20 ก.ค. 2019 เวลา 03:30
วิวัฒนาการ 100 ปี แฟชั่นสาวไทย
มีคำอธิบาย แต่ละยุคใต้รูป
ยุค 1920s (พ.ศ. 2463-2472)
จริงๆ แล้ว ประเทศไทยเรามีการเปลี่ยนแปลงการแต่งตัวครั้งใหญ่ประมาณช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5
โดยเริ่มจากกลุ่มชนชั้นสูง ทั้งเชื้อพระวงศ์ ไปจนถึงเจ้านาย
ที่มีการนำเครื่องแต่งกายแบบชาวตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับแบบไทยเดิม
พอเข้าถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 6
ในยุคนี้จะเป็นการแต่งตัวแบบที่เราเรียกว่า “แก๊สบี้”
1
ตัวเสื้อตัวยาวไปถึงเข่า คอปาด แขนกุด
ใส่เครื่องประดับที่เป็นสายสร้อยยาวๆ ก็เป็นสร้อยที่สั้นติดคอ หรือที่เราเรียกว่า “โชกเกอร์”
นอกจากนั้นยังมีการนำสายสร้อยมาคาดที่ศีรษะ หรืออาจปล่อยให้ย้อยลงมาคาดหน้าผากแล้วแต่ความชอบ
โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ทรงเป็นผู้ริเริ่มจนกลายเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา
ยุค 1930s (พ.ศ. 2473 -2482)
ในยุคนี้ฝั่งโลกตะวันตกกำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Depression)
ส่วนประเทศไทยตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งก็ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นเดียวกัน
นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในเวลาต่อมา
ในช่วงนั้นเริ่มมีคนไทยที่ไปเรียนต่อต่างประเทศมากขึ้น
จึงไม่น่าแปลกใจว่าวัฒนธรรมตะวันตกถูกนำเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมาก
แฟชั่นในสมัยนั้นจึงเริ่มมีการเลียนแบบนิตยสารหรือภาพยนตร์ตะวันตก
ผู้หญิงจะใส่เสื้อหลวมๆ คลุมถึงสะโพก แขนสั้นมากหรือไม่มีแขน
ขอบเสื้อด้านซ้ายมักประดับด้วยโบว์ผูกทิ้งชายยาว
ส่วนท่อนล่างจะเป็นผ้าถุงสำเร็จรูป ความยาวประมาณเข่า
สวมรองเท้าส้นสูงและถุงน่องสีเข้าชุดกับผ้าถุง
ประดับด้วยสายสร้อยและต่างหูยาว
ทรงผมที่นิยมคือการดัดผม “ทรงคลื่น”
ถ้าไม่ดัดผมก็จะตัดผมบ๊อบจนเห็นเชิงผมสูงคล้ายผู้ชาย
ยุค 1940s (พ.ศ. 2483-2492)
2
ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
จากนโยบายชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
เน้นการปลูกฝัง “วัธนธัมดี มีศิลธัมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายเรียบร้อย มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี”
มีการกำหนดรูปแบบการแต่งกายและทรงผมที่เรียบร้อย
จนถึงขั้นมีสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง
ซึ่งหนึ่งในหน้าที่ก็คือการกำหนดเครื่องแต่งกายของผู้หญิงแต่ละอาชีพ
อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้ว คือมีคำสั่ง เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน ให้ผู้หญิงหันมานุ่งกระโปรง
และให้สวมเสื้อแทนการใช้ผ้าผืนเดียวคาดอก
ผู้หญิงควรจะไว้ผมยาว ทำให้ทรงผมที่นิยมจะเป็นการดัด หรือเกล้ามวยแบบเรียบๆ
แต่ที่สำคัญสุดเลย คือ ทุกคนต้องสวม “หมวก”
จนเกิดเป็นชื่อยุค “มาลานำชาติไทย”
จริงจังมากจริงๆ นะคะ ผู้หญิงบางคนอาจต้องมีหมวกทั่วไป สำหรับใส่ในชีวิตประจำวัน
และหมวกพิเศษ สำหรับใส่ไปงานหรือโอกาสพิเศษต่างๆ
ยุค 1950s (พ.ศ. 2493-2502)
เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังสงคราม
กลุ่มชนชั้นกลางเริ่มมีฐานะมากขึ้น ทำให้การแต่งตัวในยุคนี้มีสีสันมากขึ้นตามไปด้วย
สำหรับแฟชั่นของผู้หญิงในยุคนี้ นิยมใส่กระโปงยาวครึ่งแข้งที่เน้นเอว
หากไม่เป็นทรงดินสอแคบเข้ารูป ก็เป็นชุดกระโปรงบานๆ โดยด้านในอาจเสริมผ้าตาข่ายเป็นชั้นๆ เพื่อเพิ่มความฟู
หากใครยังนึกภาพไม่ออก ก็ให้นึกถึงละครเรื่อง “วนิดา” ค่ะ
ที่นางเอกและสาวๆในเรื่อง ต่างสวมใส่กระโปรงบาน ซึ่งสีสันก็นับได้ว่า “จัดจ้าน” เลยทีเดียว
ยุค 1960s (พ.ศ. 2503 - 2512)
สิ่งที่เห็นได้ชัดในยุคนี้น่าจะเป็นเรื่องของทรงผมที่หันมานิยมการเกล้าขึ้นสูง ให้ดูพองๆ ใหญ่ๆ
ในตอนช่วงต้นๆ ผู้หญิงยังแต่งกายคล้ายๆ ยุคก่อน นิยมใส่ชุดคอบัว
แต่ในช่วงปลาย เกิดสไตล์การแต่งตัวที่เรียกว่า “Mod look”
โดยเน้นลวดลายทรงเรขาคณิตและสีสันที่ฉูดฉาด
นิยมใส่มินิสเกิร์ตหรือกระโปรงความยาวเหนือเข่า และถุงน่องหลากสี
นอกจากนั้นการแต่งหน้าในยุคนี้ก็มีเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน
นิยมการทาปากสีซีด เน้นแต่งตาให้ดูกลมโต ติดขนตางอนทั้งบนและล่าง
ยุค 1970s (พ.ศ. 2513- พ.ศ. 2522)
ได้รับอิทธิพลมาจากบุปผาชน ฝั่งอเมริกา ซึ่งถือกำเนิดในช่วงปลายทศวรรษที่แล้ว
ผู้คนเหล่านี้ใฝ่หาเสรีภาพ และมีการแสดงจุดยืนทางความคิดเห็น
นำมาสู่การแต่งกายเรียกว่า “ฮิปปี้” ที่มีเอกลักษณ์ คือ กางเกงขาบาน
นอกจากนั้นการแต่งตัวอีกแนวที่ได้รับความนิยมก็คือ สไตล์ “ดิสโก” ที่เน้นสีฉูดฉาด รวมถึงการสวมรองเท้าส้นตึก และเครื่องประดับใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น สร้อย แหวน หรือ กำไลข้อมือ
ยุค 1980s (พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2532)
ยุคนี้เป็นยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรือง ประกอบกับประเทศไทยในยุคนั้น มีการริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมอย่างอีสเทิร์นซีบอร์ด จึงทำให้มีการขยายการลงทุนจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยมากมาย
1
นักธุรกิจและครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่มาอยู่ในเมืองไทย มีส่วนในการเผยแพร่วัฒนธรรมบันเทิงของญี่ปุ่น ทั้งภาพยนตร์ การ์ตูน รวมถึงโลกแฟชั่นจึงได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นมาพอสมควร
เสื้อผ้านิยมสีสันฉูดฉาด ในขณะที่ทรงผม นิยมทำผมให้ดูพองฟู และการแต่งหน้าจัดๆ
นับเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของยุค 80s ค่ะ
ใครนึกไม่ออก ให้ลองถามหรือขอดูรูปจากคุณแม่ คุณป้าดู ว่าสมัยสาวๆ แต่งตัวทำผมแบบนี้หรือเปล่า..
1
ยุค 1990s (พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2542)
ในช่วงต้นยุค 90s เป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยรุ่งเรืองมาก
มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด
จนหลายคนใฝ่ฝันว่าไทยจะกลายเป็นเสือทางเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย
เศรษฐกิจที่รุ่งเรืองทำให้กำลังซื้อของผู้คนเติบโต
เรื่องนี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมบันเทิงและแฟชั่นก็เติบโตเช่นกัน
การแต่งตัวจึงมีแนวทางค่อนข้างหลากหลาย
แต่ที่เห็นชัดๆ คงเป็นแนวกรั้นจ์ ซึ่งมีเอกลักษณ์ คือเสื้อยืดตัวใหญ่ๆ และกางเกงยีนส์(ขาดๆ)
รวมทั้งนำแฟชันยุคเก่าๆ กลับมาใส่กันอีกครั้ง อย่างกางเกงทรงขาบาน
ขณะที่ทรงผมจะมีการผสมผสานกัน ระหว่างผมพองฟูในแบบยุค 90s กับการตัดผมสั้นๆ
ให้ดูทะมัดทะแมง
และในช่วงปลายยุค 90s นี้เอง ที่ “เสื้อสายเดี่ยว” เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆวัยรุ่นด้วยค่ะ
ยุค 2000s (พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2552)
เข้าสู่สหัสวรรษใหม่ กระแส K-Pop เริ่มเข้ามา
การแต่งตัวในยุคนี้ค่อนข้างเปิดกว้าง และใกล้เคียงกับปัจจุบันมากขึ้น
แต่เอกลักษณ์ที่สำคัญของวัยรุ่นในยุคนี้ที่โดดเด่นที่สุด
คงหนีไม่พ้นทรงผมทรงรากไทร ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
ยุค 2010s (พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2562)
การแต่งตัวในปัจจุบันเป็นยุคที่มีความหลากหลาย และโลกเชื่อมถึงกันอย่างไร้พรมแดน
แต่ละคนมีอิสระที่จะเลือกแต่งตามสไตล์ของตัวเอง
บางครั้งก็มีการนำแฟชันยุคเก่าๆ กลับมาอยู่ในกระแสอีก
รวมถึงการออกแบบชุดของดีไซเนอร์สมัยใหม่ ซึ่งบางทีเราเองก็เข้าไม่ถึงค่ะ..
โฆษณา