11 ก.ค. 2019 เวลา 05:25 • ไลฟ์สไตล์
เทคนิคการจดบันทึก สรุปใจความสำคัญให้จำแม่น
อ่านหนังสือเท่าไหร่ ก็จำไม่ได้สักที วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถสรุปสาระสำคัญจากสิ่งที่เราอ่าน ให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำกลับมาอ่านทวนซ้ำได้ไม่จำกัด นั่นก็คือ “การจดบันทึก” แต่จะจดอย่างไร ให้ได้สาระสำคัญ และช่วยให้จำได้แม่น ไปดู เทคนิคการจดบันทึก ดีๆ พร้อมกันเลยครับ
อ่านสารบัญเสียก่อน
ก่อนที่จะเริ่มตะลุยอ่านหนังสือทั้งเล่ม เราควรมองเห็นภาพรวมของหนังสือที่เราจะอ่านเสียก่อน เพื่อที่จะเข้าใจขอบเขตของหนังสือ ว่าหนังสือเล่มนี้กำลังพูดถึงอะไร และแต่ละบท ประกอบด้วยเนื้อหาอะไรบ้าง มีเนื้อหาที่แยกย่อย เจาะลึกเกี่ยวกับอะไรลงไปบ้าง เวลาที่เราลงมืออ่าน เราจะนึกภาพตามได้อย่างไม่สับสน
ไฮไลท์สาระสำคัญเอาไว้ก่อน
ถ้าหนังสือเล่มนี้สามารถขีดเขียนได้ (ไม่ใช่หนังสือในห้องสมุด หนังสือที่ยืมเพื่อนมา หรือ หนังสือที่ห้ามขีดเขียน) นำปากกาไฮไลท์ หรือ ปากกาเน้นข้อความ มาขีดเน้นข้อความที่สำคัญเอาไว้ก่อน เมื่อเราอ่านผ่านหน้านี้ไปแล้ว เราจะได้สามารถเปิดดูย้อนหลังซ้ำอีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องอ่านเนื้อหาทั้งหน้าเพื่อสรุปสาระสำคัญใหม่อีกครั้ง
1
เตรียมกระดาษทด
บางครั้ง เราอาจยังไม่สามารถจดสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ทั้งหมดได้ในทันที เพราะต้องการเวลาในการอ่านทบทวนซ้ำ และตกผลึกความคิดจนเข้าใจได้ในที่สุด ยิ่งถ้าเราต้องการจดบันทึกลงในสมุดหรือกระดาษสวยๆ บางทีเราอาจไม่กล้าเขียนหวัดๆ หรือลบไปลบมาจนทำให้สมุดไม่สวย
เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการจดสาระสำคัญต่างๆ ลงในกระดาษทดก่อน เห้นอะไรที่รู้สึกว่าน่าสนใจ ก็จดเก็บเอาไว้ก่อน พอเราเลือกใช้กระดาษทั่วไป แทนที่จะใช้กระดาษหรือสมุดสวยๆ เราจะก็กล้าขีดเขียน วาดรูป ลากเส้นโยงไปมา และขีดฆ่าได้ทันทีเมื่อต้องการโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงาม
เมื่อความคิดของเราตกผลึกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราจึงค่อยนำองค์ความรู้ หรือสาระสำคัญที่เราสรุปได้นั้น ไปจดลงในสมุดแบบสวยๆ เรียบร้อย เป็นระเบียบอีกที
1
สรุปให้เสร็จทีละเรื่อง
1
หลีกเลี่ยงการทำงานอื่นแทรกระหว่างที่เรากำลังสรุปสาระสำคัญเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ควรสรุปให้เสร็จไปทีละเรื่องก่อน แล้วจึงค่อยเปลี่ยนไปทำงานอื่นต่อ เพราะการทำงานหลายอย่างสลับไปมา อาจทำให้ความคิดของเราไม่ลื่นไหล ต้องเปลี่ยนความคิดสลับไปมาบ่อยครั้ง จนอาจเกิดความสับสน และตกหล่นสาระสำคัญไปได้ ทำงานให้เสร็จทีละเรื่องจะช่วยให้งานเสร็จอย่างรวดเร็ว และลื่นไหลมากกว่า
1
ใช้ตัวย่อ หรือ สัญลักษณ์
ลองใช้ตัวย่อหรือ สัญลักษณ์ที่เราเข้าใจได้ง่าย เข้ามาช่วยในการจดบันทึก เช่น ใช้ตัวย่อ “พท.” แทนคำว่า “พื้นที่” ใช้เครื่องหมาย “ = ” แทนคำว่า “เท่ากับ” จะช่วยให้จดจำง่าย และจดบันทึกได้รวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้บันทึกของเราดูสวยงาม ไม่มีข้อความที่ยืดยาวจนเกินไป แถมตัวย่อและสัญลักษณ์บางอย่างที่เราคิดค้นชึ้นเอง ยังเป็นสัญลักษณ์ที่เราเข้าใจเพียงคนเดียว จึงป้องกันการนำไปคัดลอก ละเมิดลิขสิทธิ์ได้อีกด้วย
เพิ่มความสวยงาม ด้วยเครื่องเขียนสวยๆ
เราสามารถตกแต่งสมุดบันทึกของเราด้วยปากกาสีสวยๆ สติ๊กเกอร์ และเทปกาวสุดน่ารัก ได้เต็มที่ นอกจากจะช่วยเพิ่มความสวยงาม น่าอ่านแล้ว ยังช่วยเน้นข้อความสำคัญ ช่วยให้เราสามารถค้นหาสาระสำคัญที่เราต้องการเน้นเป็นพิเศษได้ง่าย และรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย
ทบทวนสิ่งที่เราสรุปได้อีกครั้ง
เมื่อจดบันทึกเสร็จแล้ว ลองอ่านทบทวนทันที เพื่อดูว่าเราจดสาระสำคัญได้ถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือยัง มีข้อมูลส่วนไหนที่ยังขาดตกบกพร่อง หรือ ยังไม่สมบูรณ์อีกหรือไม่ เพื่อที่เราจะได้สามารถสืบค้นหาข้อมูลมาเติมเต็มให้ครบถ้วน
รอให้ผ่านไปหลายวัน แล้วค่อยกลับมาทบทวนอีกครั้ง
ในวันที่เราอ่านและจดสรุปสาระสำคัญนั้น เราอาจยังจดจำสาระสำคัญเหล่านั้นได้แม่น จึงทำให้เราไม่พบข้อบกพร่องในการจดบันทึกของเรา ลองปล่อยให้เวลาผ่านไปอีกหลายๆ วัน แล้วกลับมาอ่านบันทึกที่จดไว้อีกครั้ง เราอาจพบคำถาม หรือจุดที่อ่านแล้วไม่เข้าใจเพิ่มขึ้นมากมาย เพื่อที่เราจะได้ย้อนกลับไปอ่านเฉพาะจุดที่สงสัย แล้วนำสาระที่ได้มาเขียนเพิ่มเติม ให้บันทึกเล่มนี้ กลายเป้นบันทึกที่สมบูรณ์ สามารถอ่านทบทวนซ้ำได้เสมอ
ถ้าชอบบทความนี้อย่าลืมกดติดตามเป็นกำลังใจให้เรานะครับ
รู้ไว้ไม่เสียหาย
โฆษณา