23 มิ.ย. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
“คนพวง” “คุก” และ “ตะราง”
ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่านักโทษในสมัยก่อนกับสมัยนี้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
วันนี้ผมได้อ่านบทความในศิลปวัฒนธรรมและได้คำตอบมาครับ
จากข้อมูลของศิลปวัฒนธรรมนั้น นักโทษในสมัยก่อนจะใส่พวงคอร้อยด้วยโซ่ติดกันเป็นพวงๆ ชาวบ้านจึงเรียกเหล่านักโทษตามลักษณะที่เห็นว่า “คนพวง”
จากหนังสือ “ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา” ได้กล่าวถึงนักโทษและคุกในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า
“…อนึ่งมีคุกสำหรับใส่คนโทษโจรผู้ร้ายปล้นสะดมแปดคุกมีตะรางหน้าคุกสำหรับใส่ลูกเมียผู้ร้ายทุกหน้าคุก ซึ่งโทษเบาเป็นแต่โทษเบดเสฐ ใส่โซ่พวงละเก้าคนสิบคนใช้ทำราชการเมืองที่ีโทษหนักต่อวันพระห้าค่ำแปดค่ำสิบเอ็ดค่ำสิบห้าค่ำ จึงใส่พวงคอละญี่สิบสามสิบคน และเมียผู้ร้ายนั้นใส่กรวนเชือกผูกเอวต่อกันไปผูกติดท้ายพวงคอออกมาเที่ยวขอทานกิน…”
จากข้อความข้างต้นทำให้เห็นภาพความต่างระหว่างคุกกับตะราง คือคุกใช้ขังนักโทษ ส่วนตะรางใช้ขังเมียนักโทษ
แต่จากหนังสือ “เรื่องกฎหมายเมืองไทย” ของหมอบลัดเลใน “พระราชกำหนดเก่า” จุลศักราช 1094 (พ.ศ.2275) ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าจับ “อ้ายผู้ร้าย” ไม่ได้ก็ให้จับลูกเมีย พ่อแม่ พี่น้อง พ่อตา แม่ยาย พวกพ้องเพื่อนฝูงมาจำแทน โดยถ้าเป็นชายก็ให้ใส่คาไว้ถ้าเป็นหญิงก็ให้ใส่ขื่อไว้
นอกจากนั้นยังมีการบัญญัติว่า ถ้าปล้นสะดมครั้งแรกให้ตัดหูข้างหนึ่ง ถ้าครั้งที่สองก็ตัดอีกข้าง ถ้าโทษที่เบาลงมาก็ให้สักหน้าสักอกและให้ติดพวงไว้
เหล่านักโทษหรือ “คนพวง” ที่ทางคุกจ่ายให้ออกมาทำงานนอกคุก หลายคนจึงเป็นคนพิการ หูขาด มือขาด หรือบางคนก็หลังลายเนื่องจากถูกตี
คนพวงมีมาจนสมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างคุกใหม่ โดยรื้อคุกเก่าที่สวนเจ้าเชตุ คนพวงจึงหมดไป
โฆษณา