12 ก.ค. 2019 เวลา 13:59 • ประวัติศาสตร์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ตอนที่ 2)
ลำดับที่ 6
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สถิต ณ วัดราชบุรณราชวรวิหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2386 ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 6 ปี
ประสูติในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์แห่งกรุงศรีอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ. 2301 เป็นพระราชาคณะที่ พระนิกรมุนี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เลื่อนเป็น พระพรหมมุนี เมื่อปี พ.ศ. 2359
ต่อมาเป็น พระธรรมอุดม และได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระพนรัตน เมื่อปี พ.ศ. 2373 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจากในระยะเวลาที่ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์กำลังอยู่ระหว่างการปฏิสังขรณ์ พระองค์จึงสถิต ณ วัดราชบูรณะตลอดมาจนสิ้นพระชนม์ ทำให้ธรรมเนียมการแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เป็นอันเลิกไปตั้งแต่นั้นมา
และสมเด็จพระสังฆราชเคยสถิตอยู่ ณ พระอารามใด เมื่อครั้งก่อน เป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็ยังคงสถิตอยู่ ณ พระอารามนับสืบต่อไป เป็นแบบธรรมเนียมมาจนถึงปัจจุบัน
ได้มีการส่งสมณทูตไปลังกาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2387โดยทางเรือและเดินทางกลับในปีเดียวกัน พร้อมกับ ได้ยืมหนังสือพระไตรปิฎกมาอีก 30 คัมภีร์ พร้อมทั้งมีภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์ชาวลังกา ติดตามมาด้วยกว่า 40 คน
การที่มีพระสงฆ์ชาวลังกาเดินทางเข้ามาสยามบ่อยครั้ง จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ขณะผนวชและเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร รับภาระต้อนรับดูแลพระสงฆ์ชาวลังกา ดังนั้น วัดบวรนิเวศจึงมีหมู่กุฎีไว้รับรองพระสงฆ์ลังกาโดยเฉพาะ เรียกว่า คณะลังกา
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2392 เมื่อพระชันษาได้ 86 พรรษา
ลำดับที่ 7
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 7 แห่งอาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) และเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกที่ทรงได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
นอกจากนี้ยังเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่ประสูติในสมัยรัตนโกสินทร์อีกด้วย ทรงสถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงสมณศักดิ์เมื่อปี พ.ศ. 2394 ถึงปี พ.ศ. 2396 รวม 2 พรรษา
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติกาลแต่เจ้าจอมมารดาจุ้ย (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นท้าวทรงกันดาล)
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2333 มีพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรีผนวชเป็นสามเณรเมื่อพระชันษาได้ 12 ปี
เมื่อปี พ.ศ. 2345 ผนวชเป็นพระภิกษุ แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงศึกษาหนังสือไทยและภาษาบาลีตลอดทั้งวิชาอื่น ๆ จากสมเด็จพระพนรัตน์ จนมีพระปรีชาสามารถ ทั้งทางคดีโลก และคดีธรรม มีผลงานอันเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงให้รวมวัดในแขวงกรุงเทพมหานคร ขึ้นเป็นคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกลาง แล้วได้สถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรสให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะเจ้าคณะรอง และทรงตั้งเป็นเจ้าคณะกลาง
ทรงสมณศักดิ์เป็นพระมหาสังฆปริณายก ทั่วพระราชอาณาเขต ให้จัดตั้ง พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามมีทั้งพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์ คล้ายกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของคณะสงฆ์ไทย
เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ว่างตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจจะเนื่องจากไม่มีพระเถระรูปใดมีคุณสมบัติอยู่ในฐานะที่จะทรงสถาปนาตามหลักเกณฑ์
กล่าวคือ ตามพระราชประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณ พระเถระที่จะทรงตั้งเป็น สมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระราชาคณะนั้น ก็เฉพาะผู้ทรงคุณสมบัติพิเศษ คือเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์เป็นที่ทรงนับถือ
แม้ว่าจะว่างสมเด็จพระสังฆราช แต่การปกครองคณะสงฆ์ก็สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี เนื่องจากแต่โบราณมา พระมหากษัตริย์ทรงถือเป็นพระราชภาระในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ โดยมีเจ้านาย หรือขุนนางผู้ใหญ่ในตำแหน่ง เจ้ากรมสังฆการี เป็นผู้กำกับดูแลแทนพระองค์
สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยตรง ทรงดำรงฐานะปูชนียบุคคล การปกครองในลักษณะนี้ ได้มาเปลี่ยนแปลงไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า การเรียกพระนามพระบรมราชวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลแต่เดิมนั้นเรียกตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์ ไม่ได้เรียกตามสมณศักดิ์ของพระประมุขแห่งสังฆมณฑล คือ "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" หรือที่เรียกอย่างย่อว่า "สมเด็จพระสังฆราช"
พระองค์จึงเปลี่ยนคำนำพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลว่า "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า" เพื่อให้ปรากฏพระนามในส่วนสมณศักดิ์ด้วย ดังนั้น จึงเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส"
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ 64 พรรษา
ลำดับที่ 8
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นหนึ่งในสิบพระเถระผู้เป็นต้นวงศ์ธรรมยุต
ประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2434 ขณะพระชันษาได้ 82 ปี ดำรงตำแหน่งได้ 10 เดือนก็สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2435 ขณะมีพระชันษา 83 ปี
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 18 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 10 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2352 เวลาสี่ทุ่มเศษ
เนื่องจากวันประสูตินั้นเป็นวันเริ่มสวดมนต์ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระองค์จึงได้รับพระราชทานนามว่าพระองค์เจ้าฤกษ์
เมื่อพระบิดาสวรรคตในปี พ.ศ. 2360 พระองค์ได้เสด็จไปประทับในพระบรมมหาราชวังกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี เป็นบางคราว เพราะเจ้าจอมมารดาของพระองค์เคยเป็นข้าหลวงของเจ้าฟ้าพระองค์นี้
ต่อมาเจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดีได้นำพระองค์ไปฝากกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงคุ้นเคยกันมานับแต่นั้น
พ.ศ. 2365 เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี ได้ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร โดยมีสมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วศึกษาภาษาบาลีตามคัมภีร์มูลกัจจายน์กับพระญาณสมโพธิ (รอด) จนชำนาญ
ผนวชได้ 4 พรรษา ก็ประชวรด้วยพระโรคทรพิษจึงลาผนวชมารักษาพระองค์จนหายประชวร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้ผนวชเป็นสามเณรอีกครั้ง ณ พระราชวังบวรสถานมงคล
พ.ศ. 2372 เมื่อมีพระชันษาครบ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ลาสิกขาบทเพื่อทำการสมโภชพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ ที่จะทรงผนวชเป็นสามเณรในเวลานั้น
ได้สมเด็จพระอริยวงษญาณ (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระวินัยรักขิต วัดมหาธาตุ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ผนวชแล้วศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะเป็นพระภิกษุ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งธรรมยุติกนิกาย ก็ได้ทรงเข้าถือธรรมเนียมนั้นตาม ทรงทำทัฬหีกรรม ณ นทีสีมา โดยมีพระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงเป็นพระภิกษุเป็นพระกรรมวาจาจารย์
แล้วศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในสำนักพระวิเชียรปรีชา (ภู่) แม้จะไม่เคยสอบพระปริยัติธรรม แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานตาลปัตรสำหรับพระเปรียญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงเคยรับ ให้ทรงใช้ต่อ
ปี พ.ศ. 2379 ทรงติดตามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ย้ายไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงแตกฉานในภาษาบาลี พระนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในภาษาบาลีคือพระนิพนธ์เรื่อง "สุคตวิทัตถิวิธาน" ซึ่งทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลี
นอกจากนี้ ยังได้ทรงนิพนธ์เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เป็นภาษาบาลีอีกหลายเรื่อง นับว่าพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีที่สำคัญพระองค์หนึ่ง
นอกจากจะเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีแล้ว ยังมีพระปรีชาสามารถ ในด้านต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้ คือ
ด้านสถาปัตยกรรม ทรง ออกแบบพระปฐมเจดีย์ องค์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2396
ด้านโบราณคดี ทรงเป็นนักอ่านศิลาจารึกรุ่นแรกของไทยได้ศึกษาและรวบรวมจารึกต่าง ๆ ในประเทศไทยไว้มาก และได้ทรงอ่านจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ที่เป็นอักษรขอม เป็นพระองค์แรก
ด้านประวัติศาสตร์ ทรงนิพนธ์ลิลิตพงศาวดารเหนือ เรื่องพระปฐมเจดีย์ และพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น
ด้านดาราศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์ตำราปฏิทินปักขคณนา(คำนวณปฏิทินทางจันทรคติ) ไว้อย่างพิสดาร
ด้านวิทยาศาสตร์ ทรงบันทึกจำนวนฝนตกเป็นรายวัน ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 45 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2389 ถึงปี พ.ศ. 2433 เพื่อเป็นการเก็บสถิติน้ำฝนในประเทศไทย เรียกบันทึกนี้ว่า จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน
ด้านกวี ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาบาลี ไว้เป็นจำนวนมาก ที่เป็นภาษาไทย ทรงนิพนธ์ไว้จำนวนมาก เช่น ได้ลงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กาพย์เสด็จนครศรีธรรมราช ลิลิตพงศาวดารเหนือ เป็นต้น
ด้านพระศาสนา ทรงเป็นองค์ประธานชำระและแปลพระไตรปิฎก พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก
ทรงกำหนดพระราชบัญญัติ และประกาศคณะสงฆ์ต่าง ๆ ทรงให้กำเนิดพระกริ่งในประเทศไทย ทรงสร้างพระกริ่งที่เรียกกันว่าพระกริ่งปวเรศ ซึ่งเป็นต้นแบบของพระกริ่งในยุคต่อมาของไทย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประชวรด้วยต้อกระจกจนทำให้พระเนตรบอด
ต่อมาทรงพระประชวรด้วยพระโรคชราตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2435 ทำให้พระบังคนหนักไม่ได้ และรู้สึกหนาวพระวรกาย
ถึงวันที่ 17 ทรงพระอาเจียน เสวยไม่ค่อยได้ บรรทมไม่หลับ ถึงวันที่ 21 เป็นวันอุโบสถ มีพระประสงค์จะลงอุโบสถ เพราะนับแต่ผนวชมาทรงลงอุโบสถเสมอไม่เคยขาด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกรงว่าหากเสด็จไปพระอาการจะทรุดลงจึงโปรดอุทิศพระตำหนักนั้นเป็นอุโบสถ เพื่อให้ทรงได้ทำอุโบสถตามพระประสงค์
วันต่อ ๆ มาพระอาการยังคงทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2435 เวลา 23:03 น. พระชันษาได้ 83 ปี 13 วัน ผนวชเป็นพระภิกษุได้ 64 พรรษา
พระศพประดิษฐานอยู่ ณ พระตำหนัก นานถึง 8 ปี จึงพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2443
ลำดับที่ 9
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2436 ถึงปี พ.ศ. 2442 รวม 6 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 87 พรรษา
เคยเป็นสามเณรนาคหลวง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นผู้สามารถสอบเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้ขณะยังเป็นสามเณร รูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น สามเณรอัจฉริยะ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เดิมเป็นชาวตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี ประสูติในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 8 ค่ำ ปีระกา ตรงกับวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2356
บ้านเดิมอยู่บางเชิงกราน จังหวัดราชบุรี พระบิดาชื่อจัน พระมารดาชื่อสุข
เคยอุปสมบทและชำนาญในคัมภีร์มิลินทปัญหาและมาลัยสูตรมาก จึงได้ฉายาจากประชาชนว่า จันมิลินทมาลัย
ได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้สมณศักดิ์สูงสุดที่ตำแหน่งพระสมุทรมุนี แต่ภายหลังก็ลาสิกขา ไม่ปรากฏว่าสมเด็จพระสังฆราช (สา) มีนามสกุลเดิมว่าอย่างไร
ในช่วงที่พระองค์ลาสิกขามาครองเรือนมีภรรยานั้น จึงมีทายาทที่สืบเชื้อสายมาจากพระองค์นามสกุลว่า "ปุสสเด็จ" และ "ปุสสเทโว" ซึ่งทั้งสองนามสกุลนี้ยังคงมีทายาทสืบต่อกันมาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีจนถึงปัจจุบัน
ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมอยู่วัดใหม่ในคลองบางขุนเทียนบ้านหม้อ บางตนาวสี แขวงเมืองนนทบุรี ปัจจุบันคือวัดนครอินทร์ จ.นนทบุรี
เมื่อพระชนมายุได้ 14 ปี ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก แปลได้ 2 ประโยค จึงยังไม่ได้เป็นเปรียญ แต่คนเรียกกันว่า เปรียญวังหน้า ซึ่งมีที่มาของชื่อนี้ว่า ในการแปลพระปริยัติธรรมนั้น ผู้เข้าแปลครั้งแรกต้องแปลให้ได้ครบ 3 ประโยคในคราวเดียว จึงจะนับว่าเป็นเปรียญ
ถ้าได้ไม่ครบในการสอบครั้งต่อไป จะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ครั้งนั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพมีพระประสงค์ที่จะอุปการะภิกษุสามเณรที่เข้าสอบ มิให้ท้อถอย
ดังนั้นถ้ารูปใดแปลได้ 2 ประโยค ก็ทรงรับอุปการะไปจนกว่าจะสอบเข้าแปลใหม่ ได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค ภิกษุ สามเณร ที่ได้รับพระราชทานอุปการะในเกณฑ์ดังกล่าว จึงได้ชื่อว่า เปรียญวังหน้า
ต่อมา สามเณรสาได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชพำนักที่วัดสมอราย (ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร) เนื่องจากได้ยินกิตติศัพท์ว่าทรงปราดเปรื่องเรื่องภาษาบาลีจนหาผู้เทียบได้ยาก
เมื่อได้สมัครเป็นศิษย์ ก็ถ่ายทอดความรู้ภาษาบาลีให้สามเณรสา จนกระทั่งเมื่อสามเณรสาอายุได้เพียงแค่ 18 ปีก็สามารถแปลพระปริยัติธรรมได้ถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค เป็นที่อัศจรรย์ในความฉลาดปราดเปรื่องยิ่งนัก
สมัยนั้นยังแปลพระปริยัติธรรมกันด้วยปากเปล่า (หมายถึงแปลสดให้กรรมการฟัง แล้วแต่กรรมการว่าจะให้แปลคัมภีร์อะไร หน้าเท่าไหร่) เป็นที่โจษจันไปทั่วพระนคร สามเณรสาจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงสายเปรียญธรรมรูปแรกในกรุงรัตนโกสินทร์
พระองค์ได้อุปสมบท ณ วัดราชาธิวาส เมื่อปี พ.ศ. 2376โดยมีพระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) ซึ่งเป็นพระมอญเป็นพระอุปัชฌาย์ พระวชิรญาณ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า ปุสฺโส
นักวิชาการหลายท่านเข้าใจว่าสามเณรสา สอบเปรียญ 9 ประโยค ได้ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งไม่ใช่ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2379 หลังจากสอบได้แล้วและอุปสมบทแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหารตามพระวชิรญาณภิกขุซึ่งทรงย้ายจากวัดราชาธิวาสมาพำนักที่วัดบวรนิเวศวิหารตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาสา ปุสฺโส จึงเป็นสามเณรนาคหลวงสายเปรียญธรรมรูปแรกที่จำพรรษาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร เพียงแต่ไม่ได้สอบบาลีได้ในสำนักนี้เท่านั้น
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งท่านเป็นพระราชาคณะที่พระอมรโมลี ต่อมาได้ลาสิกขาไปเป็นฆราวาสอยู่ระยะหนึ่ง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชและเสด็จขึ้นครองราชย์ มีรับสั่งให้นำนายสา มาเข้าเฝ้า แล้วมีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า จะบวชอีกมั้ย นายสาก็กราบบังคมทูลว่า อยากจะบวช
พระองค์จึงได้ทรงจัดหาเครื่องอัฐบริขารให้ ท่านจึงได้อุปสมบทครั้งที่ 2 เมื่ออายุได้ 39 ปี พ.ศ. 2394 ณ พัทธสีมา วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู กรงเทพมหานคร โดยมีกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ (ต่อมาคือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ คราวนี้ได้ฉายาว่า ปุสฺสเทโว
เมื่ออุปสมบทแล้ว ว่ากันว่า ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง และทรงแปลได้หมดทั้ง 9 ประโยค จึงมีผู้กล่าวถึงพระองค์ด้วยสมญานามว่า สังฆราช 18 ประโยค
ในคราวอุปสมบทครั้งที่ 2 นี้ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระสาสนโสภณ เมื่อปี พ.ศ. 2401 รับพระราชทานนิตยภัตเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ แต่ถือตาลปัตรแฉกเสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ คนทั่วไปเรียกกันโดยย่อว่า เจ้าคุณสา
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2408 ซึ่งเป็นวัดแรกที่ตั้งขึ้นใหม่ของธรรมยุติกนิกายขึ้น แล้วโปรดให้พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐฯ
มีพระภิกษุติดตามจากวัดบวรนิเวศวิหารอีก 20 รูป ครั้งนี้ท่านได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรม  และเมื่อปี พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ สถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2422 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ
สมเด็จพระสังฆราชแก้ไข
ปี พ.ศ. 2434 ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สถิต ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จนตลอดพระชนมชีพ
ในปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ สถาปนาเพิ่มอิสริยยศให้เป็นพิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อนมา คือทรงสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ นับว่าเป็น พระมหาเถระรูปที่ 2 ที่ได้รับสถาปนาในพระราชทินนามนี้ อันเป็นพระราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อพระองค์ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2436 พระองค์ไม่ได้รับพระราชนามพระสุพรรณบัฏใหม่ คงใช้พระสุพรรณบัฏเดิม แต่ได้รับพระราชทานใบกำกับพระสุพรรณบัฏใหม่ และมีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ 16 ตำแหน่ง (ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่พิเศษ เพราะปกติจะมี 15 ตำแหน่งเท่านั้น)
พระองค์ได้แต่งหนังสือเทศน์ขึ้นไว้ สำหรับใช้อ่านในวันธรรมสวนะปกติ และในวันบูชา แต่งเรื่องปฐมสมโพธิ์ย่อ 3 กัณฑ์จบ สำหรับถวายเทศน์ในวันวิสาขบูชา 3 วัน ๆ ละ หนึ่งกัณฑ์ และเรื่องจาตุรงคสันนิบาตกับโอวาทปาติโมกข์สำหรับถวายในวันมาฆบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
งานพระนิพนธ์ของพระองค์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นงานแปลพระสูตรที่มีอยู่ 20 สูตร หนังสือเทศนามี 70 กัณฑ์ และเบ็ดเตล็ดมี 5 เรื่อง
ในปี พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งแต่เดิมจารึกไว้ด้วย อักษรขอม ด้วยการจารลงในใบลาน มาเป็นการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านแทน
สมเด็จพระสังฆราช (สา) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่น เป็นรองอธิบดี จัดการทั้งปวงในการสังคายนาครั้งนี้ พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ มีจำนวน 1000 จบ ๆ ละ 39 เล่ม ใช้เงิน 2,000 ชั่ง พิมพ์เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2436 เป็นที่เลื่องลือแพร่หลายไปทั่วโลก
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ประชวรด้วยพระโรคบิดมาตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม แพทย์หลวงและแพทย์เชลยศักดิ์ต่างจัดพระโอสถถวาย แต่พระอาการไม่ทุเลา
สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2442 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2443) เวลาเย็นวันต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ จากพระราชวังบางปะอินมายังวัดราชประดิษฐฯ พระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ร่วมสรงน้ำพระศพ แล้วอัญเชิญพระศพลงในพระลองในประกอบโกศกุดั่นน้อย ทรงสดับปกณณ์แล้วเสด็จกลับ
พระศพตั้งบำเพ็ญกุศลจนถึงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2443 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2444) จึงอัญเชิญพระบุพโพไปพระราชทานเพลิง ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมกับพระบุพโพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 จึงแห่พระศพไปประดิษฐานยังพระเมรุมณฑป ณ ท้องสนามหลวง แล้วพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ 13 กุมภาพันธ์
เช้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จึงเสด็จฯ มาเก็บพระอัฐิและพระอังคารแล้วโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดราชประดิษฐฯ
หลังจากสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยตลอดรัชสมัย เป็นเวลาถึง 11 ปี
ลำดับที่ 10
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้รับมหาสมณุตตมาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2453 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงพระอิสริยยศ 11 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2464 พระชันษา 61 ปี
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาแพ
ประสูติเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2403 ในวันที่พระองค์ประสูตินั้นฝนตกหนักมากราวกับฟ้ารั่ว เหมือนนาคให้น้ำบริเวณนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ
ต่อมา เจ้าจอมมารดาแพถึงแก่กรรมลงในขณะที่พระองค์มีพระชันษาเพียง 1 ปี พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉา จึงทรงรับไปเลี้ยงดู เมื่อทรงเจริญวัยทรงพระดำเนินได้ รับสั่งได้คล่องแคล่ว จึงเสด็จพำนักอยู่กับท้าวทรงกันดาล (ศรี) ซึ่งเป็นยายแท้ ๆ
เมื่อพระชันษาได้ 8 ปี ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนผนวชเป็นสามเณร นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาอังกฤษและโหราศาสตร์ อีกด้วย
ปี พ.ศ. 2416 เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และหม่อมเจ้าพระธรรมมุณหิศธาดา (สีขเรศ วุฑฺฒิสฺสโร) ทรงเป็นผู้ประทานศีล 10 หลังจากทรงบรรพชาแล้วได้ประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ประมาณ 2 เดือน จึงทรงลาผนวช
ครั้นครบปีบวช (พระชันษา 20 ปี) ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2422 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ และพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระองค์ได้ทรงปรับปรุงการพระพุทธศาสนา และทางคณะสงฆ์ในด้านต่าง ๆ เป็นอันมากโดยเริ่มงานตั้งแต่เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่าง ๆ เกือบทั่วราชอาณาจักร โดยกระทำอย่างต่อเนื่องทุกปีเกือบ ตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งพอสรุปได้คือ
ด้านการพระศาสนา พระองค์ได้พัฒนาภิกษุสามเณร ให้มีความรู้ความสามารถในพระธรรมวินัย เพื่อจะได้แนะนำสั่งสอนประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทรงผลิตตำราและหนังสือทางพระพุทธศาสนา ที่คนทั่วไปสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย
ด้านการคณะสงฆ์ ทรงออกพระมหาสมณาณัติ ประทานพระวินิจฉัยและทรงวางระเบียบ แบบแผน เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรในด้านต่าง ๆ ให้ถูกต้องเป็นมาตรฐาน เช่น ระเบียบเกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์ การบรรพชาอุปสมบท การปกครองภิกษุสามเณรและศิษย์วัด การวินิจฉัยอธิกรณ์ ระเบียบเกี่ยวกับ สมณศักดิ์ พัดยศ นิตยภัต ดวงตราประจำตำแหน่ง เป็นต้น
ด้านการศึกษา ทรงปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันสมัย ทรงจัดการศึกษาพระปริยัติ ธรรมเพิ่มขึ้นจากแบบเดิมที่ศึกษาภาษาบาลี โดยให้ศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทยเรียกว่า หลักสูตร นักธรรม
งานพระนิพนธ์ พระองค์ทรงรอบรู้ภาษาต่าง ๆ หลายภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก เช่น หนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก หลักสูตรบาลี ไวยากรณ์ทั้งชุด รวมพระนิพนธ์ทั้งหมดมีมากกว่า 200 เรื่อง นอกจากนี้ยังทรงชำระ คัมภีร์บาลีไว้กว่า 20 คัมภีร์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าประชวรด้วยวัณโรค มีพระอาการเรื้อรังมานานนับสิบปี จนกำเริบรุนแรงเกินกว่าความสามารถของแพทย์หลวง ในที่สุดสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2464 สิริรวมพระชันษาได้ 61 ปี ครองวัดบวรนิเวศวิหารนาน 30 ปี ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ 10 ปี 7 เดือน
อ้างอิง
เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑
เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑
ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 8
ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์สมเด็จพระสังฆราช, เล่ม 16
ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชทานเพลิงพระบุพโพ พระเจ้าบรมวงษเธอกรมสมเด็จพระปวเรศวรวริยาอลงกรณ์ แลสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม 17
ราชกิจจานุเบกษา, การพระศพสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม 17
โฆษณา