6 ก.ค. 2019 เวลา 00:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นักวิจัย...อาชีพนี้ยังเป็นปริศนา
มีคนมาถามว่า เห้ย อ่านมาตั้งนานละ ยังตาใส ไม่รู้เลยจริงๆว่านักวิจัยจริงๆแล้วทำอะไร
นั่นนะสิ นักวิจัยทำอะไรกันแน่
ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่าวิจัยก่อน “วิจัย” ตามหลักราชบัณฑิตยสภาบัญญัติไว้ว่า คือ กระบวนการหาความรู้อย่างมีระเบียบและหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ซึ่งมีการกำหนดแนวคิดหรือทฤษฎี การใช้ข้อมูล การแปลความหมายและอธิบายข้อมูลเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ รวมทั้งการสร้างความรู้ใหม่ขึ้นจากความรู้เดิมร่วมกับข้อมูลใหม่
จะเห็นได้ว่าประโยคสุดท้ายประโยคเดียว มีคำว่าใหม่ตั้งสามรอบ แต่ไม่มีประโยคไหนจะบอกว่าการวิจัยจะต้องมีประโยชน์อย่างจับต้องได้ จุดสูงสุดของการทำวิจัยคือการขยายขอบเขตความรู้ของมนุษยชาติ เรียกได้ว่าเมื่อวิจัยสำเร็จ เราจะได้ไปถึงองค์ความรู้ที่ไม่เคยมีใครไปมาก่อน มันคือความฟินขั้นหนึ่งในชีวิต
2
แต่แน่นอน ไม่ใช่ทุกคนจะมีอภิสิทธิ์ในการทำวิจัยตามอำเภอใจ เพราะในความเป็นจริงแล้วทรัพยากรมีจำกัด การตั้งโจทย์วิจัยจึงถูกหล่อหลอมด้วยความมีอยู่ของแหล่งทุน ในประเทศไทย ทุนวิจัยเป็นส่วนผสมระหว่างการผลักดันจากรัฐครึ่งนึง และจากเอกชนอีกครึ่งนึง [1] สัดส่วนทุนวิจัยทั้งหมดที่มีในปี 2015 คิดเป็น 0.63% ของ GDP ของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 0.23% ในปี 2010 แต่ยังคงไล่หลังค่าเฉลี่ยของโลกที่ 2.23% อย่างไม่เห็นฝุ่น (ข้อมูลเพื่อเทียบ จีน 2.07% USA 2.79% ญี่ปุ่น 3.28% และเกาหลี 4.23% (Omo!!) อัตราส่วนการลงทุนของรัฐต่อเอกชน 30:70) [2] งานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจึงมักจะเป็นผลลัพธ์โดยตรงจากวิสัยทัศน์ของผู้นำ และทิศทางอุตสาหกรรมของประเทศ
1
การทำงานของนักวิจัย จะสามารถแบ่งออกเป็นสองเส้นทางคร่าวๆด้วยกัน หนึ่งคือนำโจทย์ที่ตั้งขึ้นมาเองไปเสนอเพื่อขอทุน หรือสองรับโจทย์มาจากภายนอก ไม่ใช่ทุกปัญหาจะมีค่าคู่ควรกับการตอบเหมือนกัน สมมุติ มีคำถามสองคำถามที่ยากเหมือนกัน อาทิเช่น ประชาธิปไตยในเมืองไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในอนาคต กับ ตายแล้วไปไหน ทั้งสองคำถามล้วนเป็นปัญหาที่ยาก ปัญหานึงเป็นปัญหาที่เปล่าประโยชน์ แต่อีกปัญหานึงเป็นปัญหากฎแห่งกรรม ในฐานะนักวิจัยหัวหน้าโครงการ หน้าที่เราคือการตั้งโจทย์หรือการเลือกสรรปัญหาที่แก้ได้ และก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
2
เมื่อได้โจทย์หรือรับโจทย์มาแล้ว เราก็เริ่มตั้งสมมุติฐานโดยการใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วทางวิทยาศาสตร์ ว่าง่ายๆก็คือการเดาอย่างมีการศึกษา ตามด้วยการทดลองเพื่อตอบสมมุติฐานนั้นๆ ได้ผลมาก็ต้องตีความ ต่อยอด และสรุปผลไปตามลำดับ จวบจนสุดท้าย คลอดผลงานออกมาเป็น การตีพิมพ์ สิทธิบัตร ต้นแบบ หรือเป็นนวัตกรรมที่นำไปใช้ได้
แล้วนักวิจัยมีรายได้จากอะไร
หนึ่งคือเงินจากตำแหน่งทางวิชาการ นักวิจัยก็คือลูกจ้างที่รับเงินเดือน และเลื่อนขั้นไต่เต้าไปตามทำนองคลองธรรม การเลื่อนขั้นของนักวิจัยนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถหลายๆด้าน (อย่างเช่นตำแหน่ง tenure-track professor ที่อเมริกา จะถูกประเมินภายใน 6 ปี ด้วย ผลงานทางวิชาการ รายได้ที่หาเข้าคณะ ตัวอย่างการสอน กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ทางการศึกษา ผลประเมินจากนักศึกษาในสังกัด และจิตพิสัยจากเพื่อนร่วมงาน หากผ่านการประเมิน อาจารย์ก็จะได้ขึ้นเป็น full professor และสามารถอยู่ได้ตลอดไปในคณะโดยไม่มีการไล่ออก แต่หากไม่ผ่าน ก็จะไม่สามารถทำงานต่อไปได้อีก เรียกได้ว่า all or nothing)
รายได้ทางที่สองของนักวิจัย คือ ผลตอบแทนจากการทำงานทางวิชาการอื่นๆ เช่น การสอน การเป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมการนู่นนี่ ซึ่งก็ต้องเกิดจากการสะสมบารมีกันไป ส่วนรายได้ทางที่สาม นี่น่าสนใจที่สุด นักวิจัยมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากสิ่งประดิษฐ์หรือองค์ความรู้ที่ค้นพบ เช่น หากสิทธิบัตรของคุณมีความล้ำ นำไปขายได้ ก็จะนำมาสู่รายได้หลักอีกทาง หรือหากผลงานเป็นนวัตกรรมขั้นเทพ เกิดการ spin-off ไปเป็น startup ก็อาจจะทำให้นักวิจัย กลายร่างเป็นผู้ประกอบการก็ยังได้
ฟังดูอาจจะยาก แต่ก็ไม่ไกลเกินฝัน ตัวอย่างบริษัทที่เกิดมาจากงานวิจัยในห้องแลบ [3] เช่น
Genentech บริษัทไบโอเทคยักษ์ใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 1976 โดย core technolohy นี้เริ่มต้นขึ้นมาจากก้นแลบของ Prof. Stanley Cohen จาก Stanford University และ Prof. Herbert Boyer จาก UCSF ทั้งสองช่วยกันคิดค้นวิธีหลอกแบคทีเรียให้ผลิตฮอร์โมนมนุษย์ได้ นำไปสู่การสร้างอินสุลินเทียมได้ในที่สุด [4]
2
QinetiQ เป็นบริษัทมหาชนที่ขายเทคโนโลยีทางการทหารแบบครบวงจร แตกตัวออกมาจากศูนย์วิจัยทางการทหารของอังกฤษ (Defence Evaluation and Research Agency) ตั้งแต่ 2001 ขายนวัตกรรมทางการทหาร ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ค้นหาและปลดชนวนจรวด เครื่องบินไร้คนขับที่ใช้โซลาร์เซลเป็นแหล่งพลังงาน เครื่องสแกนตรวจจับอาวุธ ซึ่งลูกค้าหลักก็คือกองทัพอเมริกันนั่นเอง [5]
Dyesol เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนา Dye solar cell (DSC) ให้ออกสู่ท้องตลาดให้ได้ DSC เป็นผลงานตีพิมพ์ใน Nature เมื่อปี 1991 โดย Prof. Michael Graetzel จาก Switzerland's École Polytechnique Fédérale de Lausanne (EPFL) ซึ่งเรียกได้ว่าสะเทือนวงการวิจัยด้านเซลแสงอาทิตย์ในสมัยนั้นมาก เพราะ DSC มีราคาที่ต่ำกว่าเซลแสงอาทิตย์ทั่วไป ใช้พลังงานในการผลิตที่น้อยกว่า และสามารถนำมาใช้แทนกระจกบนตึกหรืออาคารได้เลย [6]
1
Plastic Logic คือบริษัทผลิต electrophoretic displays ที่ทำจากพลาสติก จึงโค้งงอได้และไม่แตกง่าย สามารถนำไปทำเป็นกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ ทำจอ e-reader หรือ e-textbook ที่ได้ทดลองใช้แล้วในโรงเรียนที่รัสเซีย บริษัทนี้ spin-off เมื่อ 2000 มาจากแลบที่ Cambridge โดยผู้เชี่ยวชาญด้าน organic thin-film transistor [7]
เหล่านี้คือบริษัทที่ตั้งมานานจนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มั่นคงแล้ว แต่ยังมี บริษัทเล็กน้อยอีกเป็นร้อยๆพันๆเกิดขึ้นจากไอเดียบรรเจิดของนักวิจัย ยิ่งตอนนี้ใครๆก็ตื่นตัวเรื่องการทำ startup นำเอา Silicon Valley มาเป็นโมเดลตัวอย่าง ซึ่งนำไปสู่รูปแบบการลงทุนใหม่ๆ แน่นอนว่าการทำ startup ด้านเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับประเทศที่ยังมีเงินทุนและบุคคลากรด้านวิจัยน้อย (ในปี 2015 เรามีอัตราส่วนนักวิจัย 874 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เทียบกับพี่เกา เค้ามีนักวิจัย 7087 คนต่อประชากร 1 ล้านคน บร๊ะเจ้า เยอะไปไหน) แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าดูจากเทรนด์การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะนโยบาย Thailand 4.0 และอุตสาหกรรม new S-curve งานวิจัยในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ถ้าไม่หักมุมจบซะก่อน ในอีก 10 ปีข้างหน้า นักวิจัยอาจจะเป็นอาชีพสุดยอดจะฮิต ผลิตงานวิจัย made in Thailand ล้ำๆ (หรืออย่างน้อยก็ T Pop franchise) ส่งออกไปทั่วโลก ก็เป็นได้
ขอบคุณเพื่อนๆหลายคนที่เป็นห่วง (ถึงกับต้องชวนไปขายตรง) แต่ ไม่เป็นไรค่ะ ถึงตอนนี้ไส้จะแห้งแต่ก็ยังมีหวัง เรายังไม่ยอมขายหมู เพราะ #ลงทุนครั้งนี้พี่ถือยาว
#นักวิจัยไส้แห้ง
โฆษณา