15 ก.ค. 2019 เวลา 03:13 • ธุรกิจ
ไม่นานเกินรอ! แบงก์เร่งทดสอบ e-KYC ก่อนใช้จริง
ปัจจุบันการเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบและยืนยันตัวตน เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าที่มาเปิดบัญชีเป็นบุคคลนั้นจริง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารใช้วิธีการตรวจสอบโดยใช้พนักงานเทียบใบหน้าลูกค้ากับบัตรประชาชน ซึ่งบางครั้งก็มีความคลาดเคลื่อนเพราะรูปภาพกับตัวจริงมีความแตกต่างกัน เช่น อ้วนขึ้น ผอมลง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมีความพยายามที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อยกระดับการตรวจสอบยืนยันตัวตนให้มีความแม่นยำมากขึ้น ลดความผิดพลาด เทคโนโลยีที่ว่าคือ การใช้ Biometrics หรือการนำข้อมูลทางชีวภาพมาใช้ในการพิสูจน์ตัวตน ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเภท เช่น การใช้ลายนิ้วมือฝ่ามือ เสียง ม่านตา ใบหน้า เป็นต้น
1
สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำหรับในภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์เริ่มทดลองนำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) มาช่วยในกระบวนการรู้จักลูกค้า ที่เรียกว่า Know Your Customer หรือการทำ KYC เมื่อลูกค้ามาขอเปิดบัญชีกับธนาคาร
ทั้งนี้ เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า หรือ Facial Recognition คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการระบุและพิสูจน์ตัวตนบุคคล โดยการเปรียบเทียบรูปแบบ โครงสร้าง และจุดมิติต่างๆ ของใบหน้าบุคคลกับรูปภาพใบหน้าในฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น รูปภาพในบัตรประชาชน/หนังสือเดินทาง ซึ่งมีผลความแม่นยำค่อนข้างสูงในการยืนยันตัวตนที่ถูกต้อง
“เหตุผลที่ธนาคารพาณิชย์เลือกใช้เทคโนโลยี Facial Recognition เพราะมีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับเปรียบเทียบ เช่น บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง สะดวกในการใช้งาน เพราะ Smartphone หรือ Tablet ในปัจจุบันมีคุณภาพสูงที่สามารถรองรับการทำ Facial Recognition ได้มีความถูกต้องแม่นยำสูงในการพิสูจน์ตัวตน“
ซึ่งในการทดสอบได้ให้ความสำคัญใน 3 ด้านหลักคือ ด้านเทคโนโลยีในเรื่องประสิทธิภาพความถูกต้อง (Accuracy) ของเทคโนโลยี, ความพร้อมใช้งานของระบบ (System Availability) และมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์
ส่วนด้านการบริหารความเสี่ยง ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัว (Data Security & Privacy) จะมีเรื่องธรรมาภิบาลของข้อมูล หรือ Data Governance ที่ต้องรัดกุม โดยเฉพาะการดูแลข้อมูลของลูกค้า และ Legal Risk ซึ่งรวมถึงกระบวนการได้มา การเก็บรักษา และการใช้ไปของข้อมูลที่ลูกค้าต้องยินยอม
ขณะที่การดูแลคุ้มครองลูกค้า จะเตรียมความพร้อมพนักงานสาขา/Call Center ในการชี้แจงและแก้ปัญหาให้ลูกค้า รวมไปถึงกระบวนการสื่อสารแก่ลูกค้า การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ลูกค้าในการใช้บริการ อย่างไรก็ดี ประโยชน์ต่อลูกค้าจะเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ป้องกันการถูกปลอมแปลงหรือถูกสวมรอยโดยบุคคลอื่น และเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
“ปัจจุบันมีธนาคารที่อยู่ระหว่างทดสอบการใช้ Biometrics ในการทำ KYC ใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. จำนวน 10 แห่ง และมีผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) ที่อยู่ระหว่างการทดสอบด้วยการทดสอบใน Sandbox ดูเรื่องการถูกต้องแม่นยำ ความปลอดภัย กระบวนการที่สาขาและการดูแลลูกค้า ซึ่งธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปทดลองที่สาขาธนาคาร สำหรับการเริ่มให้บริการขึ้นอยู่กับความพร้อมของธนาคารแต่ละแห่งทั้งด้านเทคโนโลยี และการเตรียมการให้บริการลูกค้าในวงกว้าง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสามารถทยอยเปิดให้บริการในวงกว้างได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้”
2
กสิกรไทยใช้ Face Recognition เปิดบัญชี 958 สาขาทั่วประเทศ
ศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการนำเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (Face Recognition) มาช่วยการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (e-KYC) ที่สาขาของธนาคาร 958 สาขาทั่วประเทศ โดยนำร่องใช้สำหรับบริการเปิดบัญชีเงินฝากที่สาขาของธนาคาร เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยและความแม่นยำในการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าของพนักงานสาขา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการสวมตัวตนเพื่อเปิดบัญชีของอาชญากร ทั้งนี้ การให้บริการดังกล่าวอยู่ในโครงการ Regulatory Sandbox กับธนาคารแห่งประเทศไทย จากผลการทดสอบพบว่า ระบบมีการตรวจสอบที่แม่นยำเป็นที่น่าพอใจ โดยเป้าหมายการพัฒนา คือ ธนาคารมีกระบวนการใช้งานระบบได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ มีประสิทธิภาพ จนสามารถกำหนดให้ขั้นตอนการถ่ายภาพและพิสูจน์ตัวตนด้วยเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้าเป็นมาตรฐานในการทำธุรกรรม
1
เทคโนโลยี e-KYC ปัจจุบันมีการนำ Technology Biometrics หรือ วิธีการใช้ข้อมูลทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเฉพาะทางกายภาพหรือพฤติกรรม มาใช้ในการตรวจสิทธิหรือแสดงตน เช่น ลายนิ้วมือ Fingerprint Identification, เสียง Voice Analysis, ม่านตา Iris Scan, ใบหน้า Face Recognition, และอื่นๆส่วนเทคโนโลยี e-KYC อื่น นอกเหนือจาก Biometrics เช่น NFC ( Near Field Communication) หรือ เทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลแบบไร้สายด้วยคลื่นความถี่ในระยะใกล้ สำหรับใช้อ่านข้อมูลจากพาสปอร์ต สำหรับลูกค้าชาวต่างชาติ”
นายศีลวัตกล่าวอีกว่า การทำ E-KYC จะเปลี่ยนแปลงวิธีการรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC-Know your customer) จากเดิมที่ต้องมาเจอหน้ากันที่สาขาลูกค้าต้องกรอกแบบฟอร์ม และลงลายมือชื่อ ต่อไปธนาคารจะใช้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในกระบวนการดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนกระบวนการ การทำงานที่เคยทำกันมา 30-40 ปี เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องปรับทั้งระบบและปรับคน แต่ก็สร้างประโยชน์อย่างมหาศาลในระยะยาวแน่นอน
“การรู้จักตัวตนของลูกค้ารูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการทำธุรกรรมเปิดบัญชีประเภทต่างๆ กับธนาคาร โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลังจากประชาชนทำ E-KYC กับธนาคารแล้ว จะได้รับ Digital Identity เพื่อใช้งานในอนาคตผ่าน Mobile Banking โดยจากเดิมที่ใช้แอปฯธนาคารด้วย PIN ธนาคารก็จะเพิ่ม Facial Recognition เข้าไปเพิ่มเพื่อพิสูจน์ตัวตนลูกค้า”
ไทยพาณิชย์ทดลอง e-KYC เปิดบัญชีเพียง 9 นาที
อรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า โดยเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2561 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ทดลองให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ด้วยตนเองผ่าน SCB EASY ภายใต้การกำกับและดูแลของทางธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด (Regulatory Sandbox) ซึ่งเป็นครั้งแรกของวงการธนาคารในการนำเอาเทคโนโลยีการแสดงและยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) มาใช้กับโมบายล์แบงกิ้งแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องไปที่สาขา หรือพบกับเจ้าหน้าที่ตัวต่อตัวแบบเดิมอีกต่อไป
โดยขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า (e-KYC) จะใช้บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง และการสแกนใบหน้า (Facial Recognition) ของผู้ที่ขอใช้บริการ และสามารถใช้บริการนี้ได้ตามเวลาที่ธนาคารกำหนด คือ ระหว่างเวลา 07.00 น. ถึง 22.30 น. ซึ่งการเปิดบัญชี EASY e-KYC จะให้บริการสำหรับลูกค้าใหม่ที่ยังไม่มีบัญชี/ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือไม่เคยทำธุรกรรมใดๆ กับทางธนาคาร (New to Bank) โดยจะรองรับเฉพาะโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ Android ที่มีเทคโนโลยีการอ่าน NFC ได้เท่านั้น (ตั้งแต่ Android 5.1 ขึ้นไป)
โดยใช้เทคโนโลยียืนยันตัวตนได้อย่างแม่นยำ Facial Recognition แบบเรียลไทม์ ลดขั้นตอนการกรอกและปริมาณเอกสารที่ใช้ (Paperless) รวมถึงลดระยะเวลาในการเปิดบัญชีเหลือเพียง 9 นาที เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในการลงนามเพียงครั้งเดียวผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเบื้องต้นธนาคารได้ทดลองให้บริการ iOnboard ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition แก่ลูกค้ากว่า 460 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”
โฆษณา