15 ก.ค. 2019 เวลา 11:09 • การศึกษา
ทำไมเรื่องร้ายๆถึงมีพลังมากกว่าเรื่องดีๆ
Loss Aversion ความกลัวการสูญเสีย
ถ้าให้คะแนนจาก 1 ถึง 10 วันนี้คุณรู้สึกดีแค่ไหน??
จากนั้นลองนึกดูว่า อะไรบ้างที่จะช่วยให้คุณรู้สึกดีแบบเต็ม 10
ใช่การได้ไปเที่ยวต่างประเทศรึเปล่า หรือว่าจะเป็นการได้เลื่อนตำแหน่งกันแน่
เมื่อตอบคำถามเสร็จแล้ว ก็ลองนึกดูว่า อะไรบ้างที่จะทำให้ความรู้สึกดีถดถอยลดลงไปจนเหลือศูนย์
คำตอบก็อาจจะเป็น อัมพาต อัลไซเมอร์ มะเร็ง โรคซึมเศร้า สงคราม ความหิวโหย ความทรมาน การถูกฟ้องล้มละลาย การเสื่อมเสียชื่อเสียง การสูญเสียเพื่อนรัก ลูกถูกลักพาตัว ตาบอด แฟนทิ้ง รวมถึงความตาย รายการที่ยาวเหยียดนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีขาลงมากกว่าขาขึ้น พูดง่ายๆก็คือ เรื่องร้ายๆ มีจำนวนมากกว่าเรื่องดีๆ แถมยังส่งผลกระทบมากกว่าด้วย
มนุษย์กลัวการสูญเสียมากกว่าพอใจที่จะได้รับ ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว การเสียเงิน 100 ยูโร อาจจะทำให้ความสุขของเราหายไปมากกว่าความสุขที่จะได้รับจากการได้เงิน 100 ยูโรเสียอีก อันที่จริงได้มีการพิสูจน์แล้วว่า การสูญเสียมีน้ำหนักมากกว่าการได้รับถึงสองเท่า ในทางสังคมศาสตร์เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า ‘’ความกลัวการสูญเสีย’’
ด้วยเหตุนี้ ถ้าคุณต้องการโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเชื่อในบางสิ่ง จงอย่าบอกว่า มันจะช่วยให้พวกเขาได้ประโยชน์อะไรบ้าง แต่ให้เน้นย้ำว่ามันจะช่วยให้พวกเขาไม่ต้องสูญเสียอะไร
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (อ้างอิงภาพจาก Mthai)
ลองดูตัวอย่างการรณรงค์ให้ผู้หญิงตรวจเต้านมด้วยตัวเองกัน กลุ่มผู้หญิงได้ใบปลิวสองแบบ
ใบปลิวแบบแรกมีข้อความว่า ‘’ผลการวิจัยพบว่าผู้หญิงที่ตรวจเต้านมด้วยตัวเองมีโอกาสมากขึ้นที่จะพบเนื้องอกตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งเป็นระยะที่สามารถรักษาได้ง่ายกว่า’’
ส่วนใบปลิวแบบที่สองระบุว่า ‘’ผลการวิจัยพบว่าผู้หญิงที่ไม่ตรวจเต้านมด้วยตัวเองมีโอกาสน้อยลงที่จะพบเนื้องอกตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งเป็นระยะที่สามารถรักษาได้ง่ายกว่า’’
โดยที่ด้านหลังของใบปลิวทั้งสองแบบ มีเบอร์โทรศัพท์สำหรับสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ด้วย
ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ กลุ่มที่ได้รับใบปลิวแบบที่สอง โทรศัพท์เข้ามาสอบถามมากกว่ากลุ่มที่ได้รับใบปลิวแบบแรก
ความกลัวว่าจะสูญเสียอะไรบางอย่าง สามารถสร้างแรงจูงใจให้คนเราได้มากกว่าความดีใจจากการได้รับบางสิ่งที่มีมูลค่าเท่าๆกัน
ดังนั้น หากคุณทำธุรกิจขายฉนวนกันความร้อนในบ้าน คุณก็ควรชี้ให้ลูกค้าเห็นว่า หากไม่ใช้ฉนวนกันความร้อน พวกเขาก็จะต้องสิ้นเปลืองเงินมากแค่ไหน ไม่ใช่เอาแต่เน้นย้ำว่าพวกเขาจะประหยัดเงินได้เท่าไหร่ แม้ว่าจริงๆแล้วจำนวนเงินจะเท่ากันเป๊ะก็ตาม
ในแง่ของการทำงาน พนักงานมักจะกลัวความเสี่ยง (โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต้องรับผิดชอบงานนั้นเพียงคนเดียว ไม่ได้ทำกันเป็นกลุ่ม) หากมองจากมุมของพวกเขา มันก็เป็นความกลัวที่สมเหตุสมผลดี
ลองคิดดูสิ ทำไมพวกเขาจะต้องทำอะไรเสี่ยงๆด้วย ในเมื่อถ้าทำสำเร็จก็อาจได้แค่โบนัสก้อนโต แต่หากล้มเหลวก็อาจหมดหวังที่จะเติบโต และถึงขั้นโดนไล่ออกได้ ไม่ว่าจะอยู่ในบริษัทแบบไหน การปกป้องตำแหน่งของตัวเองย่อมมีความสำคัญเหนือกว่ารางวัลใดๆ ทั้งนั้น ถ้าคุณกำลังกลุ้มใจที่พนักงานไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ ตอนนี้คุณก็คงเข้าใจแหละว่า ที่พวกเขาเป็นเช่นนั้นก็เพราะกลัวการสูญเสียนั่นเอง
เราไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่ว่า เรื่องร้ายๆส่งผลกระทบต่อคนเรามากกว่าเรื่องดีๆ เพราะคนเราอ่อนไหวต่อเรื่องร้ายๆ มากกว่า ด้วยเหตุนี้เราจึงสังเกตเห็นใบหน้าที่น่ากลัวได้ง่ายกว่าใบหน้าที่เป็นมิตร และจดจำพฤติกรรมร้ายๆได้นานกว่าพฤติกรรมดีๆ ยกเว้นแต่ในกรณีที่เราเป็นคนลงมือทำเสียเอง
ขอบคุณแหล่งที่มา ‘’จากหนังสือ 52 วิธี คิดให้ได้อย่างเฉียบคม’’ หนังสือขายดีอันดับหนึ่งจากเยอรมันนี โดยนักเขียนชื่อดังระดับโลก รอล์ฟ โดเบลลี
โฆษณา