8 ก.ค. 2019 เวลา 11:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“มลพิษทางอากาศ”ภัยเงียบที่ไม่ควรปล่อยผ่านไปตามกระแสโซเชียล
จากเหตุการณ์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับ PM2.5 ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนเป็นจำนวนมาก เห็นได้ชัดจากช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆที่ได้แชร์ค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานในแต่ละพื้นที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกระแสความตื่นตระหนกนั้นก็ได้เบาบางลงตามค่าฝุ่นละอองที่ลดลง
มีการวิเคราะห์และวิจัยเพื่อสนับสนุนว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งโรคทางเดินหายใจ โรคปอดติดเชื้อ โรคปอดอุดกั้นเรื้องรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เป็นต้นองค์การอนามัยโลก WHO ได้รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากปัญหามลพิษ 1 ใน 8 ของการเสียชีวิตทั่วโลก หรือปีละประมาณ 7 ล้านคน จึงทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันดับต้นๆที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข 2561 ระบุว่า การติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นอันดับ 3 ของโรคที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสูงสุด
จากรายงานของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า พื้นที่กรุงเทพฯPM2.5 เกิดจากเผาไหม้เชื้อเพลิงดีเซลถึง 26% ของสาเหตุทั้งหมด สาเหตุอาจมาจากปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายอุดหนุนการใช้น้ำมันดีเซล อีกทั้งมีรถดีเซลเก่าที่ยังวิ่งอยู่บนท้องถนนเป็นจำนวนมาก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์
การลดฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดโดยตรง อาจทำได้โดย ควบคุมการเผาในที่โล่ง กำกับดูแลอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้ให้เป็นพลังงานสะอาด ควบคุมตรวจสอบสภาพรถ การควบคุมแก้ไขได้ยาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่มีการจราจรหนาแน่นเพิ่มขึ้นทุกปี แม้จะเก็บภาษีรถยนต์แพงเท่าใดก็ตาม
การรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้การคมนาคมสาธารณะนั้นได้ถูกนำมาพูดถึง การขยายโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งสาธารณะต่างๆจึงเกิดขึ้น แต่ในเมื่อทุกคนต่างรู้ดีว่าถ้าใช้ระบบขนส่งสาธารณะแล้วจะทำให้มลพิษลดลงแล้วทำไมรถยังติด มลพิษยังเพิ่มสูง คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คงจะมีแค่ เพราะระบบขนส่งสาธารณะยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต มันอาจจะยุ่งยากเดินทางขึ้นรถ ลงเรือ ขึ้น BTS กว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง หรือ มันอาจจะแพงกว่าค่าน้ำมันเสียอีก นั่นคือการบ้านที่รัฐจะต้องทำอย่างหนัก เพื่อให้ปริมาณอุปสงค์และอุปทานมันลงตัว หรือแม้แต่การให้เงินสนับสนุนค่ายรถยนต์ต่างๆผลิตรถยนต์พลังงานสะอาดออกมาขาย แต่หากราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังแพงกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไป ก็ไม่สามารถดึงดูดให้คนอยากซื้อได้ แม้จะทราบดีว่ามันช่วยลดมลพิษและทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพน้อยลงก็ตาม
ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
แน่นอนว่าโรคภัยไข้เจ็บต่างๆไม่ได้มีแค่มลพิษทางอากาศเพียงสาเหตุเดียว แต่หากเราสามารถช่วยกันลดมลพิษทางอากาศลงได้ เหมือนที่เรากำลังรณรงค์ให้ช่วยกันลดการใช้พลาสติกอยู่ในขณะนี้ จะทำให้ภาระทางเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขลดลงด้วย ปัญหามลพิษทางอากาศจึงไม่ใช่ปัญหาที่เราจะคำนึงเฉพาะปัจเจกบุคคลเพียงเท่านั้น ต้องคำนึงถึงภาระต่างๆที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสังคม
แล้วเหตุผลของคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรกับระบบขนส่งสาธารณะในตอนนี้ แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะกันมาได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นๆ และผลักดันให้ปัญหามลพิษนี้ลดลง
โฆษณา