14 ก.ค. 2019 เวลา 13:09 • ธุรกิจ
Google ตอนที่ 2
การแสดงความเป็นอิสระในการบริหารของเพจและบริน ผู้ก่อตั้ง Google
เพจ และ บริน ผู้ก่อตั้ง Google
แน่นอนว่ากลุ่มเวนเจอร์แคปปิตอลหลายเจ้า ต่างก็อยากเข้ามาร่วมลงทุนกับ Google เพราะเล็งเห็นถึงความสำเร็จในอนาคต และผลตอบแทนที่พวกเขาจะได้รับตามมา
เพจและบรินเจรจาต่อรองกับเหล่าเวนเจอร์แคปปิตอลกันยาวนานหลายเดือน ในที่สุดพวกเขาก็ได้ตกลงกับเวนเจอร์แคปปิตอลสองเจ้า โดยให้แต่ละเจ้าถือหุ้นเท่าๆกัน ซึ่งการจัดการในรูปแบบนี้จะมีบทบาทกับความสำเร็จในอนาคตของ Google เพราะได้เพิ่มเครือข่ายของผู้คนและที่ปรึกษามากเป็นสองเท่าทันที แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ทำให้ลดความกดดันของเพจและบรินที่ต้องเผชิญกับการทำงานกับนักลงทุนเพียงคนเดียว ที่ต้องการจะผลักดันให้พวกเขาสร้างองค์กรแบบมาตรฐานทั่วไป
เพจและบรินยังคงแสดงความเป็นอิสระในการทำงานอีกครั้งตอนที่เสนอขายหุ้น Google ครั้งแรกหรือ ไอพีโอ ให้กับสาธารณะชน
ขอนอกเรื่องสักนิด......
โดยทั่วๆไป เวลาบริษัทหนึ่งจะเข้าตลาดหุ้น พวกเขาจะยกหน้าที่ทั้งหมดให้กับวาณิชธนากร ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดของคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ โดยเหล่าวาณิชธนากรนี้รู้ดีว่า จะทำให้พวกเขาและพวกพ้องร่ำรวยได้อย่างไรจากการนำบริษัทเข้าตลาด
กลไกลง่ายๆที่เหล่าวาณิชธนากรใช้ก็คือ กำหนดราคาเปิดขายให้ต่ำๆเข้าไว้ โดยสำรวจความเห็นของนักลงทุนที่มีศักยภาพที่ได้รับการคัดเลือก วิธีนี้ทำให้คนที่เข้ามาซื้อหุ้นในตอนแรกจะสามารถขายหุ้นของพวกเขาได้โดยมีกำไรมหาศาลเมื่อราคาขึ้นเยอะๆ
สำหรับกลไกลนี้ การที่จะทำให้มีประสิทธิภาพอย่างสมบูรณ์ หุ้นจะถูกจองไว้ในราคาเปิดแบบมีส่วนลดให้สำหรับเพื่อนๆ ซึ่งจะประมูลราคาหุ้น โดยการซื้อขายในช่วงสองสามวันแรกที่เพิ่งเข้าตลาด ในขณะเดียวกันนายธนาคารจะต้องแน่ใจว่านักลงทุนที่มีศักยภาพส่วนใหญ่ ต้องไม่สามารถเข้าถึงหุ้นได้ก่อน เพื่อความต้องการหุ้นในช่วงไอพีโอจะยิ่งเพิ่มขึ้น และเหล่านักลงทุนจะยิ่งอยากซื้อ
สำหรับวาณิชธนากรบางคนที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเตรียมหุ้นไอพีโอจะกลายเป็นแกนนำในเรื่องของการคาดหวัง ,การชักชวนให้ซื้อหุ้นระหว่างการโรดโชว์ที่จัดขึ้นสำหรับนักลงทุนและเหล่าที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อสร้างความต้องการซื้อหุ้นให้กับบุคคลเหล่านี้
ต่อ.......
ทั้งเพจ, บริน และอีริค ชมิดต์ (ผู้จัดการที่ในที่สุดพวกเขาต้องชักชวนมาร่วมงานตามคำขอร้องแกมบังคับของนักลงทุน) ต่างไม่อยากเกี่ยวดองกับวาณิชธนากร แต่พวกเขากลับค้นพบวิธีการของพวกเขาเองที่จะหลีกเลี่ยงความหลอกลวงเหล่านั้น คือระบบการประมูลโดยการส่งราคาในซองแบบปิด หรือเรียกว่า Dutch auction หรือ Vickrey auction
โดยการประมูลแบบนี้ ผู้ขายหุ้นจะกำหนดราคาเปิดขึ้นมาแล้วระบุจำนวนหุ้นที่จะเสนอขาย จากนั้นผู้ลงทุนจะเสนอราคาโดยกำหนดปริมาณหุ้นที่พวกเขาต้องการจะซื้อและราคาที่พร้อมจะจ่าย นักลงทุนทั้งหมดที่ราคาเสนอซื้อเท่ากับหรือมากกว่าราคาเสนอขายจะจ่ายที่ราคาสุดท้ายเท่ากัน รวมถึงคนที่เสนอราคาสูงกว่าด้วย นักลงทุนที่เสนอราคาต่ำกว่าราคาสุดท้ายจะไม่ได้หุ้นเลย
หลักการนี้ริเริ่มโดยวิลเลี่ยม วิครี่ย์ (William Vickrey) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลจากหลักการนี้ในปี 1996 โดย William Hambrecht เป็นคนนำระบบนี้มาใช้งานจริง William Hambrecht เป็นนักการเงินในซิลิคอนวัลเลย์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเคยสนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัทอย่างแอปเปิ้ล, เจเนนเทค(Genentech) และไซเบส (Sybase)
William Hambrecht
การทำไอพีโอแบบนี้ของเพจและบริน โดยไม่สนใจเหล่าวานิชธนากรนั้น สร้างความโกลาหลให้กับเหล่านักลงทุนมากมาย ไม่เพียงเท่านี้ เพจและบรินได้สร้างวิธีการที่ทำให้ผู้บริหารระดับสูงยังคงสามารถมีเสียงส่วนใหญ่ในการลงคะแนนเรื่องต่างๆโดยใช้ระบบการโหวตแบบสองชั้น หรือ two-tiered voting system ซึ่งระบบการวัดแบบนี้ ปกติใช้กันในยุโรปแต่แทบจะไม่เห็นใช้ในอเมริกา ระบบนี้วางอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า จะให้ผู้ก่อตั้งยังคงมีหุ้นระยะยาวในส่วนที่เป็นชื่อเสียงที่พวกเขาสร้างบริษัทขึ้นมา ซึ่งจะมีน้ำหนักเหนือกว่าเหล่าผู้สนับสนุนทางการเงินหรือผู้ถือหุ้นระยะสั้นคนอื่นๆ
จากการที่พวกเขาแสดงถึงความเป็นอิสระ เพจได้ตีพิมพ์จดหมายถึงนักลงทุนที่มีศักยภาพ โดยชี้ให้เห็นว่า ‘’Google ไม่ใช่บริษัททั่วๆไป เราไม่ได้ต้องการจะเป็นหนึ่งเดียวกัน’’ โดยเขายังต้องการให้ผู้ลงทุนยอมรับในระยะยาวว่า ‘’ในฐานะที่เป็นบริษัทเอกชน เราให้ความสำคัญกับการเติบโตระยะยาว และสิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้ ในฐานะที่เป็นบริษัทมหาชน เราก็จะยังคงทำเช่นเดิม’’ ประโยคเหล่านี้สร้างความคลางแคลงใจในตลาดเงิน และทำให้ชุมชนทางการเงินรู้สึกหัวเสียเป็นอย่างมาก
การเลือกวิธีการที่ไม่เหมือนใครของเพจและบริน เพื่อที่จะทำให้แน่ใจว่าเป้าหมายในระยะยาวของพวกเขาจะยังคงเป็นไปได้และไม่โดนขัดขวาง ระบบการเสนอราคาของพวกเขาจะช่วยดึงดูดนักลงทุนผู้ซึ่งชื่นชอบแนวทางของ Google และเชื่อมั่นกับความสำเร็จในอนาคต นอกจากนี้การให้ผู้ซื้อเป็นคนตัดสินราคาของหุ้น แทนที่จะเป็นเหล่าวาณิชธนากร ทำให้พวกเขาสามารถเพิ่มมูลค่าของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณแหล่งที่มาจากหนังสือ the google way
โฆษณา