6 ก.ค. 2019 เวลา 15:53
พบ “Massopora” เชื้อราหลอนประสาท ที่ทำให้จักจั่นคึกคัก จนถึงขั้นบั้นท้ายขาด
เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมาเป็นเวลานานแล้วว่า เชื้อราบางชนิดอาจส่งผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อสัตว์จำพวกแมลงได้ ถึงอย่างนั้นก็ตามในตอนที่พวกเขาพบกับเชื้อราประหลาดที่ทำให้จักจั่นมั่วเซ็กซ์จนถึงขั้นบั้นท้ายขาด
เชื่อว่าคงมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่น้อยที่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
อาการประหลาดๆ ของจักจั่นเหล่านี้ ถูกยืนยันว่ามาจากราชื่อ “Massopora” ในรายงานของมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา โดยมันเป็นเชื้อราที่ติดต่อในหมู่จักจั่นผ่านการผสมพันธุ์ และอันตรายมากพอที่จะสังหารจักจั่นจำนวนมากในเวลาสั้นๆ
เหล่าจักจั้นที่ติดเชื้อรา Massopora
เมื่อเข้าไปในร่างของเหยื่อเชื้อราตัวนี้จะเปลี่ยนนิสัยของจักจั่นให้ดูร่าเริง กระฉับกระเฉง และพร้อมที่จะผสมพันธุ์อยู่ตลอดเวลา จนในบางครั้งจักจั่นตัวผู้ที่ติดเชื้อสองตัวก็ถึงขั้นที่จะร่วมเพศกันเอง หรือทำตัวเลียนแบบตัวเมียเพื่อให้จักจั่นตัวอื่นๆ เขามาผสมพันธุ์ด้วยเพื่อแพร่เชื้อราต่อไป
เท่านั้นยังไม่พอเมื่อเจ้าจักจั่นติดเชื้อราตัวนี้ ในบางครั้งพวกมันก็จะออกบินเพื่อปล่อย “ชิ้นส่วนของร่างกาย” ลงมาจากท้องฟ้า เพื่อที่จะให้เชื้อราสามารถแพร่กระจายไปยังเหยื่อตัวอื่นๆ ในสภาพไม่ต่างอะไรกับซอมบี้อีกด้วย
3
เมื่อจักจั่นผสมพันธุ์กัน
ในบางครั้งบั้นท้ายของจักจั่นที่ติดเชื้อจะหลุดออกไปติดกับจักจั่นที่ผสมพันธุ์ด้วย แต่ถึงอย่างนั้นพวกมันก็ยังดึงดันจะผสมพันธุ์ต่อไป แม้ตัวจะขาดก็ตาม
เอาเข้าจริงๆ ทีมนักวิทยาศาสตร์นั้นรู้ถึงการมีอยู่ของเชื้อรา Massopora มาเป็นเวลานานแล้ว อย่างไรก็ตามภายในรายงานชิ้นล่าสุดนี้พวกเขาก็ได้มีการระบุข้อมูลชุดใหม่ไว้ว่า สารเคมีที่อยู่เบื้องหลังความน่ากลัวของเชื้อรา Massopora นั้น น่าจะเป็นสาร Amphetamines และ Hallucinogens ที่พบในยาหลอนประสาทและยาเสพติด
1
นี่นับว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่ง เพราะที่ผ่านๆ มาไม่มีใครเคยทำการทดลองเลยว่าเพราะเหตุใดเชื้อรา Massopora จึงสามารถควบคุมจักจั่นในลักษณะที่พบได้ แม้ว่าสารสองตัวที่พบล้วนแต่เป็นสารเคมีที่เรารู้จักกันดีและมีผลร้ายแรงกับมนุษย์
สภาพจักจั่นที่ตายหลังจากออกบินครั้งสุดท้ายเพื่อโปรยชิ้นส่วนของร่างกายที่ปนเปื้อนเชื้อราลงมาจากฟ้า
ทั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังได้มีการออกว่าเปิดเผยอีกว่าสาร Amphetamines และ Hallucinogens นั้นคงจะไม่ใช่สารเพียงกลุ่มเดียวที่เชื้อรา Massopora ใช้งานในการควบคุมจักจั่น อย่างไรก็ตามดูจากปริมาณของสารเคมีที่พบแล้ว สารสองชนิดนี้ก็น่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการศึกษาเชื้อรา Massopora ต่อไปเป็นแน่
เพราะสำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว การค้นพบสารเสพติดในตัวแมลง ถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถเห็นได้ค่อนข้างบ่อย และไม่ใช่อะไรที่น่าแปลกใจเลย
ที่มา livescience, sciencenews, sciencealert และ dailymail
โฆษณา