12 ก.ค. 2019 เวลา 14:41 • ธุรกิจ
ทำไมคนเราถึงหวัง ว่าจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง...
มาจากทฤษฎี Neglect of Probability (การมองข้ามความเป็นไปได้)
ถ้ามีเกมเสี่ยงโชคอยู่สองเกม คุณจะเล่นเกมไหน
เกมแรกมีรางวัล 10 ล้านยูโร
ส่วนเกมที่สองมีรางวัล 10,000 ยูโร
ความเป็นไปได้ในการชนะเกมแรกอยู่ที่ 1 ใน 100 ล้าน ส่วนเกมที่สองอยู่ที่ 1 ใน 10,000 ถ้าเป็นคุณคุณจะเลือกเล่นเกมไหน?
บอกได้เลยว่าอารมณ์ความรู้สึกจะผลักดันให้เราเล่นเกมแรก ทั้งที่หากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วความเป็นไปได้ที่จะชนะเกมสองมีมากกว่าเกมแรกถึงสิบเท่า
พูดง่ายๆก็คือไม่ว่าโอกาสชนะจะมีน้อยแค่ไหน คนเราก็มักจะเลือกเกมที่มีรางวัลใหญ่กว่าเสมอ
ลองมาดูการทดลองสุดคลาสสิกในปี 1972
ผู้เข้าร่วมการทดลองถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม ทั้งสองกลุ่มได้รับแจ้งว่าจะถูกช็อตด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ โดยกลุ่มA จะถูกช็อตหนึ่งครั้ง ส่วนกลุ่ม B จะมีโอกาสถูกช็อตแค่ 50%
ก่อนเริ่มการทดลอง นักวิจัยได้วัดระดับความเครียดของผู้เข้าร่วมการทดลองแบบคร่าวๆ (เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความกังวลกระวาย และปริมาณเหงื่อที่ไหลออกมา)
เมื่อเสร็จสิ้นการทดลอง ผลลัพธ์ที่ได้น่าตกใจทีเดียว นั่นคือ ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งสองกลุ่มมีระดับความเครียดเท่ากัน นักวิจัยจึงค่อยค่อยๆลดการถูกช็อตของกลุ่ม B จาก 50% เป็น 20% แล้วก็ 10% และ 5% ตามลำดับ
ปรากฏว่าระดับความเครียดของผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งสองกลุ่มก็ยังเท่ากันอยู่ดี!
แต่เมื่อนักวิจัยแจ้งว่าจะเพิ่มความแรงของกระแสไฟฟ้า ระดับความเครียดของทั้งสองกลุ่มกับเพิ่มขึ้น แถมยังเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกันด้วย นั่นหมายความว่าคนเราตอบสนองต่อความรุนแรง(ขนาดของรางวัลหรือความแรงของกระแสไฟฟ้า) แต่ไม่ตอบสนองต่อความเป็นไปได้ พูดง่ายง่ายว่าคนเรามองข้ามความเป็นไปได้โดยไม่รู้ตัว
การมองข้ามความเป็นไปได้จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด คนเราลงทุนกับบริษัทตั้งใหม่ก็เพราะมองเห็นโอกาสที่จะได้ทำเงินก้อนโตในเวลาสั้นๆ แต่ลืมคิดไปว่าโอกาสที่บริษัทตั้งใหม่จะประสบความสำเร็จได้นั้นมีอยู่เพียงน้อยนิด
การยกเลิกแผนการเดินทางหลังจากเห็นข่าวเครื่องบินตกก็เช่นกัน เรารีบยกเลิกเที่ยวบินทั้งที่ยังไม่ได้พิจารณาให้ดีว่าความเป็นไปได้ที่เครื่องบินจะตกนั้นมีอยู่น้อยแค่ไหน (ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังข่าวโศกนาฏกรรมเครื่องบินตก ความเป็นไปได้ที่เครื่องบินจะตกก็ยังเท่าเดิม)
ในกรณีของการลงทุน นักลงทุนมือสมัครเล่นส่วนใหญ่จะพิจารณาที่ผลตอบแทนเป็นหลัก พวกเขามองว่าการลงทุนในหุ้น Google ซึ่งให้ผลตอบแทน 20% ย่อมดีกว่าการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 10% เป็นสองเท่า แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป พวกเขาจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของการลงทุนทั้งสองแบบด้วย
แต่ก็อย่างที่ได้บอกไปว่าคนเรามักมองข้ามความเป็นไปได้โดยไม่รู้ตัว การประเมินความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่แทบไม่ให้ความสำคัญเลย
ทีนี้ลองย้อนกลับไปที่การทดลองกันอีกรอบ นักวิจัยค่อยๆ ลดความเป็นไปได้ที่กลุ่ม B จะถูกไฟฟ้าช็อตให้น้อยลงไปอีกจาก 5% เป็น 4% และ 3% ตามลำดับ
แต่ระดับความเครียดของผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งสองกลุ่มก็ยังเท่ากันอยู่ดี ทั้งๆ ที่กลุ่ม B มีโอกาสถูกไฟฟ้าช็อตต่ำกว่ากลุ่ม A เป็นอย่างมาก ต้องรอให้ความเป็นไปได้เหลือ 0% (ซึ่งแปลว่าไม่มีทางทุกช็อตแน่) ระดับความเครียดของพวกเขาจึงลดต่ำกว่ากลุ่ม A
ดังนั้นสำหรับมนุษย์แล้ว ความเสี่ยง 0% ดูเข้าท่ากว่าความเสี่ยง 1% อย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่จริงๆแล้วมันแทบไม่ต่างกันเลย
สรุปก็คือ คนเราแยกแยะระดับความเป็นไปได้ในเรื่องต่างๆได้ไม่ดีนัก นอกเสียจากว่ามันจะลดลงจนเป็นศูนย์เท่านั้น ถ้าเป็นไปได้คุณก็ควรใช้การคำนวณเข้ามาช่วยเพื่อให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น
ขอบคุณแหล่งที่มา
จากหนังสือ ‘52 วิธีคิดให้ได้อย่างเฉียบคม’ หนังสือขายดีอันดับหนึ่งจากเยอรมันนีโดยนักเขียนชื่อดังระดับโลก Rolf Dobelli
โฆษณา