16 ก.ค. 2019 เวลา 00:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โชคลางติดจรวด
ใครจะคิดว่าความเชื่อโชคลางกับวิศวกรอวกาศมันเป็นของคู่กัน
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2008 จรวด Falcon 1 ทะยานผ่านชั้นบรรยากาศไปโคจรรอบโลกได้อย่างสวยงาม ถือเป็นจรวดที่ขับเคลื่อนโดยเชื้อเพลิงเหลวลำแรกที่ทั้งพัฒนาและผลิตโดยเอกชน Falcon 1 เป็นผลงานของบริษัท SpaceX ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2002 ด้วยน้ำมือของเศรษฐีหนุ่มน้อยที่มีลูกบ้ามาก นามว่า Elon Musk เป้าหมายหลักของ SpaceX คือการลดราคาการเดินทางท่องอวกาศลง ให้เหลือแค่ 1 ใน 10 ของที่ NASA ทำได้ [1]
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ SpaceX ปล่อยจรวด Falcon 1 จากพื้นผิวโลก
ครั้งแรก หลังจากทำงานกันอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปีนับจากวันก่อตั้ง ทีม SpaceX ปล่อยจรวด Falcon 1 ในเดือนมีนาคม 2006 แต่ในเวลาแค่ 33 วินาทีแรกหลังจากการปล่อย จรวดก็เกิดระเบิดขึ้น หลังการตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่ามีปัญหาเชื้อเพลิงรั่วจากสกรู 1 ตัวที่ขึ้นสนิม
ปีถัดมา ในเดือนมีนาคม 2007 Falcon 1 สามารถเดินทางออกจากชั้นบรรยากาศของโลก จนแตะความสูง 289 km และสามารถแยกตัวครั้งที่ 2 ได้สำเร็จ แต่เกิดปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องเมื่อนาทีที่ 7.5 ทำให้จรวดไปไม่ถึงวงโคจรที่ตั้งเป้าไว้ และร่วงกลับสู่โลก
ในเดือนสิงหาคม 2008 SpaceX กัดฟันลองใหม่อีกครั้ง แต่ Falcon 1 ก็ยังไปไม่ถึงวงโคจร เพราะ Stage 1 และ 2 เกิดการชนกันขึ้นระหว่างการแยกตัว
ความล้มเหลวทั้ง 3 ครั้ง ทำให้ Elon Musk ผลาญเงินส่วนตัวไปแล้วกว่า $100 ล้านดอลลาร์ หาก Falcon 1 ล้มเหลวอีกเพียงครั้งเดียว SpaceX อาจจะต้องสลายตัวลง
และแล้วในวันที่ 28 กันยายน 2008 ทีมวิศวกร SpaceX ตัดสินใจปล่อยจรวด Falcon 1 เป็นครั้งที่ 4 และเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการชนกันของ Stage 1 และ 2 ทีมวิศวกรจึงปรับเวลาการแยกตัวของจรวดเพิ่มเล็กน้อย แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ทีมวิศวกรทำ คือการเติมรูป 4-leaf clover หรือใบโคลเวอร์ที่มี 4 แฉก ลงไปใน mission patch หรือตราสัญลักษณ์ที่ระลึกของภารกิจ
4-leaf clover นั้นถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีของชาวตะวันตก (เพราะปกติใบโคลเวอร์จะมีแค่ 3 แฉก) ในขณะนั้น เหล่าวิศวกร SpaceX เชื่อว่าพวกเขาได้ทำสุดความสามารถแล้ว สิ่งสุดท้ายที่จะช่วยได้ ก็คือโชค [2]
ความเชื่อเรื่องโชคลางในหมู่นักบินอวกาศนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะอาชีพนักบินอวกาศนี้มีอัตราการตายที่สูงถึงเกือบ 4% เป็นหนึ่งในอาชีพที่อันตรายที่สุดในโลก ดังนั้นการทำประเพณีแปลกๆ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักบินอวกาศจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เช่น นักบินอวกาศรัสเซียทุกคนจะทำกิจกรรมตามที่ Yuri Gagarin นักบินอวกาศคนแรกที่ไปโคจรรอบโลกทำ นั่นก็คือ ปลูกต้นไม้ ตัดผม รดน้ำมนต์ ดูหนัง แล้วก็ปัสสาวะรดล้อรถบัสระหว่างทางไปสถานีปล่อยจรวด ส่วนในบรรดานักบินอวกาศชาวอเมริกัน ทุกคนจะต้องกิน สเต็ก ไข่ และก็เค้ก และเล่นไพ่โปกเกอร์กันก่อนจะบิน [3]
ส่วนในหมู่วิศวกร ความเชื่อเรื่องโชคลางนั้นก็ไม่น้อยหน้า ทุกครั้งที่มี mission เหล่าวิศวกร ที่ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ของ NASA จะต้องกินถั่วลิสง ประเพณีนี้เริ่มตั้งแต่ปี 1960 เมื่อ NASA ส่ง Ranger spacecraft ไปถ่ายรูปรอบดวงจันทร์ แต่ภารกิจทั้ง 6 ครั้งแรกนั้น เฟลตลอด จนกระทั่งครั้งที่ 7 มีใครไม่รู้เอาถั่วลิสงมาแบ่งกันกินแก้เครียด แล้ว mission ดันประสบความสำเร็จ หลังจากนั้น ไม่ว่า mission ไหนๆ เหล่าวิศวกรที่ JPL จะต้องเอาถั่วมากินทุกครั้งไป [4]
กลับมาที่การปล่อยจรวด Falcon 1 ครั้งที่ 4 จรวดทะยานผ่านม่านฟ้าไปโคจรรอบโลกได้อย่างสวยงาม ความสำเร็จของ Startup หน้าใหม่อย่าง SpaceX สะเทือนอุตสาหกรรมอวกาศ ตราบถึงปัจจุบัน SpaceX ปล่อยจรวดไปแล้วกว่า 100 ลำและมีรายได้จากสัญญาจ้างจากทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 12 พันล้านดอลล่าร์ [5]
หลังจากนั้นเป็นต้นมา เราจึงเห็น 4-leaf clover อยู่บน Patch ของ SpaceX ทุกๆ mission ไป
บางที ในสถานการณ์ที่เราได้พยายามแก้ปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว ความเชื่อทางโชคลางอย่างเล็กๆน้อยๆ คือการสร้างขวัญและกำลังใจให้เรามีความกล้าที่จะทำการใหญ่ แต่ก่อนจะทิ้งทุกอย่างแล้วไปพึ่งโชคลางและไสยศาสตร์ อย่าลืมว่าทุก mission ทั้งนักบินอวกาศและวิศวกร ต้องผ่านการฝึกฝนและคิดคำนวณอย่างสุดความสามารถแล้วทั้งสิ้น แล้วเราหละ ได้พยายามแก้ปัญหาของตนอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วหรือยัง เพราะแม้ว่าคนคำนวณอาจไม่สู้ลิขิตฟ้า แต่หากเรานั่งเฉยๆไม่คำนวณอะไรเลย ลิขิตฟ้าหรือจะสู้ (ความไม่มี) มานะของคน
ขอให้คนขยันทุกคนโชคดี
#นักวิจัยไส้แห้ง
อ้างอิง
[2] The Space Barons: Elon Musk, Jeff Bezos, and the Quest to Colonize the Cosmos by Christian Davenport, 2018
โฆษณา