11 ก.ค. 2019 เวลา 06:36 • ประวัติศาสตร์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ตอนที่ 1)
ลำดับที่ 1
สมเด็จพระสังฆราช พระนามเดิม ศรี เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงธนบุรี และเป็นพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เสด็จสถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2325 สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2337 ดำรงตำแหน่งอยู่ 12 ปี น่าจะมีพระชันษาไม่น้อยกว่า 80 ปี
พระประวัติในตอนต้นไม่ปรากฏรายละเอียด พบแต่เพียงว่า เดิมเป็นพระอาจารย์ศรีอยู่วัดพนัญเชิงวรวิหาร หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310 ได้หนีภัยสงครามไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ได้อาราธนาพระองค์ให้มาอยู่ที่วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) และทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงธนบุรี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2325 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเดิม และไปครองพระอารามตามเดิมด้วย ทรงเห็นว่าเป็นผู้มีความสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรแก่นับถือเคารพสักการบูชา
พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของภิกษุสามเณร การบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎก ตลอดจนการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
สิ้นพระชนม์
ถึงเดือน 5 ปีขาล จ.ศ. 1156 (พ.ศ. 2337) สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) อาพาธถึงแก่มรณภาพ
ลำดับที่ 2
สมเด็จพระสังฆราช พระนามเดิม ศุข หรือ สุก เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เมื่อปี พ.ศ. 2337 ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 23 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2359 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระประวัติในตอนต้นไม่ปรากฏหลักฐาน พระประวัติเมื่อครั้งกรุงธนบุรี เป็นพระราชาคณะที่พระญาณสมโพธ อยู่วัดมหาธาตุ ถึงปี พ.ศ. 2323
เมื่อปลายรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมเจดีย์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้รับการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่ พระพนรัตน อันเป็นตำแหน่งรองสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ขณะที่ทรงสมณศักดิ์ที่พระพนรัตน ได้เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก ในครั้งที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2331 ทรงรอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก
ทรงจัดระเบียบการสอบพระปริยัติธรรมเพื่อเป็นเปรียญ แบบ 3 ชั้น คือ เปรียญตรี เปรียญโท และเปรียญเอก
ในปี พ.ศ. 2336 เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) สิ้นพระชนม์ จึงโปรดตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช และได้เป็นพระอุปัชฌาย์ในคราวผนวชสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์
ใน สมัยของพระองค์ ได้มีการส่งสมณทูตไทยไปสืบข่าวพระศาสนา ณ ลังกาทวีป เป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2358 หลังจากที่ว่างเว้นมา 60 ปี จากสมัยกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) สิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือน 6 ปีชวด จ.ศ. 1178 (ตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2359) เวลา 2 โมงเช้า
ลำดับที่ 3
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมว่า มี
ประสูติเมื่อวันพุธขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2293 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งอาณาจักรอยุธยา
ไม่ปรากฏหลักฐานภูมิลำเนาเดิม ต่อมาผนวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ทรงกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน และการสอบเทียบความรู้ใหม่ ให้มี 9 ประโยค และก็ใช้มาจนถึงปัจจุบันแทนหลักสูตรเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งมีการแบ่งหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมเพียง 3 ชั้น คือ บาเรียนตรี บาเรียนโท บาเรียนเอก
สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2362 ในสมัยรัชกาลที่ 2 สิริพระชันษาได้ 69 ปี 58 วัน
ลำดับที่ 4
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
ปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร เมื่อได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในอีก 4 ปีต่อมา เมื่อมีพระชันษาได้ 88 ปี
ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร นับว่าเป็นตำแหน่งพิเศษ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นตำแหน่งที่พระราชทานแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ
เมื่อครั้งเกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2363 มีผู้คนเสียชีวิตมากมาย ประมาณถึง สามหมื่นคนเศษ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงให้ตั้งพระราชพิธีอาพาธพินาศ โดยพระองค์ทรงศีลและให้ตั้งโรงทาน ส่วนสมเด็จพระสังฆราชทรงให้สังคายนาบทสวดมนต์ในพระราชพิธีดังกล่าว
ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกพระองค์ว่า "สังฆราชไก่เถื่อน" เพราะร่ำลือกันว่า ทรงช่ำชองวิปัสสนาธุระถึงขนาดทำให้ไก่ป่าเชื่องด้วยอำนาจพรหมวิหารได้
ดำรงอยู่ในตำแหน่ง 3 ปี สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2365 พระชันษาได้ 90 ปี
ลำดับที่ 5
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมว่า ด่อน เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2365 ดำรงตำแหน่ง 20 ปี
พระประวัติในตอนต้นไม่พบรายละเอียด มีแต่เพียงว่าประสูติในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์แห่งกรุงศรีอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ. 2304 ได้เป็นที่ "พระเทพโมลี" อยู่ที่วัดหงส์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและได้เป็นที่ "พระพรหมมุนี" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นที่ "พระพิมลธรรม" เมื่อปี พ.ศ. 2359 ต่อมาได้เลื่อนเป็น "สมเด็จพระพนรัตน์" ในรัชกาลเดียวกัน
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์สุดท้ายที่สถิต ณ วัดมหาธาตุ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2367
ในช่วงปลายสมัยของสมเด็จพระสังฆราช ได้มีการชำระความภิกษุที่ประพฤติอนาจารครั้งใหญ่ ได้ตัวมาชำระสึกเสียจำนวนมาก ประมาณถึง 500 รูปเศษ ที่หนีไปก็มีจำนวนมาก
พระราชาคณะก็เป็นปาราชิกหลายรูป นับเป็นการชำระสะสางอลัชชีในคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของคณะสงฆ์ในยุคนั้น และในขณะเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นถึงความเอาพระทัยใส่ในการคณะสงฆ์ของพระมหากษัตริย์อย่างจริงจัง
สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. 2385 สิริพระชันษาได้ 81 ปี
อ้างอิง
พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๙ พระองค์
วัดบวรนิเวศวิหาร. พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๙ พระองค์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อุดมศึกษา, 2552
สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545
พระมหาสมคิด สุรเตโช. ประวัติวัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร. กรุงเทพฯ : ธรรมเมธี-สหายพัฒนาการพิมพ์, 2548
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2489). ความทรงจำ. ม.ป.ท.
โฆษณา