20 ก.ค. 2019 เวลา 03:27 • ปรัชญา
Assertiveness ตรงแต่ไม่แรง
ก่อนหน้านี้วิเคราะห์ไปเรื่อยมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร (ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ค่ะ แต่ดีขึ้นนะ) ปีที่แล้วมีคนแนะนำว่าเราต้องมี Assertiveness กว่านี้นะ ตอนนั้นรู้สึกตกใจมาก Assertiveness คืออะไรไม่เคยรู้จักคำนี้เลย ก็เลยลองไปศึกษาดูเห็นว่าน่าสนใจดี เลยอยากมาคุยกับทุกคนว่า Assertiveness คืออะไร ต้องทำยังไงค่ะ
Assertiveness ก็คือรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารที่แสดงถึงความเห็นหรือสิ่งที่คุณรู้สึก ด้วยวิธีที่คุณจะสามารถเคารพทั้งตัวเองแล้วก็คนอื่นด้วย เป็นการกล้ายืนหยัดในความคิดของตัวเองและสามารถสื่อสารด้วยวิธีที่ไม่ก้าวร้าว และไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกผิด
ถ้าดูแผนภาพด้านบน จะเห็นว่ามีอยู่สองด้าน ด้านซ้ายคือความต้องการของเราเอง ด้านขวาคือความต้องการของคนอื่น เวลามีสถานการณ์เกิดขึ้น ปกติเราก็จะต้องเลือกว่าจะตอบสนองแบบไหน ถ้าเราเลือกฝั่งตัวเอง แปลว่าเราอาจจะมีแนวโน้มเป็นคน Aggressive แต่ถ้าเราเลือกฝั่งคนอื่น เราก็เป็นแบบ Passive ทีนี้ ตรงกลางนี่แหละที่เราสนใจ ถ้าเราอยู่ตรงกลาง สถานการณ์ที่เกิดขึ้น Win-Win ทั้งคู่ ตรงนี้ก็คือ Assertiveness นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น วันนี้งานเยอะมาก เจ้านายขอให้คุณอยู่ล่วงเวลา แต่คุณมีนัดแล้ว คำตอบที่เกิดขึ้นจะมีได้ 4 แบบก็คือ
หากสังเกตดู จะพบว่าส่วนมากแล้ว คนไทยจะอยู่ในกลุ่ม Passive สังคมและวัฒนธรรมหล่อหลอมเรามาให้เกรงใจเกินพอดี ประนีประนอมไม่ขัดแย้งต่อหน้า และยังมีค่านิยมที่ต้องสำนึกในบุญคุณอีกด้วย เรามีสำนวนมากมายที่สอนเราให้ไม่กล้าเป็นคนตรงไปตรงมา เช่น น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เลี้ยงไม่เชื่อง ถอนหงอก วัดรอยเท้า ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อว่า การตามใจผู้อื่นจะทำให้เราเป็นคนสุภาพและแก้ปัญหาได้อย่างสงบ ส่วนการยืนยันในความเห็นและสิทธิของตนเองเป็นการแสดงออกถึงความก้าวร้าว สิ่งเหล่านี้อาจเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาองค์กรของเรา
ขั้นตอนที่เราจะสื่อสารได้แบบ Assertive ทำได้โดย
1. Describe อธิบายสิ่งที่เรามีความเห็นว่าไม่ถูกต้อง โดยใช้เพียงข้อเท็จจริงไม่ใช้อารมณ์ ด้วยภาษาที่ง่าย ชัดเจน กระชับ
2. Express แสดงความเห็นของเราโดยไม่ใช้อารมณ์ ระวังอย่าทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ากำลังถูกต่อว่า อาจใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 แล้วลองเลี่ยงสรรพนามบุรุษที่สอง เช่น การบอกว่า ฉัน/ ผมมี่ความเห็นแบบนี้
3. Specify อธิบายให้ชัดเจนถึงสิ่งที่เราต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยสิ่งนั้นต้องมีเหตุผลที่เพียงพอมารองรับ
4. Consequence อธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลง ควรเป็นสิ่งที่เป็นไปในทางบวก เพื่อให้อีกฝ่ายเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง
ทีนี้ถ้าอ่านถึงตรงนี้ ก็อยากให้ลองสมมติสถานการณ์ดูว่า ถ้าเป็นคุณจะตอบอย่างไรให้มี Assertiveness นะคะ
กรณี 1 ที่ร้านขายเครื่องดื่ม คุณต้องการดื่มชาจีนเย็น สั่งชาจีนเย็น แล้วพนักงานนำชาเขียวเย็นมาให้ เมื่อแจ้งว่าพนักงานนำมาให้ผิด เขาก็ขอร้องให้คุณช่วยดื่มชาเขียวเย็น เพราะถ้าต้องเปลี่ยนคำสั่งเขาจะถูกหักเงินเดือน
กรณี 2 หัวหน้าขอให้มาช่วยงานในช่วงวันหยุดพักร้อนที่คุณแจ้งลาล่วงหน้าไว้แล้วสองเดือน
คอมเม้นเล่าให้ฟังกันบ้างนะคะ อยากอ่าน 😉
แต่อย่างไรก็ตาม การเป็นคน Assertive ก็อาจไม่ได้ทำให้เกิดความสำเร็จเสมอไป ทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะผู้นำ แบ่งผู้นำออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
1. แบบ Aggressive เป็นผู้นำที่เชื่อมั่นในความคิดของตัวเองและไม่ฟังคนอื่น
2. แบบ Passive ประนีประนอม ไม่ชอบขัดแย้ง ยอมคน
3. แบบ Assertive กล้าพูดแต่ไม่รุนแรง
การศึกษาของ Joseph Folkman พบว่าผู้นำที่ Assertive จะซื่อสัตย์และมีความมุ่งมั่น อย่างไรก็ตาม ผู้นำลักษณะดังกล่าวจะมีวิจารณญาณในนการตัดสินใจต่ำ ทำให้ไม่ค่อยมีประสิทธิผลในการบริหารจัดการ เขาได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมจากคำถามว่า ทั้ง ๆ ที่ Assertiveness มันดี แต่ทำไมประสิทธิผลถึงต่ำ
สรุปได้ว่าสิ่งต้องระวังเมื่อคุณเป็นคน Assertive แล้วก็คือ ต้องระวังไม่ให้ขาดการสื่อสารกับทีม ไม่สื่อสารถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เข้าถึงได้ยาก ทักษะการให้ Feedback ตรงไปตรงมาแต่ไม่สร้างสรรค์ทำให้ผู้ฟังไม่เกิดกำลังใจ ต้องมีวิจารณญาณที่ดีในการตัดสินใจจากข้อเท็จจริงและให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย ทำตามที่พูด รักษาความสัมพันธ์กับทุกคนเพื่อโน้มน้าวได้ง่าย และต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นด้วย ไม่ควรเกรงใจหรือเชื่อมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาเองได้
ยินดีรับฟังข้อติชม ข้อเสนอแนะ นะคะ ขอบคุณมากค่ะ :)
โฆษณา