8 ก.ค. 2019 เวลา 11:48 • การศึกษา
💥“ฟันคุด”กลัวเจ็บไม่ผ่าได้มั้ย..⁉️
🦷ฟันคุด คืออะไร?
🦷ปวด.. แต่กลัวเจ็บ ไม่ผ่าได้มั้ย?
🦷ถ้าไม่เคยปวด.. ต้องผ่ารึป่าว?
✍🏻วันนี้ลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ฟันคุด” กันว่าเราควรรับมือกับมันอย่างไร...?
🔸ฟันคุดคืออะไร..?
- ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจจะโผล่ขึ้นมาเพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่
- ฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง
- ฟันซี่นี้ควรจะขึ้นช่วง 18 - 25 ปี อาจโผล่ขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง⬆️ เอียง↖️ หรือนอนในแนวระนาบ⬅️
- นอกจากนี้ฟันซี่อื่น ๆ ก็อาจจะคุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อยแต่พบได้น้อย
🔸จะทราบได้อย่างไรว่ามีฟันคุด...?
- จากการตรวจในช่องปาก ถ้าพบว่าฟันซี่ใดโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดหายไป ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าน่าจะมีฟันคุด
- เพื่อให้แน่ใจก็ควรจะเอกซเรย์ดู ก็จะทำให้ทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งไหนบ้าง การเอกซเรย์ Panoramic film จะเห็นฟันทั้งหมดในกระดูกขากรรไกรทั้งบนและล่าง รวมถึงอาจมีรอยโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในกระดูกขากรรไกร
🔸ทำไมต้องผ่าฟันคุด..?
- เพื่อป้องกันเหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนองซึ่งเกิดจากจากเศษอาหารที่ติดใต้เหงือกและสะสมมานาน ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น ใต้คาง ใต้ลิ้น
- เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ บริเวณซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้’ทั้งสองซี่’!!
- เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก แรงดันจากฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา จะทำให้กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป
- เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น
- เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก การที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย
- วัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น ในการจัดฟัน ต้องถอนฟันกรามซี่ที่ สาม ออกเสียก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่น ๆ
🔸การถอนหรือผ่าฟันคุดตอนอายุน้อยดีอย่างไร...?
- ในกรณีที่ไม่มีพยาธิสภาพ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขณะผ่าหรือหลังผ่าฟันคุดจะน้อยกว่าในตอนอายุน้อย
- การผ่าฟันคุดจะไม่ยากเท่าในผู้ใหญ่ และจะหายเร็ว รวมถึงโอกาสติดเชื้อหลังผ่าจะน้อยกว่า เนื่องจากในเด็กกระดูกมีเลือดมาเลี้ยงมาก และไม่แข็ง
- แนะนำให้ผ่าฟันคุดในเด็กอายุ 16-17 ปี ซึ่งรากฟันคุดจะยาวเป็น 1/2-2/3 ของความยาวรากทั้งหมด และปลายรากยังไม่ปิด ทำให้ผ่าง่าย
- หากผ่าเร็วเกินไป(ยังมีเฉพาะตัวฟัน โดยที่รากยังเกิดไม่ถึงครึ่ง) การผ่าจะยากกว่าเพราะฟันจะหมุนกลิ้งในกระดูกขณะงัด (รากฟันจะช่วยไม่ให้เกิดการหมุน ขณะงัดฟันทำให้ผ่าง่ายขึ้น)
🔸การผ่าตัดฟันคุดมีอันตรายหรือผลแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง...?
- หลังคายผ้าก๊อซแล้วยังมีเลือดไหลจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ
- มีไข้หรือมีการติดเชื้อหลังการผ่าตัด
- หลังผ่าตัด 2 - 3 วันแล้วอาการปวดบวมยังไม่ทุเลา แต่กลับมีอาการเพิ่มมากยิ่งขึ้น
- มีอาการชาของริมฝีปากล่างนานผิดปกติทั้งที่หมดฤทธิ์ชองยาชาแล้ว
📌ถ้าท่านมีอาการเหล่านี้ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์ได้ทันที เพื่อหาทางแก้ไข แต่ขอบอกไว้ก่อนว่าผลแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก ไม่ต้องกังวลจนกลัวแล้วไม่ยอมไปผ่าตัดฟันคุด เพราะถ้าเก็บฟันคุดไว้อาจมีอันตรายมากยิ่งกว่า
🔸ถ้าอย่างนี้แล้วจะป้องกันอันตรายจากฟันคุดได้อย่างไร...?
- เพียงแค่ท่านไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและเอกซเรย์ฟันก็จะทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง
- หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยผ่าฟันคุดออกเสียก่อนที่จะมีอาการปวดบวม หรือทำให้ฟันข้างเคียงมีปัญหา
- การผ่าตัดในช่วงที่อายุยังน้อย(18-25 ปี) สามารถทำได้ง่าย แผลหายเร็วและผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดก็ต่ำ
💁🏻‍♀️ เพราะฉะนั้นมีฟันคุดแล้วอย่ารั้งรอ รีบไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจประเมินเบื้องต้นว่าสามารถถอน/ผ่าตัดออกได้มั้ย เพราะในบางรายอาจจะมีข้อห้ามหรือ conditions อื่นๆที่ไม่สามารถทำได้
💁🏻‍♀️กรณีที่สามารถทำได้ให้รีบเอาออกแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เกิดผลเสียภายหลัง บางเคสอาจจะเป็นการถอนปกติหรืออาจจะผ่าตัดออกขึ้นกับตำแหน่งและความยากง่ายของฟันคุดซี่นั้น
References
- ทพ.นิวัฒน์ พันธุ์ไพศาล. บทความเรื่อง “ฟันคุด”. งานทันตกรรม โรงพยาบาลศิริราช Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง minor oral surgury and complications for dentist: Smart approach
#ความรู้ย่อยง่ายสไตล์DENTNotes
โฆษณา