14 ก.ค. 2019 เวลา 11:30 • ธุรกิจ
‘’ปัจจัยทางจิตวิทยา’’ มาจากไหน??
ปัจจัยทางจิตวิทยา เป็นปรากฏการณ์ ‘’ปัจจัย X ‘’ ที่ค้นพบจากการทดลองที่โรงงานฮอว์ธอร์น
การค้นพบนี้เกิดในปี 1928 ที่โรงงานฮอว์ธอร์น ของบริษัทเวสเทิร์น อิเล็คทริค ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองชิคาโก
บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ได้ทำการทดลองด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเหล่าคนงานหญิงที่ทำหน้าที่ประกอบมอเตอร์ไฟฟ้า พวกเขาเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบประวัติของคนงานหญิงหลายร้อยคนในโรงงาน จากนั้นเลือกคนงานกลุ่มเล็กๆมาเป็นกลุ่มทดลอง และบอกพวกเธอว่าได้รับการคัดเลือกเพราะมีประวัติการทำงานที่ดีเยี่ยม พร้อมทั้งอธิบายว่า พวกเขากำลังมองหาวิธีเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน โดยจะปรับเปลี่ยนปัจจัยต่างๆ ของสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อสังเกตว่าปัจจัยใดมีอิทธิพลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของผลผลิตมากที่สุด
ในช่วงสองถึงสามสัปดาห์ต่อมา พวกเขาเริ่มต้นการทดลองด้วยการเพิ่มระดับแสงสว่างในพื้นที่ประกอบมอเตอร์ไฟฟ้า ปรากฏว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร จากนั้นพวกเขาก็ลดระดับแสงสว่างลง แต่กลับต้องประหลาดใจที่พบว่าผลผลิตยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในแต่ละวันอยู่ดี
ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนจะอธิบายไม่ได้นี้ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อพวกเขาเพิ่มและลดระดับอุณหภูมิ เพิ่มและลดระดับเสียง ตลอดจนเพิ่มและลดระดับกลิ่นต่างๆที่อบอวลอยู่ในโรงงาน ปรากฏว่า ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร ผลผลิตล้วนเพิ่มขึ้นเหมือนกันหมด
เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง เหล่านักวิจัยไม่สามารถทำความเข้าใจกับผลการทดลองที่ออกมาได้เลย เพราะมันไม่ได้อยู่บนฐานของการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์เลย สุดท้ายนักวิจัยคนหนึ่งได้เอ่ยขึ้นมาว่า ‘’ทำไมเราไม่ลองถามคนงานหญิงพวกนี้ดูล่ะ ว่าพวกเธอมีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้’’
การค้นพบอันน่าทึ่ง!!
ภายหลังจากการพูดคุยและตั้งคำถามคนงานกลุ่มนี้ พบว่า พวกเธอรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘คนสำคัญ’ เพราะได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการทดลอง พวกเธอรู้สึกว่าผู้บริหารยกย่องชื่นชมและเห็นคุณค่าของพวกเธอ ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้รับคัดเลือกยังเห็นตรงกันว่า พวกเธอมีอะไรบางอย่างที่เหนือกว่าลูกจ้างทั่วไปในโรงงาน
ด้วยเหตุนี้เอง ทุกครั้งที่นักวิจัยปรับเปลี่ยนปัจจัยบางอย่างในโรงงาน มันจึงเหมือนเป็นการย้ำเตือนว่าเธอเป็นคนพิเศษ แตกต่าง และทำงานได้ดีกว่า ดังนั้นพวกเธอจึงทำงานนานกว่า หนักกว่า และเหนือกว่าตลอดจนอุทิศตัวเพื่อทำงานให้ดีขึ้น และคอยมองหาวิธีปรับปรุงการทำงานอยู่ตลอดเวลา
ในที่สุดบรรดานักวิจัยก็เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ’’ปัจจัย x’’ ซึ่งในเวลาต่อมาก็กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ’’ปัจจัยทางจิตวิทยา’’ พวกเขาสรุปว่า การกระตุ้นความคิดความรู้สึกและอารมณ์มีพลังจูงใจให้คนเราทำงานได้ดีขึ้นมากกว่าการปรับเปลี่ยนปัจจัยทางกายภาพภายในโรงงาน
ขอบคุณแหล่งที่มาจากหนังสือ ‘’ใช้คน 2 คน ให้ได้ผลเท่า 7 คน’’
โฆษณา