9 ก.ค. 2019 เวลา 04:08
ที่มาของ ‘วันหยุดสุดสัปดาห์’ เหตุใดเราต้องหยุดทำงานกันในวัน เสาร์-อาทิตย์
เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมพวกเราถึงได้หยุดงานกันในวัน เสาร์-อาทิตย์ จริงอยู่ว่าหลายๆ คนอาจจะไม่ได้หยุดวันนั้นแต่ถ้าหากนับจากประชากรส่วนใหญ่ที่รวมทั้งพวกเด็กๆ แล้ว วันหยุดของพวกเขาส่วนมากก็จะไม่พ้นสองวันนี้ใช่ไหมล่ะ ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมสองวันนี้จึงเป็นวันหยุดยอดนิยมกัน?
วันหยุดในสมัยก่อนนั้น ไม่ได้ใช้หลักการกำหนดในแบบปัจจุบันและแตกต่างกันไปในแต่ล่ะประเทศ ชาวโรมโบราณ จะมีวัน Nundinae (ภาษาลาตินแปลว่าตลาด) ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งจะหยุดจากการทำงานของตัวเองมารวมตัวกันในเมืองเพื่อซื้อขายสินค้าต่างๆ
การนับวันแบบ 7 วันต่อสัปดาห์โดยไม่มีการอ้างอิงกับดวงจันทร์หรือหลักการทางธรรมชาติใดๆ นั้นเริ่มต้นขึ้นจากศาสนายิว เชื่อกันว่าระบบนับวันแบบนี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ประมาณช่วง 6 ศตวรรษก่อนก่อนคริสตกาล ชาวยิวนั้นจะถือว่าตั้งแต่พระอาทิตย์ตกในวันศุกร์ถึงพระอาทิตย์ตกในวันเสาร์เป็นวันพักผ่อน ของพวกเขา
ส่วนการหยุดพักผ่อนในวันอาทิตย์นั้นเชื่อกันว่ามาจากความแพร่หลายของศาสนาคริสต์ โดยอ้างอิงตามคัมภีร์ไบเบิล ว่าวันที่ 7 นั้นเป็นวันของการพักผ่อนและการบูชาพระเจ้า เมื่อทำการนับวันตามหลักความคิดที่ว่าหนึ่งสัปดาห์มี 7 วันแล้ว วันอาทิตย์จึงถูกนับเป็นวันหยุดพักผ่อนนั่นเอง
อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการหยุด 2 วันนั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ จากการลดสัปดาห์การทำงานให้สั้นลงในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ในอังกฤษ ในช่วงนั้นได้มีการเรียกร้องจากแรงงานในประเทศเพื่อเวลาการพักผ่อนที่ยาวนานขึ้น จากการทำงานในสภาพการทำงานที่เลวร้ายของอุตสาหกรรมในตอนนั้นที่หนักยิ่งกว่าการทำไร่ทำนาที่ยังมีเวลาหยุดพักเมื่อไม่มีแสงแดด โดยมีการยืดเวลาวันหยุดให้ครอบคลุมไปยังวันเสาร์ตั้งแต่บ่ายสองเป็นต้นไป และเป็นครั้งแรกที่พจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซฟอร์ดมีการใช้คำว่า Weekend หรือสุดสัปดาห์ ในปี 1879
ในปี 1908 ระบบวันหยุดสองวันในสหรัฐอเมริกาถูกก่อตั้งโดยโรงงานผลิตผ้าฝ้ายนิวอิงแลนด์ โดยที่พวกเขาอนุญาตให้คนงานชาวยิวหยุดตั้งแต่เย็นวันศุกร์ถึงเย็นวันเสาร์ และในปี 1926 Henry Ford ก็เริ่มทำการปิดโรงงานของเขาในวันเสาร์อาทิตย์ สามปีต่อมาในปี 1929 นั่นเอง กลุ่มคนงานเสื้อผ้าของสหภาพอเมริกาก็กลายเป็นสหภาพแรกที่ทำการหยุดงาน 2 วัน และอเมริกาทั้งประเทศก็เริ่มทำตามพวกเขา
หลักการวันหยุดสองวันนั้นได้รับความนิยมอย่างมากในหลายๆ ประเทศ กระทั่งในหลายทศวรรษต่อมา ทำให้ความคิดวันหยุดสองวันนั้นแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วนั่นเอง
ที่มา smh, theatlantic, wikipedia Catdumb
โฆษณา