17 ก.ค. 2019 เวลา 12:00 • การศึกษา
เรียนรู้ให้เข้าใจมากขึ้น ด้วย Feynman Technique
If you can’t explain it simply, you don’t understand it well enough.
ถ้าคุณไม่สามารถอธิบายมันให้ง่ายได้ คุณก็ยังเข้าใจมันไม่พอ เพราะอย่างนั้นถ้าอยากจะเข้าใจอะไรอย่างลึกซึ้ง ก็ลองอธิบายมันสิ
ไฟยน์แมน เทคนิค (Feynman Technique) เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ถูกคิดค้นโดย Richard Feynman นักฟิสิกส์ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล นอกจากความสามารถที่โดดเด่นทางวิชาการแล้ว Feynman ยังเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะของ The Great Explainer เนื่องจากเขาสามารถถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการที่ซับซ้อนมากให้ออกมาอยู่ในรูปแบบที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย โดยใช้การเปรียบเทียบให้เห็นภาพและใช้ภาษาเรียบง่าย
ก่อนอื่นเรามารู้จักคุณ Feynman ผู้คิดค้นเทคนิคนี้กันก่อน Richard Feynman เกิดในปี 1918 ที่นิวยอร์ก ตอนเด็ก ๆ Feynman มีความสนใจชัดเจนทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เขามีห้องแลบเล็ก ๆ ส่วนตัวอยู่ในบ้าน วัยเด็กเขาใช้เวลาอยู่ในห้องนั้นเพื่อสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายอย่างเล่น นอกจากนี้เขายังเรียนรู้เรื่องยาก ๆ เช่น พีชคณิต ตรีโกณมิติ หรือการคำนวณฟัก์ชั่นต่าง ๆ ด้วยตัวเอง จนในที่สุด Feynman ก็เข้าเรียนปริญญาตรีที่ Massachusetts Institute of Technology หลังจากนั้นก็ต่อโทและเอกที่ Princeton University หลังเรียนจบก็ทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยอยู่ช่วงหนึ่งที่ Princeton แล้วย้ายมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ Cornell และ California Institute of Technology
1
จริง ๆ แล้ว Feynman ใช้เทคนิคนี้ในการเรียนตั้งแต่เขาอยู่ Princeton เขาจะมีสมุดเล่มหนึ่งสำหรับจดเรื่องที่เขาไม่เข้าใจ ชื่อว่า Notebook of Things I Don’t Know About แยกเรื่องที่จะเรียนเป็นหัวข้อย่อย ๆ แล้วพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง แต่เขาเพิ่งมาเข้าใจหลักการของมันเมื่อตอนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แล้วต้องเตรียมสอนให้กับนิสิตปีหนึ่ง แต่ก็พบว่าตัวเองไม่สามารถหาวิธีการสอนที่จะทำให้คนที่ยังไม่มีความรู้ ไม่เคยเข้าใจเรื่องนั้นมาก่อนเลยสามารถเข้าใจได้ นาทีนั้นเขาเลยได้เข้าใจว่า ถ้าเราไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำง่าย ๆ ได้ เป็นเพราะความรู้ของเราไม่แน่นพอ ไม่ใช่เทคนิคการสอนของเราไม่ดีพอนั่นเอง
คุณ Feynman เจ้าของ Feynman Technique
James Glieck’s (1993) ได้อธิบายวิธีเรียนแบบ Feynman ให้เราเข้าใจทุกอย่างบนโลกได้ง่าย ๆ ไว้ในหนังสือ ‘Genius: The Life and Science of Richard Feynman.’ ในหนังสืออธิบายโครงร่างของเทคนิคนี้นั้น ทำได้ด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่
1. เลือกหัวข้อที่คุณอยากจะเรียน แล้วก็เริ่มต้นเรียน เขียนทั้งหมดที่คุณรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น แล้วเขียนในสิ่งที่คุณไม่รู้และหาคำตอบ
2. ลองสมมติว่าถ้าต้องอธิบายเรื่องนี้ให้เด็ก ๆ ฟัง คุณจะพูดออกมาอย่างไร อย่าลืมว่าต้องใช้ภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจด้วย
3. หลังจากนั้นคุณจะพบว่ามีบางเรื่องที่ติด ที่อธิบายไม่ออก ก็กลับไปเปิดหนังสือทบทวนอีกครั้ง เพราะว่าตรงที่อธิบายไม่ได้ นั่นแหละคือตรงที่ความรู้ของคุณยังไม่แน่นมากพอ กลับไปดูตรงที่เป็นปัญหาอีกครั้งเพื่อที่จะอธิบายทุกอย่างออกมาให้สมบูรณ์แบบ
1
4. ทำซ้ำให้ง่าย พยายามอธิบายให้ง่าย ด้วยภาษาของคุณเอง และยกตัวอย่างให้ชัดเจนเพื่อยืนยันว่าคุณเข้าใจเรื่องนั้นได้จริง
ด้วยเทคนิคของ Feynman นี้ คุณจะสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้โดยการสอนใครซักคนโดยใช้คำศัพท์ที่เรียบง่าย หากติดตรงไหนแปลว่าตรงนั้นแหละคือตรงที่คุณยังไม่เข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง เมื่อพบจุดอ่อนก็จะทราบได้ว่าต้องหาความรู้เพิ่มเติมตรงไหน ทำให้คุณสามารถเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้งและดีขึ้นกว่าเดิม
https://www.youtube.com/watch?v=4eRCygdW--c ตัวอย่างเลคเช่อร์ของ Feynman ค่ะ
https://www.youtube.com/watch?time_continue=9&v=MlJdMr3O5J4 วิธีเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วย Feynman Technique
โฆษณา