Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มะไฟ
•
ติดตาม
6 ก.ค. 2019 เวลา 01:36 • การศึกษา
ตอนที่ 63 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัณโรค
วัณโรค บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องโบราณ แต่รู้รึเปล่าฮะว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ (วัณโรคปอดระยะแพร่เชื้อ) ถึงปีละ 100,000 คน ติดอันดับ 1 ใน 22 ของประเทศที่มีอุบัติการณ์วัณโรคสูงที่สุดในโลก! (ไทยเราขึ้นๆ ลงๆ ราวๆ ลำดับที่ 14-18 แล้วแต่ข้อมูล) แล้วเราควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับวัณโรค ไปดูกันฮะ!
วัณโรค (Tuberculosis หรือเรียกย่อว่า TB) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียประเภทหนึ่ง คือ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็นเชื้อที่แพร่ทางลมหายใจ นั่นแปลว่ามันสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ง่ายมากยิ่งกว่าเชื้อหวัด ถ้าเปรียบเทียบกันเชื้อไวรัสหวัดนั้นแพร่ทางฝอยละอองจากการไอจาม รัศมีการกระจายมักอยู่รอบๆ ตัวผู้ป่วย ในขณะที่วัณโรคนั้นจะปะปนในอากาศทั้งห้องและแม้ว่าผู้ป่วยจะออกจากห้องนั้นไปแล้วผู้ที่เข้ามาใหม่ก็ยังสามารถติดเชื้อได้!
เนื่องจากวัณโรคติดทางการหายใจ ดังนั้นอวัยวะที่มักจะเป็นวัณโรคก็คือปอดนั่นเอง โดยเริ่มจากการสูดหายใจเอาอากาศที่มีเชื้อเข้าไป ผู้ที่รับเชื้อเข้าไปนั้นจะมีประมาณร้อยละ 30 ที่เกิดการติดเชื้อขึ้น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้มีจำนวนหนึ่งซึ่งอาจเกิดอาการปอดอักเสบระหว่างการติดเชื้อครั้งแรก (ส่วนใหญ่พบในเด็ก - ไม่ได้แสดงในแผนภาพ) เรียกว่า "วัณโรคปอดปฐมภูมิ" (Primary TB) แต่อย่างไรก็ตามในคนปกติโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ไม่มีความบกพร่องของภูมิคุ้มกันนั้น ภูมิคุ้มกันของเราจะจัดการกับเชื้อจนสามารถควบคุมไม่ให้มันแพร่กระจายลุกลามได้และมักไม่ค่อยเกิดอาการอะไร (เราจึงมักไม่ค่อยพบวัณโรคชนิดปฐมภูมิในผู้ใหญ่ฮะ) หลังจากผ่านระยะนี้ไปแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลายเป็นภาวะ "วัณโรคปอดระยะแฝง" (Latent TB infection) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกาย "ควบคุม" เชื้อโรคเอาไว้ได้เปรียบเสมือนจับมันขังคุกไว้นั่นแหละฮะ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงไม่มีอาการและเชื้อไม่สามารถแพร่กระจายต่อไปได้ ส่วนใหญ่โรคมักสงบไปตลอดชีวิตและไม่เกิดโรคใดๆ ตามมา (เราเชื่อกันว่าคนไทยมีประชากรที่เป็นวัณโรคระยะแฝงอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยากที่จะตรวจนับ)
งั้นทำไมเราต้องกังวลต่อ? ก็เพราะในกลุ่มที่เป็นวัณโรคปอดระยะแฝงนี้ จะมีประมาณ 10% ที่เกิดอาการกำเริบของโรคขึ้น กลายเป็น "วัณโรคปอดระยะแพร่เชื้อ" (Reactivated TB หรือ Secondary TB) (เหมือนเชื้อมันแหกคุกออกมาได้นั่นละฮะ ซึ่งกรณีนี้อาจสัมพันธ์กับการที่ภูมิต้านทานของเราอ่อนแอลงชั่วขณะ เช่น จากความเครียด จากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ (5%) จะเกิดการกำเริบใน 2 ปีแรกหลังจากการติดเชื้อ และอีก 5% จะเกิดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงชีวิตที่เหลือ แม้ว่าตัวเลข 10% นี้จะดูไม่มาก แต่เนื่องจากบ้านเรามีความชุกของวัณโรคสูงมากและมีประชากรที่เป็นวัณโรคระยะแฝงอยู่เยอะ ดังนั้นตัวเลขของผู้ที่เกิดการกำเริบจึงมีเป็นจำนวนไม่น้อย คือ 100,000 รายต่อปีดังที่กล่าวไปในตอนต้นฮะ!
ผู้ป่วยวัณโรคปอดระยะแพร่เชื้อนั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นระยะที่จะแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้ ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายที่ต้องให้การรักษาเพื่อป้องกันการระบาดของโรค วัณโรคระยะแพร่เชื้อจะทำลายถุงลมและหลอดลมในปอด ทำให้เกิดเป็นจุด เป็นโพรง อาจเกิดพังผืดและหลอดลมโป่งพองตามมา อาการของผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อนั้นได้แก่ มีไข้เรื้อรัง ไอเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด ไอมีเสมหะปนเลือด แต่พึงระวังไว้ว่าในบางรายอาจมีอาการเพียงบางข้อ และบางรายอาจไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้! อ้าว! แล้วทำยังไงละเนี่ยถ้าไม่มีอาการแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นระยะแพร่เชื้อ? การวินิจฉัยวัณโรคนั้นสามารถทำได้โดยการเอ็กซเรย์ปอดเพื่อค้นหาความผิดปกติ ร่วมกับการเก็บเสมหะเพื่อไปหาเชื้อ เราจึงสามารถตรวจหาวัณโรคจากการเอ็กซเรย์ปอดได้ แต่! ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ทำคัดกรองวัณโรคโดยการเอ็กซเรย์ปอดในประชาชนทุกคน เนื่องจากภาพเอ็กซเรย์ของวัณโรคปอดนั้นมีความหลากหลาย บางครั้งสังเกตได้ยาก บางครั้งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้อ่านผล เราจึงแนะนำให้ทำการเอ็กซเรย์ปอดเป็นประจำเฉพาะในกลุ่มประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค ได้แก่ ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับวัณโรคระยะแพร่เชื้อ, ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV / เอดส์ / ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี), แรงงานต่างด้าว, ผู้สูงอายุ, และบุคลากรสาธารณสุข (ซึ่งมีโอกาสสัมผัสวัณโรคได้บ่อย) ส่วนประชากรกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ไม่ได้แนะนำว่าจะต้องเอ็กซเรย์ปอดทุกราย เพียงแต่สังเกตอาการว่ามีอาการเข้าได้กับที่กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ ถ้ามีอาการควรรีบไปพบแพทย์ฮะ!
แล้วเรารักษาวัณโรคได้อย่างไร? ผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการกินยาสูตรมาตรฐานต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน (อาจต้องนานกว่านี้หากมีการแพ้ยา ต้องปรับสูตรยา หรือเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยา) โดยแพทย์จะให้หยุดงานเพื่อป้องกันการแพร่กระจายต่อเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เมื่อกินยาครบ 2 สัปดาห์แล้ว ปริมาณเชื้อที่อยู่ในปอดจะลดลงอย่างมากจนถือได้ว่าไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นแล้วและสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ยังคงต้องทานยาต่อจนครบ 6 เดือนเพื่อกำจัดเชื้อส่วนที่หลงเหลือในร่างกายออกจนหมดฮะ! การรักษาวัณโรคยิ่งรู้เร็วยิ่งรักษาง่ายและสามารถจำกัดการแพร่เชื้อได้ แต่ถ้าปล่อยไว้นานอาจจะรักษายาก เกิดความเสียหายในปอดเป็นวงกว้าง อาจเกิดแผลเป็นในปอด เกิดภาวะไอออกเลือดจำนวนมากจนอาจเสียชีวิตเป็นต้น ดังนั้นถ้ามีอาการข้างต้น โดยเฉพาะเมื่อไอนานเกิด 2 สัปดาห์อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์ก่อนฮะเผื่อจะเป็นวัณโรคจะได้รักษาได้โดยเร็ว!
วัณโรคอีกประเภทที่พบได้น้อย คือ วัณโรคนอกปอด ซึ่งเกิดจากการที่เชื้อวัณโรคนั้นแพร่ออกไปนอกปอด มักเกิดในผู้ที่มีภูมิต้านทานไม่แข็งแรง อาการไม่แน่นอนขึ้นกับอวัยวะที่เป็น เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง วัณโรคทางเดินอาหาร วัณโรคกระดูก วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น ส่วนใหญ่ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและรักษา โดยการรักษาก็คือการให้กินยาเช่นกัน แต่อาจจะต้องมียาลดการอักเสบ หรืออาจจะต้องให้ยานานกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเป็นรายๆ ไปฮะ
อ้อ! เพิ่มเติมสักนิด ถ้าใครมีลูกหลาน คงเคยได้ยินว่าตอนแรกเกิดเด็กทุกคนจะได้วัคซีนวัณโรค ที่เรียกว่า BCG กันหมดแล้ว แล้วทำไมถึงยังเป็นวัณโรคได้อีก? ยังงี้แปลว่าวัคซีนไม่มีประโยชน์เหรอ? จริงๆ วัคซีน BCG สามารถลดความรุนแรงของวัณโรคได้ และช่วยลดโอกาสการเกิดวัณโรครุนแรงโดยเฉพาะวัณโรคเยื่อหุ้มสมองในเด็กได้ ดังนั้น BCG จึงยังเป็นวัคซีนจำเป็นที่แพทย์จะจัดให้เด็กทุกคนได้รับฮะ!
"เรื่องหมอง้ายง่ายกับมะไฟ" ตีพิมพ์เป็นคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ทุกวันศุกร์ สามารถติดตามได้ทั้งในหนังสือ และทาง Facebook & Blockdit “มะไฟ” ฮะ!
(สามารถโหลด app ได้ทั้ง iOS และ Android จากนั้น search หาชื่อ “มะไฟ” ได้เลยฮะ แล้วก็อย่าลืมกด follow เป็นอันเสร็จ!)
1 บันทึก
5
1
1
1
5
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย