23 มิ.ย. 2019 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
ฮ่องกง พัฒนาโดยอังกฤษ สู่การปกครองโดยจีน / โดย ลงทุนแมน
ฮ่องกง และ จีนแผ่นดินใหญ่ ผูกพัน เกื้อกูล กันมาอย่างยาวนาน
ฮ่องกงเป็นตัวแทนจีน ติดต่อกับต่างประเทศ
ส่วนจีนก็ได้รับประโยชน์จากฮ่องกง
ในขณะที่ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี
สิ่งที่ซ่อนอยู่คือ
ความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมือง ของทั้ง 2 ดินแดน
ยินดีต้อนรับเข้าสู่ ซีรีส์บทความ 4 เสือเศรษฐกิจ ตอนที่ 2 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง..
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ของฮ่องกงกันสักนิด
ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1841 ถึง 1997
เป็นเวลา 156 ปี
เนื่องจากการที่จีนแพ้สงครามฝิ่นในปี 1839
ทำให้ต้องยกเกาะฮ่องกง และคาบสมุทรเกาลูนให้แก่จักรวรรดิอังกฤษ
ภายหลังในปี 1898
อังกฤษได้กดดันให้จีนมอบดินแดนบริเวณรอบๆ เกาะฮ่องกงเพิ่มเติม
คือ ดินแดนนิวเทอร์ริทรีส์ (New Territories) ซึ่งมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าเดิมมาก
คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 90% ของเขตปกครอง ที่เรียกรวมกันว่า “ฮ่องกง” ทั้งหมด
โดยอังกฤษตกลงที่จะเช่าดินแดนทั้งหมดนี้ และส่งมอบคืนให้กับจีนในอีก 99 ปีให้หลัง
ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ฮ่องกงจึงมีระบบการศึกษา ระบบกฎหมาย และระบบราชการที่เหมือนกับอังกฤษ มีระบบเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยมเสรี
เป็นเมืองท่าที่คึกคัก และเป็นทางผ่านทั้งสินค้าและเงินทุนไปสู่จีนแผ่นดินใหญ่
จุดเปลี่ยนสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเหตุการณ์แรก..
เมื่อจีนแผ่นดินใหญ่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง มาเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจในปี 1949
ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนไม่น้อยอพยพมาตั้งรกรากยังดินแดนฮ่องกง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ และปัญญาชนจากเซี่ยงไฮ้ ต่างอพยพมาตั้งกิจการ และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในฮ่องกง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ
การเป็นเมืองท่าปลอดภาษี
ภาคเอกชนปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐบาล
รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้ในอัตราต่ำเพียง 15%
และการปราบปรามคอร์รัปชันอย่างหนักนับตั้งแต่ปี 1974
1
เหล่านี้ทำให้ฮ่องกงมีระบบบริหารที่มีเสถียรภาพ สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งท่าเรือ สนามบิน และระบบขนส่ง
การลงทุนในด้านอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานของฮ่องกงจึงเจริญเติบโต
กระจายจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไปสู่อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก และเครื่องจักรกล
ผลักดันให้เศรษฐกิจของฮ่องกงเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 1950-1970 และส่งออกสินค้าต่างๆ ไปทั่วทุกมุมโลก
Cr. Mardep.gov.hk
จุดเปลี่ยนสำคัญเหตุการณ์ที่ 2..
เมื่อประเทศจีนเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจสมัยผู้นำ เติ้ง เสี่ยวผิง
ส่งผลให้ประเทศจีนมีการเปิดประเทศมากขึ้น ต้อนรับการลงทุนจากชาวต่างชาติ
การที่ประเทศจีนมีค่าแรงราคาถูก และมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นซึ่งอยู่ใกล้เคียง ในช่วงปี 1980 ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมของฮ่องกงต่างย้ายฐานการผลิตไปตั้งที่จีน
สัดส่วน GDP ของฮ่องกงจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง..
ภาคอุตสาหกรรมของฮ่องกงมีสัดส่วนลดลง
จาก 31% ในปี 1980 เหลือเพียง 14% ในปี 1997
และภาคบริการมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
จาก 68% ในปี 1980 มาสู่ 86% ในปี 1997
สัดส่วนภาคบริการที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดจากการที่ฮ่องกงพยายามพัฒนาทักษะด้านการบริการขั้นสูง ทั้งในด้านบริการทางการเงิน การขนส่ง การประกันภัย การค้าระหว่างประเทศ และการเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการค้าขายแลกเปลี่ยน แทนที่ภาคอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตไป
Cr. The Wall Street Journal
จุดเปลี่ยนสำคัญเหตุการณ์ที่ 3..
แล้ววันที่ต้องกลับสู่อ้อมอกแผ่นดินจีนก็มาถึง
ในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1997 อังกฤษต้องส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีน
ฮ่องกงกลายเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน ซึ่งใช้นโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบอบปกครองตามกฎหมายพื้นฐานและบริหาร
กฎหมายนี้ให้สิทธิฮ่องกงปกครองตนเองอย่างอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางการเมืองเศรษฐกิจ การพาณิชย์ การเงิน และกฎหมาย ได้ตามระบอบทุนนิยมเสรี แต่ก็มีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งอำนาจคืนให้จีนปกครองภายในปี 2047
แม้ประชาคมโลก รวมถึงชาวฮ่องกงบางส่วนจะกลัวการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
1
แต่การพัฒนาทักษะด้านบริการขั้นสูงที่ฮ่องกงเตรียมตัวมา ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจของฮ่องกงยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ยิ่งภาคธุรกิจของจีนต้องการออกสู่ตลาดโลกมากเท่าไหร่
ก็ยิ่งทำให้ภาคการเงินฮ่องกงเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น
เม็ดเงินลงทุนทั้งจากตลาดโลก และจีนแผ่นดินใหญ่ต่างหลั่งไหลมายังฮ่องกง
ในปี 2018 ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงกลายเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก
Cr. South China Morning Post
ดินแดนที่มีประชากร 7 ล้านคนแห่งนี้ จึงกลายเป็นศูนย์กลางการเงินสำคัญของโลก ครองตำแหน่งอันดับหนึ่งของเอเชีย
ในปี 2017 ชาวฮ่องกงมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 1,464,318 บาทต่อปี
แซงหน้าอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างสหราชอาณาจักรไปแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิของการปกครองตนเองอย่างอิสระของฮ่องกงก็จะสิ้นสุดภายในปี 2047
หากนับจากตอนนี้ก็จะเหลือเวลาอีกเพียง 28 ปี
หลังจากนั้นฮ่องกงจะต้องได้รับการปกครองแบบเดียวกับเมืองอื่นของจีน
ซึ่งหมายความว่า อิสระในการดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเงิน และกฎหมายของฮ่องกงอาจจะสิ้นสุดลง
รวมไปถึง “เสรีภาพ” ของชาวฮ่องกงด้วย..
เรื่องนี้อาจจะตรงกับสุภาษิตจีนโบราณว่า
สำหรับมนุษย์แล้ว
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอาจไม่ใช่การ “ไม่มี”
แต่เป็นการ “หายไป” ของสิ่งที่เคยมีอยู่
1
“เสรีภาพ” สำหรับชาวฮ่องกง ก็เช่นเดียวกัน..
ติดตามซีรีส์บทความ 4 เสือเศรษฐกิจ ตอนที่ 3 เกาะไต้หวัน ในสัปดาห์หน้า..
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
References
-ไมค์ เอ็ดเวิร์ดส์, ยุคเฟื่องบนชายฝั่งทองคำของจีน, นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (ภาษาอังกฤษ) ฉบับเดือนมีนาคม ปี 1997
-Jean-François Minardi, Hong Kong: The Ongoing Economic Miracle

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา