17 ก.ค. 2019 เวลา 00:54 • ไลฟ์สไตล์
เที่ยวเมืองขแมร์ ตอนจบ
เช้านี้ตื่นสายหน่อย ได้พักเต็มที่หลังจากที่ลุยมาเสียหลายวัน ถึงเวลาที่จะ กลับบ้านแล้ว
มีการเปลี่ยนแผนนิดหน่อย ผมต้องเดินทางกลับคนเดียว เพราะมีงานด่วน ทีมงานกลับพรุ่งนี้
ซึ่งวันนี้ก็กะไว้ว่าจะถึงด่านค่ำสักหน่อย เพราะยังเหลือที่ ที่ผมอยากไปอีกคือ ชุมชนเวียดนามที่ “โตนเลสาบ”
ออกจากโรงแรมสายนิดหน่อย เพราะว่าต้องเก็บของ และ อยากตื่นสายบ้าง
เราฝากท้องไว้ที่ ร้านอาหารเล็กๆ หน้าตลาด “ซาเจ๊ะ” กะว่าจะทานเพียงรองท้องเท่านั้น
เพราะเป้าหมายผมอยู่ที่ ร้านอาหารแถว "โตนเลสาบ"
ผมดูเมนูแล้วก็พอเข้าใจ เพราะที่นี่เมนูเป็นภาษาอังกฤษ ราคาอาหารชุด หรือ จานก็ประมาณ 2 เหรียญ อึ่มพอฟัง!! ดูในเมนูแล้วมีก๋วยเตี๋ยว
ราคาพอฟังนะครับ
ใจอยากกินเกาเหลาซดร้อนๆ ปัญหาคือ เกาเหลา ภาษาอังกฤษ มันเรียกว่าอะไรวะ จะทับศัพท์ก็คงจะงงน่าดู พี่อ๊อด ก็ไปเลื่อนรถ
ทีมงานถ่ายรูปอยู่ ผมอยู่ตัวต่อตัวกับแม่ค้า เห็นเมนูเขียนมา
“White Noodle Soup With Pork”
ดูแล้วน่าจะเป็น ก๋วยเตี๋ยวเส้นขาวหมู
ผมก็เลยสั่ง
“White Noodle Soup With Pork One!! But No Noodle Pls!”
แปลตามที่ผมเข้าใจว่า
“ก๋วยเตี๋ยวหมี่ขาวหมู 1 ชาม แต่ไม่เอาเส้น”
แม่ค้าทำหน้า งงๆ แล้วเดินจากไป แล้วที่ผมได้มา ก็ตามภาพ เหมือนเก่าเหลาเซียงจี้เป๊ะ!!!! ฮาฮาฮา รอดตาย
เกาเหลาเขมร
ทีมงานผม สั่งข้าวไข่เจียว เพราะคิดไม่ออก พอยกมาเสริฟ ฮาฮาฮา บานเต็มจานเลย แต่ก็อิ่มมาก
ไข่เจียวเขมร
“ตลาดซาเจ๊ะ”น่าจะเป็นการออกเสียงแบบไทย เพราะผมสังเกตคนที่นี่เรียก “ซาจัส” ภาษาอังกฤษหน้าตลาดเขียนว่า Psah Chas Market เลยไม่แน่ใจว่าเรียกอย่างไร
ในการซื้อขายก็เป็นแบบตลาดของฝากทั่วไป คือ ต่อได้ต่อ เพราะราคาบอกผ่านสูงมาก ข้อดีของการซื้อขายที่นี่คือแม่ค้ามีเงินไทยไว้ทอน
ดังนั้นเราก็ต่อรองเป็นบาทได้แบบไม่งง บางร้านแม่ค้าพูดไทยได้ก็ต่อได้มันส์หน่อย
ร้านของฝาก
ได้ของฝากบ้างแล้ว เราก็เดินทางไป โตนเลสาบ
โตนเลสาบ เป็นเหมือนแอ่งกะทะขนาดใหญ่ที่รองรับน้ำจากแม่น้ำหลายสิบสาย
มีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายหลัก อาชีพหลักของคนที่นี่ก็จะมีประมง และ การปลูกพืชการเกษตร
เป้าหมายของผมสำหรับที่นี่คือ “ประฮ็อก” หรือ ปลาร้า เขมร ภูมิปัญญาในการถนอมอาหารของผู้คนในย่านนี้
เรามุ่งหน้าสู่ถนนเล็กๆ ในชุมชนโตนเลสาบ ภายในจะมีร้านอาหารเรียงรายอยู่มาก ดูไปก็เหมือน ร้านส้มตำปลาเผาบ้านเรา
ทางเข้าชุมชน
พอลงรถผมก็พบเด็กเสริฟสุดเท่ห์ นามว่า “เหวิน” อายุ 13 ปี แต่งตัวเสื้อเหน็บในรองเท้าหนัง เป็นลูกเจ้าของร้าน ท่าทางคล่องแคล่ว ที่สำคัญ เหวิน พูดภาษาอังฤษได้ แม้จะไม่คล่องนักแต่อายุเท่านี้ผมว่าเก่งมาก
เค้าถามผมว่าจะกินอะไรพร้อมกับยื่นเมนูให้ ผมก็ยิ้มๆ แล้วชี้มือไปทางพี่อ๊อด เพราะเมนูเป็นภาษาเขมรล้วน
แต่ก็ไม่วายสั่ง "อังกอ ตึกเกาะ" ฮาฮาฮา สำเร็จทุกร้านได้เบียร์มากินรอ
อังกอ ตึกเกาะ ครับ
พี่อ๊อด เลือกเมนูมาให้ผม สองสามอย่างมีไก่ย่าง และกุ้งผมว่าน่าจะอบนะเป็นกุ้งตัวเล็กๆ ที่สำคัญมี “ประฮ็อก” เป็นน้ำจิ้มด้วย
ผักกินกับร้านนี้ก็มีกลิ่นไอของเวียดนามมาพอสมควรคือ มีผักแพวมาแบบกินสดด้วย (ผักแพวที่ใส่ซั่วงูสิงห์น่ะ)
รสชาดอาหารถือว่าใช้ได้เลยครับ แต่เรามีเวลาไม่มากนักเพราะด่านปิดสองทุ่ม ผมต้องนั่งรถไปอีก ร้อยกว่ากิโลจึงต้องรีบกินรีบไป
อาหารที่สั่ง เหมือนบ้านเราเลย
ประฮ๊อก
ผมและพี่อ๊อด ออกเดินทางต่อไปที่ด่านชายแดนกันสองคน ก่อนออกเดินทางมีข้าวจี่ หรือ ดูอีกทีก็น่าจะเป็นข้าวเหนียวปิ้งเขมร ห่อเท่าแขนมีใส้เป็นถั่วล้างปากก่อนกลับ
ข้าวต้มเขมร
ระหว่างทางผมก็ไม่วายที่จะแวะชมธรรมชาติ และ ร้านขายของแบบบ้านๆริมถนน ตรงโค้งก่อนถึง จ.อุดรมีชัย ที่มีสินค้าประเภทของแห้ง เช่น ปลาแห้ง งูตากแห้ง หนอนไหมและ แมลงทอดผมถือว่าพอได้เป็นกับแกล้มระหว่างทาง
ทางแยก อุดรมีชัย มีของกินอร่อย
จะว่าไปแล้ว เขมรกับไทย มีความใกล้เคียงกันมาก หากไม่มองเงื่อนไขต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเมือง การปกครอง ภาษา ในการใช้ชีวิตในประเทศนี้ ผมกล้าบอกได้เลยว่า ไม่ต้องปรับตัวอะไรมากสำหรับการกินอยู่ หิวที่ไหนมีขายก็จอดกินได้สบาย
วิถีชีวิตดังเดิมของคนที่นี่มีเสน่ห์และงดงามอยู่มาก หากแต่ปัจจุบันกระแสการเคลื่อนตัวของโลกไปไวมากเสียเหลือเกิน จนทำให้การใช้ชีวิตดั้งเดิมกำลังจางหายไปอย่างเช่นบ้านเราก็เป็นได้
ผมถึงด่านแบบเฉียดฉิวประมาณทุ่มนิดๆ มีเวลาแวะไปซื้อของฝากที่ “กาสิโนโอเสม็ด” ได้อีกนิดหน่อยก่อนด่านจะปิด
พี่อ๊อด
ผมโบกมือลา กัมพูชาและพี่อ๊อด พลขับตีนผี ในเวลาสองทุ่มตรงพอดีที่ฝั่งไทย
รู้สึกอุ่นใจไม่น้อยที่ได้กลับบ้าน บ้านที่เป็นเมืองเกิดของเรา
ทางเข้าด่านชายแดนไทย
ผมสัญญากับตัวเองว่า หากมีโอกาสจะกลับมาอีก ขอบคุณทุกท่าน ที่ติดตามการเดินทาง ในทริปนี้ของผมนะครับ สวัสดีครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา