ถิ่นกำเนิด
ปลานิล มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Nile tilapia มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus เป็นปลาน้ำจืดที่จัดอยู่ในวงศ์ปลาหมอสี ซึ่งชนิดปลาที่อยู่ในกลุ่มปลานิล (Tilapia) มีอยู่ 70 ชนิด มีแหล่งกำเนิดในแถบบริเวณตอนกลางค่อนไปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา อาทิ ประเทศซูดานและยูกันดา ไปจนถึงเอเชียตะวันออกกลาง อาทิ อิสราเอล จอร์แดน และซีเรีย พบได้ทั่วไปตามหนอง คลอง บึง และทะเลสาบ
- ลักษณะและนิสัย
ปลานิล มีลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ แต่แตกต่างกันตรงที่ปลานิลมีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว ลำตัวมีสีเขียวในน้ำตาล ตรงกลางมีเกล็ดสีเข้ม มีลายดำพาดขวางตามลำตัว 9-10 แถบ นอกจากนี้ยังมีลายสีดำและจุดสีขาวที่ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหาง ขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร ทั้งรูปร่างลักษณะภายนอกของปลานิลตัวผู้และตัวเมียนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่จะสามารถสังเกตเพศได้ชัดเจนในปลานิลที่มีขนาดตั้งแต่ 10 เซนติเมตร ขึ้นไป
นิสัยปลานิลจะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นพันธุ์ปลาที่มีความอดทน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในเขตร้อนได้ดี เลี้ยงง่าย โตไว และสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี โดยใช้เวลา 2-3 เดือนต่อครั้ง รวมผสมพันธุ์ได้ 5-6 ครั้งต่อปี ซึ่งในแต่ละครั้งปลานิลตัวเมียจะวางไข่ได้ประมาณ 10-12 ฟอง
1
- การเลี้ยงปลานิลในไทย
การเลี้ยงปลานิลในไทย เริ่มจากเมื่อครั้งที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย (Tilapia) จำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จากนั้นได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำปลานิลไปพักเลี้ยงไว้ในบ่อปลา ณ พระราชวังสวนจิตรลดา พร้อมกับพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” ตามชื่อต้นในภาษาอังกฤษและคำว่า “นิล” ยังมีความหมายถึงสีดำที่เป็นลายปรากฏอยู่บนลำตัวของปลา นอกจากนี้ยังเป็นคำสั้น ๆ ที่ประชาชนนั้นสามารถเรียกและจดจำได้ง่าย
กระทั่งในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลูกปลานิลให้แก่กรมประมง เพื่อนำไปเพาะเลี้ยง แล้วแจกจ่ายให้กับพสกนิกรเพื่อนำไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ อีกทั้งปลานิลยังเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง หาซื้อง่าย และมีราคาถูกอีกด้วย
1
- วิธีเลี้ยงปลานิล
การเลี้ยงปลานิลแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ การเพาะพันธุ์, การอนุบาลลูกปลา และการเลี้ยง ปลานิลที่จะใช้เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ควรเป็นปลาที่สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรค มีขนาดใกล้เคียงกัน ความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร น้ำหนักอยู่ที่ระหว่าง 150-200 กรัม สามารถเพาะเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชัง ดังนี้
1
- วิธีเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน
บ่อดินควรเป็นบ่อสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเนื้อที่ตั้งแต่ 50-1,600 ตารางเมตร เก็บน้ำได้สูง 1 เมตร มีชานบ่อกว้าง 1-2 เมตร และมีเชิงลาดเพื่อป้องกันดินพังทลาย สำหรับบ่อเก่าควรปรับสภาพดินและตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วันก่อนปล่อยน้ำเข้าบ่อผ่านผ้ากรองหรือตะแกรงตาถี่ ข้อดีของการเลี้ยงปลานิลในดินคือ มีประสิทธิภาพกว่าการเลี้ยงด้วยวิธีอื่นเพราะบ่อถูกสร้างให้ใกล้เคียงกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังได้ผลผลิตสูงในช่วงเพาะลูกปลานิล
- วิธีเลี้ยงปลานิลในบ่อปูนหรือบ่อซีเมนต์
รูปร่างของบ่อซีเมนต์เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือวงกลมก็ได้ แต่ควรเก็บน้ำได้ลึก 1 เมตร มีพื้นที่ผิวน้ำตั้งแต่ 10 ตารางเมตรขึ้นไป การเลี้ยงด้วยวิธีนี้จะได้ผลดีขึ้นหากมีการใช้เครื่องเป่าลมช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ และหากต้องการเพิ่มจำนวนลูกปลาก็ต้องขยายบ่อให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วย
- วิธีเลี้ยงปลานิลในกระชัง
ขนาดกระชังประมาณ 5x8x2 เมตร โดยวางกระชังในบ่อดิน หนอง บึง หรืออ่างเก็บน้ำ พื้นที่กระชังอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ 1 เมตร ผูกยึดมุมกระชังไว้กับไม้หลัก 4 มุม โดยยึดปากและพื้นกระชังให้แน่น ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ ข้อดีของการเลี้ยงปลานิลในกระชังคือ ให้ผลผลิตสูง ปลามีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ทำให้ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงน้อยลง ต้นทุนต่ำ แต่ให้ผลผลิตและค่าตอบแทนต่อพื้นที่สูง ข้อเสียคือมีปัญหาโรคพยาธิที่มากับน้ำซึ่งไม่สามารถควบคุมได้
- อาหารปลานิล
อาหารตามธรรมชาติของปลานิล ได้แก่ ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในบ่อ อาทิ กุ้งฝอย รวมไปถึงพืชผักต่าง ๆ เช่น สาหร่ายและแหน หากต้องการเร่งให้ปลาโตเร็วอาจบำรุงด้วย รำ ปลายข้าว กากถั่วเหลืองหรือถั่วลิสง กากมะพร้าว แหนเป็ด และปลาป่น เป็นต้น ส่วนการให้อาหารแต่ละครั้งควรให้ในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของปลาเท่านั้น
🐟ประโยชน์🐟
นอกจากนี้ปลานิลยังมีประโยชน์หลากหลาย เพราะเป็นปลาที่มีเนื้อมากและมีรสดี จึงนำไปทำอาหารได้หลายอย่าง ทั้งทอด แกง ต้ม นอกจากนี้ในเนื้อปลายังมีเอนไซม์ทรานกลูทามิเนส (TGASE) นำมาผลิตเป็นเจลใสใช้สำหรับสลบสัตว์น้ำ และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย
ปลานิล แม้จะไม่ได้มีต้นกำเนิดในประเทศไทย แต่ก็เป็นปลาที่คนไทยคุ้นเคยมานาน หากใครสนใจอยากจะนำพันธุ์ปลานิลไปเลี้ยง ก็ลองศึกษารายละเอียดวิธีการเลี้ยงดูนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา, กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ, สำนักชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ฝ่ายเผยแพร่กองส่งเสริมการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ, สำนักชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี และภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โฆษณา