30 มิ.ย. 2019 เวลา 00:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ควรพอหรือสู้ต่อไป
คุณอยู่ตรงไหนบน S curve
“ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น” มันจริงซะที่ไหน
บางช่วงในชีวิต อาจจะมือขึ้นแตะอะไรนิดๆหน่อยๆก็ปัง แต่หลายๆครั้งพยายามแทบตายได้ผลน้อยเท่าหอยขม หรือที่พังที่สุดคือทำเหมือนเดิมอยู่ดีๆ กลับได้ผลถดถอยลงซะอย่างนั้น
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความพยายามกับความสำเร็จไม่ได้แปรผันตามกันเป็นเส้นตรง ในชีวิตจริงกราฟของความสำเร็จเทียบกับเวลาของการพัฒนานั้นเป็นรูปตัว S ในช่วงแรกของเส้นทางการพัฒนา ผลที่ได้มักจะมาอย่างเชื่องช้า แต่เมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้ถึงจุดหนึ่ง การเติบโตแบบก้าวกระโดดจะเกิดขึ้น แต่สุดท้ายปลายทาง การเติบโตนั้นมักจะถึงจุดอิ่มตัว ไม่ว่าจะลงแรงเท่าไรก็อาจจะไม่ได้ผลเพิ่มขึ้นอย่างที่คิด หรือบางทีกลิ้งตกตัว S ไปอีกฝั่งหนึ่งด้วยซ้ำไป
S curve หรือ Sigmoid curve นี้สามารถนำมาอธิบายระบบต่างๆในธรรมชาติได้ เช่น อัตราการเติบโตของประชากรในหนึ่งพื้นที่จะเพิ่มขึ้นในระยะแรกแต่ชะลอตัวลงเมื่อทรัพยากรที่มีถูกใช้จนหมดไป การกระจายตัวของระดับพลังงานของอิเล็กตรอนตามหลัก Fermi-Dirac distribution การแพร่ขยายของคำสแลงจากกลุ่มเล็กไปจนถึงสาธารณชน หรือแม้แต่การตอบสนองต่อปัจจัยในการเพาะปลูกของพืช เช่น ระดับน้ำ หรือ ปริมาณเกลือในดิน ระบบเหล่านี้ ล้วนมีลักษณะเป็น S curve ทั้งสิ้น
แต่ที่น่าสนใจมากที่สุดคือ S curve แห่งนวัตกรรม เทคโนโลยีชนิดหนึ่งจะออกจากวงการแคบๆไปสู่สาธารณชนได้ล้วนต้องผ่านการพัฒนาแบบ S curve กล่าวคือ เทคโนโลยีใหม่ๆในระยะแรกมักจะถูกใช้อยู่เฉพาะกลุ่มย่อยจึงเติบโตอย่างเชื่องช้า จนกระทั่งพัฒนาจนข้ามผ่านปัญหาเบื้องต้นมาได้จึงเกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่เมื่อเทคโนโลยีติดตลาดการเติบโตก็จะชะลอลง หากไม่มีการต่อยอดก็จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีใหม่ในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากๆ คือ คลื่นนวัตกรรมใน Silicon Valley ซึ่งเริ่มจากเทคโนโลยีทางการทหารในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามมาด้วยการคิดค้น integrated circuit ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ personal computer ซัดโหมผลักดันให้เกิด internet ต่อด้วยคลื่นของ smart phone ซึ่งนำไปสู่การเก็บข้อมูลของประชากรทุกหมู่เหล่าในระดับโลก ข้อมูลมากมายเหล่านี้นำไปสู่คลื่นเทคโนโลยี machine learning และ artificial intelligence ตามมาอย่างไม่ขาดสาย
https://www.corecompass.com/articles/traitorous-8-and-birth-silicon-valley
เนื่องจากความก้าวหน้าของคลื่นเทคโนโลยียุคก่อนหน้าผลักดันให้เกิดคลื่นลูกใหม่ เมื่อซูมออกมามองภาพใหญ่ จึงดูคล้ายว่านวัตกรรมใน Silicon Valley เติบโตตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือจุดที่ทำให้ Silicon Valley เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าชาวบ้าน เพราะการร้อยเรียงกันของหลาย S curve ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แตกต่างจากหลายประเทศที่เมื่อถึงจุดอิ่มตัวแล้วไม่มีการพัฒนา S curve อื่นมารองรับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศเวเนซุเอลาที่มีรายได้ 95% มาจากการส่งออกน้ำมัน แต่เมื่อตลาดน้ำมันไม่เติบโต เศรษฐกิจของประเทศจึงพังพินาศ หรืออย่างดินแดนอุดมสมบูรณ์บางแห่งที่ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่ผ่านไปหลายร้อยปีก็ยังเพาะปลูกและรับจ้างแบบเดิมๆ จนติดอยู่บนยอด S curve เก่า ไปต่อไม่ได้
ทำอย่างไรเราถึงจะไม่ติดดอย S curve
คำถามที่ยากที่สุดคือต้องตอบให้ได้ว่า “เราอยู่ตรงไหนของคลื่นการพัฒนา?” หากเราเป็นผู้บุกเบิกในสาขาที่มีโอกาสเติบโต เราก็ควรจะสู้ต่อ อดใจรอเพื่อคืนทุนในวันหน้า หากเราอยู่ตรงกลางของ S curve นี่คือเวลาเก็บเกี่ยวผลิตผล แต่ก็อย่าได้พักผ่อนนิ่งนอนใจเพราะเราไม่รู้ว่าคลื่นการพัฒนาแต่ละรอบจะยาวนานขนาดไหน สุดท้ายหากเรารู้ตัวว่าอยู่บนยอด มันได้เวลาแล้วหละที่ต้องไปหา S curve ใหม่
ในฐานะนักวิจัย ทักษะที่สำคัญที่สุดสองทักษะ คือ “การขึ้นโครงการ” และ “การปิดโครงการ” นักวิจัยขั้นเซียน ย่อมต้องมีความสามารถในการเลือกโจทย์ที่เหมาะแก่การพัฒนา ซึ่งมักจะเป็นโจทย์ที่อยู่ต้นหรือกลาง S curve ถึงจะคุ้มค่าแก่การลงแรง และอีกสกิลที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือการปิดโครงการ เราต้องรู้ให้ได้ว่าควรพอเมื่อไร แอดเองสมัยเรียน ป.เอก มีปัญหาหนักมากเรื่องความไม่รู้จักพอ โปรเจ็คแรกในชีวิตใช้เวลาครึ่งปีในการทำจาก 0% เป็น 90% และอีกปีกว่า เพื่อที่จะเลื่อนจาก 90% เป็น 95% กว่าจะปิดโครงการก็ตกขบวนเทรนด์ทางวิชาการไปเสียแล้ว
การทำวิจัยไม่ต่างอะไรจากการลงทุนกับชีวิต เมื่อใดที่เราหยุดเสาะหาทางเลือกใหม่ๆที่มีโอกาสต่อยอดในอนาคต เมื่อนั้นเราก็จะติดอยู่บน S curve เก่า เป็นเต่าล้านปีไม่สามารถไปไหนได้ แต่หากเราคอยเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และ diversify พอร์ตชีวิต เมื่อ S curve ที่เราอยู่มันโค้งกลับ เราจะได้พร้อมที่จะกระโดดไป curve ใหม่ได้อย่างไม่ลำบาก
มาไต่ curve ไปด้วยกันเถอะค่ะ
#นักวิจัยไส้แห้ง
....
อ้างอิง
Sigmoid function หรือ Logistic function https://en.wikipedia.org/wiki/Logistic_function
โฆษณา