28 มิ.ย. 2019 เวลา 00:20 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วิจัยเผย “ภาวะมือขึ้น” เกิดขึ้นจริงกับศิลปิน ผู้กำกับหนัง และนักวิทยาศาสตร์
ภาวะมือขึ้น (hot-streak) คือ ช่วงเวลาที่เราทำอะไรก็ดี ก็เหนือ ก็ประสบผลสำเร็จไปหมด ซึ่งมักจะนำมาใช้อธิบายการเล่นพนัน ที่จับอะไรก็ชนะทุกตาต่อกันๆ หรือ ความสำเร็จของนักกีฬาที่แสดง top form ต่อๆกันหลายๆนัด
แต่ภาวะมือขึ้น นี่เกิดขึ้นในวิชาชีพบ้างหรือไม่
ทีมวิจัยด้านสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Northwestern ทำการเก็บข้อมูลผลงานของ ศิลปิน 3,480 คน ผู้กำกับ 6,233 คน และนักวิทยาศาสตร์อีก 20,040 คน โดยเก็บค่า impact ของผลงานของคนเหล่านี้ ไล่ไปตามลำดับ ได้แก่ ราคารูปที่ประมูลได้ เรตติ้งของหนังจาก IMDb และข้อมูลการอ้างอิงของผลงานภายในช่วงเวลา 10 ปีจากการตีพิมพ์
หลังจากนำดาต้ามาพล็อตและฟิตกับโมเดล ทีมนักวิจัยพบว่า ภาวะมือขึ้น หรือ ช่วงเวลาที่คนกลุ่มนี้ผลิตผลงาน high impact ที่สูงว่าค่าเฉลี่ยออกมาติดต่อกันนี่เกิดขึ้นจริง โดยประมาณ 90% ของ creator เหล่านี้จะได้ประสบภาวะมือขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงชีวิต (แต่มีแค่ประมาณ 25% เท่านั้นที่จะมีครั้งที่ 2 หรือ 3) โดยที่ค่าเฉลี่ยของช่วงเวลามือขึ้นคือ 5.7 ปี ในศิลปิน 5.2 ปี ในผู้กำกับ และ แค่ 3.7 ปี ในหมู่นักวิทยาศาสตร์
ที่น่าสนใจคือ ช่วงเวลาที่จะเกิดภาวะมือขึ้นนี้ เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ในช่วงชีวิต แถมภาวะมือขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาช่วงที่เหล่านัก creator ผลิตผลงานมากกว่าปกติ แค่ผลงานที่ผลิตออกมาได้รับการตอบรับดีกว่าปกติ ทีมนักวิจัยเลยเสนอว่า น่าจะเป็นช่วงที่งานมีความสร้างสรรค์ผิดแปลกกว่าปกติ
ภาวะมือขึ้นในหมู่นัก creator นี้ก็อธิบายได้ไม่ยาก เพราะความสำเร็จครั้งใหญ่ครั้งนึง มักจะนำมาซึ่ง ชื่อเสียง เงินทอง และกำลังใจในการทำงานต่อ ส่งผลให้เราสามารถผลิตงานดีๆออกมาต่อได้ แต่ที่น่าสนใจคือ อะไรทำให้เกิดภาวะมือขึ้น ถึงแม้ว่าทีมนักวิจัยยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ แต่ถ้าหากเราศึกษาชีวิตของปรมาจารย์ในอดีตก็อาจจะพบคำตอบ
แวนโก๊ะห์ ใช้ชีวิตอย่างศิลปินโนเนมไส้แห้งมา 7 ปี ผลงานยุคแรกของเขาไม่เคยจะขายได้ จนกระทั่งปี 1888 แวนโก๊ะห์ ย้ายจากปารีสไปอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งแวดล้อมไปด้วยภูมิทัศน์สวยงาม และในช่วงนั้นเอง เขาก็สามารถผลิตผลงานเลอค่า สีสันเฉิดฉายอย่าง Sun flower, Starry nights และอีก 200 กว่าผลงานออกมาได้ให้โลกได้ยล (แต่ไม่ทันถึงสองปี เขาก็ยิงตัวตาย)
แม้แต่ไอน์สไตน์เองก็ประสบภาวะมือขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อปี 1905 เมื่อเขาเข็นเอางานในตำนานอย่าง special relativity, photoelectric effect, และ brownian motion ออกมาสู่สายตาประชาโลก เปลี่ยนวงการฟิสิกส์ไปตลอดการ ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ #ยุครุ่งเรือง ของไอน์สไตน์นี้ประจวบเหมาะพอดีกับช่วงเวลาที่เขาแต่งงานกับ Mileva Marić นักฟิสิกส์ชาวเซอร์เบียน ถึงแม้ว่าไอน์สไตน์จะไม่เคยให้เครดิตอะไรกับเมียคนนี้เลย (แถมยังนอกใจเมียตัวเองไปได้กับญาติสนิท จนคุณเมียล้มป่วยด้วยความแค้นและไม่ยอมหย่าทางกฎหมาย สุดท้ายไอน์สไตน์ต้องสัญญาว่าจะให้เงินจากรางวัลโนเบล นางถึงจะยอมหย่า) แต่ว่าทั้งสองจะคุยเรื่องฟิสิกส์กันตลอดเวลา Mileva Marić เองก็เป็นนักฟิสิกส์ที่ปราดเปรื่อง การได้ถกความคิดทางวิทยาศาสตร์กับคนใกล้ตัวตลอดเวลา น่าจะมีส่วนกระตุ้นสมองของไอน์สไตน์ไม่มากก็น้อย หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไอน์สไตน์เองก็ผลิตผลงานออกมาเรื่อยๆ แต่ไม่มีช่วงไหนในชีวิตที่จะรุ่งโรจน์เหมือน 1905 อีกแล้ว
การพาตัวเองไปอยู่ในที่ใหม่ๆที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ หรือการได้ปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีความคิดหลากหลายและปราดเปรื่อง อาจจะเป็นต้นตอของการเกิดภาวะมือขึ้นก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อใดที่เรารู้สึกตีบตัน ลองเปลี่ยนอะไรเล็กๆน้อยๆรอบตัว หรือพาตัวเองไปอยู่ในที่ใหม่ๆ ไม่แน่ มันอาจจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง
แต่แน่นอนทุกความสำเร็จย่อมมีวันเลิกรา อย่างที่นักวิจัยพบว่า ภาวะมือขึ้นนั้นย่อมมีวันสิ้นสุด ดังนั้นการยึดติดกับความสำเร็จในอดีตคงไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไร สู้เอาพลังมาขบคิดดีกว่า ว่าทำอย่างไรเราถึงจะมือขึ้นได้อีกเป็นครั้งที่สองที่สาม
เอ แต่คิดแล้วก็สงสัย แอดผ่านภาวะมือขึ้นที่อาจจะมีครั้งเดียวในชีวิตไปแล้วยังเนี่ย…
ได้เวลาลาพักร้อนละยัง
#นักวิจัยไส้แห้ง
อ้างอิง
งานวิจัยจาก Nature
Wang D. et. al, Hot streaks in artistic, cultural, and scientific careers, Nature, 2018
Einstein: His Life and Universe by Walter Isaacson
โฆษณา