13 ก.ค. 2019 เวลา 01:52 • การศึกษา
ตอนที่ 64 ข้อควรรู้เกี่ยวก้บไข้เลือดออก (1)
ช่วงนี้หน้าฝน ยุงชุม โรคที่มากับยุงอย่างไข้เลือดออกกำลังระบาด เราควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับไข้เลือดออก มาดูกันฮะ (ขอแบ่งเป็น 2 ตอนนะฮะ)
ไข้เลือดออกนั้นเกิดจากไวรัสไข้เลือดออก หรือเรียกว่า ไวรัสเดงกี (Dengue) โดยเรารับเชื้อจากยุงลายที่มีเชื้อในตัว หลังจากรับเชื้อแล้วปจะมีระยะฟักตัวระมาณ 5-8 วันแล้วเกิดอาการไข้สูง ปวดเมื่อเนื้อตัว ปวดศีรษะ เรียกว่า "ระยะไข้" ซึ่งอาการในช่วงนี้จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่อย่างมากฮะ ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาคือการติดตามอาการและประคับประคองเท่านั้น
ระยะไข้นี้จะกินเวลาประมาณ 2-7วัน จากนั้นจะเข้าสู่ระยะไข้ลงซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงได้ในบางราย เนื่องจากระยะไข้เป็นระยะที่อาการจะไม่รุนแรงมากดังนั้นเราจึงสามารถดูแลอาการที่บ้านไปก่อนได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะฮะว่าไข้กำลังจะลง (เพื่อจะได้เฝ้าระวังระยะอันตราย) การคาดการณ์สามารถทำได้โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจนับเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด นอกจากนี้อีกวิธีหนึ่งคือการใช้แถบยางของเครื่องวัดความดันรัดที่แขนเพื่อตรวจหาจุดเลือดออก ในกรณีที่ผลยังไม่ชัดเจนแพทย์อาจนัดมาทำซ้ำทุก 1-3 วันขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละรายฮะ
ระยะไข้ลงเกิดในราววันที่ 3-5 โดยอาจจะแบ่งย่อยได้เป็น 2 ลักษณะ กลุ่มหนึ่งนั้นไม่มีอาการอะไร เมื่อไข้ลงผู้ป่วยก็จะดีขึ้นเราเรียกว่า "ไข้เดงกี" (Dengue fever) แต่ในผู้ป่วยอีกกลุ่ม (โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยติดไวรัสเดงกีมาก่อนแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง) จะเกิดอาการรุนแรงจากปฏิกิริยาภูมิต้านทานของร่างกาย กลุ่มนี้ละฮะที่เราจะเรียกว่าเป็น "ไข้เลือดออก" ของจริง (Dengue hemorrhagic fever) ในผู้ป่วยไข้เลือดออกนี้เมื่อไข้ลงผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า "ระยะวิกฤต" ซึ่งจะเกิดการรั่วของน้ำเหลืองออกนอกหลอดเลือด ในบางรายเกร็ดเลือดอาจจะต่ำลงอย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดเลือดออกตามที่ต่างๆ ในกรณีที่ไม่รุนแรงมากแพทย์จะให้นอนโรงพยาบาลและสังเกตอาการ ตรวจเลือดเป็นระยะ ประกอบกับให้น้ำเกลือในปริมาณที่เหมาะสม แต่ในรายที่รุนแรงมาก (ผู้ป่วยส่วนน้อย) และพบว่ามีเลือดออก ความดันตก จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด บางรายอาจต้องนอน ICU เลยฮะ ตามปกติเรามักประคับประคองผู้ป่วยไข้เลือดออกได้สำเร็จและผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว แต่ก็มีส่วนน้อยมาก (ย้ำว่าส่วนน้อยมากนะฮะ!) ที่โรครุนแรงมากจนผู้ป่วยเสียชีวิตได้
เมื่อพ้นระยะวิกฤต ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น เริ่มอยากอาหาร บางรายอาจมีผื่นแดงโดยเฉพาะบริเวณขา หลังจากพ้นระยะนี้ผู้ป่วยก็จะหายดีในที่สุด
เนื่องด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากรสาธารณสุข เราไม่สามารถให้ผู้ป่วยทุกรายนอนโรงพยาบาลได้ทั้งหมด ดังนั้นผู้ป่วยที่ยังมีไข้อยู่จะได้รับคำแนะนำให้ดูแลตนเองที่บ้าน แต่จะต้องคอยสังเตอาการเตือนที่สำคัญ ที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยอาจเป็นไข้เลือดออกรุนแรงที่เข้าสู่ระยะวิกฤต หลักการง่ายๆ คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ "ไข้ลง แต่อาการแย่" เมื่อนั้นให้รีบกลับไปพบแพทย์โดยด่วนฮะ! สำหรับอาการต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงภาวะรุนแรงก็ได้แก่ อาเจียนมาก ปวดท้อง ซึมลงหรือกระสับกระส่าย ชักเกร็ง มือเท้าเย็นซีด หมดสติ เป็นต้น ถ้าเจอแบบนี้ให้รีบไปห้องฉุกเฉินได้เลยฮะ!
การดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้นในแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นการรตัดสินใจเจาะเลือด นัดตรวจ หรือให้นอนโรงพยาบาลอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ในรายที่มีความเสี่ยงแพทย์อาจให้นอนโรงพยาบาลเลยตั้งแต่ช่วงแรกๆ ในรายที่อาการไม่แน่ชัด วินิจฉัยยาก แยกจากโรคอื่นยากแพทย์อาจทำการตรวจหาหลักฐานของเชื้อไวรัสในเลือดเป็นรายๆ ไปฮะ
การป้องกันไข้เลือดออกโดยการป้องกันยุงกัด ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับโรคนี้ ในตอนหน้าเรามาต่อเนื้อหาส่วนที่เหลือกันนะฮะ อ้อ! บอกไว้ก่อนเลยว่าฝึกฝนสายตาไว้ให้ดี ตอนหน้ามีอะไรสนุกๆ ให้มองหาฮะ!
"เรื่องหมอง้ายง่ายกับมะไฟ" ตีพิมพ์เป็นคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ทุกวันศุกร์ สามารถติดตามได้ทั้งในหนังสือ และทาง Facebook & Blockdit “มะไฟ” ฮะ!
(สามารถโหลด app ได้ทั้ง iOS และ Android จากนั้น search หาชื่อ “มะไฟ” ได้เลยฮะ แล้วก็อย่าลืมกด follow เป็นอันเสร็จ!)
โฆษณา