21 ก.ค. 2019 เวลา 03:58 • ธุรกิจ
แปรรูปรัฐวิสาหกิจ น่าสนใจอย่างไร ใครได้เสียประโยชน์
Thailand Future Fund
ที่ผ่านมามีข่าวการทวงคืนรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูป มีความเห็นมากมาย เช่น รัฐบาลเลือกแปรรูปเฉพาะองค์การที่มีผลตอบแทนดี มีคนพยายามขายสมบัติชาติ เราต้องทวงคืนของ ๆ ชาติกลับมา ก็เลยอยากให้ลองมาดูกันนะคะ ว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) โดยหลักการแล้ว มันคืออะไร
voicelabour.org
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) เป็นการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ (Equity) ขององค์การ ถ้าพูดให้เข้าใจกันง่าย ๆ ก็คือสมมติเรามีบริษัท A เป็นรัฐวิสาหกิจ ตอนแรกเลยกระทรวงการคลัง (รัฐ) เป็นเจ้าของอยู่ ถือหุ้น 100% เมื่อถูกแปรรูปแล้ว รัฐก็จะลดความเป็นเจ้าของลง แล้วกระจายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นอื่น
โดยการกระจายหุ้นนั้น จะมีอยู่สองลักษณะ คือ
1. จากเดิมรัฐเป็นเจ้าของ 100% เมื่อแปรรูปแล้วกลายเป็นของเอกชนเลย 100% เช่นในประเทศอาร์เจนติน่า แบบนี้น่าจะถูกคัดค้านมาก ในประเทศไทยเองที่มีข้อขัดแย้งกันก็เพราะว่าเมื่อยกข้อเสียมาเรามองจากแบบนี้ ก็เลยทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนสมบัติชาติถูกนำไปขาย
2. จากเดิมรัฐเป็นเจ้าของ 100% เมื่อแปรรูปแล้วจะกลายเป็นของรัฐและเอกชนตามสัดส่วน เช่น รัฐ 60% เอกชน 40% แบบนี้พบได้ในประเทศไทยของเราเองค่ะ การทำแบบนี้ เพื่อลดบทบาทของรัฐลง แต่รัฐก็ยังเป็นเจ้าของอยู่ แล้วมีเอกชนเข้ามาร่วมบริหารด้วย
บทความวันนี้ขออธิบายลักษณะของแบบที่ 2 นะคะ ขออนุญาตเล่าให้ฟังเฉพาะเชิงทฤษฎี ส่วนในทางปฏิบัติที่มีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ความโปร่งใส ขอให้อยู่ในวิจารณญาณของแต่ละท่านนะคะ ถ้ามีข้อผิดพลาดอะไรแจ้งได้ที่คอมเม้นได้เลยเพราะว่าวิเคราะห์ไปเรื่อยก็ไม่ได้เรียนด้านนี้โดยตรงค่ะ
เหตุผลที่เกิดความคิดที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น มาจากการที่ รัฐไม่มีเงินนั่นเอง
เราลองมาดูตัวอย่างง่าย ๆ กันนะคะ
เมื่อรัฐวิสาหกิจ (องค์การ A) ต้องการขยายกิจการ องค์การก็จะต้องหาแหล่งเงิน ถ้าเป็นบริษัททั่ว ๆ ไป การหาแหล่งเงินจะทำได้อยู่ 2 ทางก็คือ การเพิ่มทุน (หาผู้ลงทุนเพิ่ม) กับการสร้างหนี้สิน (กู้เงิน) ทีนี้องค์การ A เป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐเป็นเจ้าของจึงไม่สามารถเพิ่มทุนได้ จึงต้องเลือกการสร้างหนี้สิน
เมื่อจะสร้างหนี้สิน รัฐก็ต้องไปกู้เงินค่ะ แต่การกู้เงินของรัฐนั้น คนให้กู้เขาก็ต้องการความมั่นคงด้วย จึงต้องมีผู้ค้ำประกันเกิดขึ้น ผู้ค้ำประกันที่มั่นคงสุด ๆ เลย ก็คือรัฐบาลนั่นเอง กระทรวงการคลังจึงต้องค้ำประกัน
เมื่อกระทรวงการคลังค้ำประกันให้องค์การ A ก่อหนี้ได้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หนี้สาธารณะ (Public Debt) พอเป็นหนี้ก็ต้องจ่ายหนี้ ถ้าองค์การ A ขาดทุนไม่สามารถจ่ายได้ ผู้ค้ำประกัน ก็คือรัฐ ก็ต้องนำเงินภาษีของเรามาจ่าย
นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจเนื่องจากเป็นองค์การของรัฐ จึงไม่ได้ต้องการกำไรสูงสุด เป้าหมายของรัฐคือ Social Welfare ดังนั้นองค์การจะขาดทุนก็ไม่เป็นไร อาจจะกู้เงินมาเพื่อขาดทุน กู้เงินมาเพื่อจ่ายโบนัสก็ได้ ไม่จำเป็นว่ากู้เงินมาแล้วจะสร้างกำไรอย่างเดียว ดังนั้นก็มีความเสี่ยงนะคะ ที่องค์การกู้มาแล้วจะไม่สามารถชำระหนี้ได้
หนี้สาธารณะ มี 2 แบบ คือ
1. หนี้ที่รัฐกู้โดยตรง เช่นรัฐออกพันธบัตรรัฐบาล ออกตั๋วเงินคลัง
2. หนี้ที่รัฐค้ำประกัน หากเกิดปัญหารัฐต้องรับภาระ เนื่องจากรัฐเป็นผู้ค้ำประกัน
ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะประมาณ 6.8 ล้านล้านบาท เป็นหนี้จากการค้ำประกันประมาณ 1.0 ล้านล้าน จำนวนสูงมากเลยนะคะ
การมีหนี้สาธารณะในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมและไม่สามารถบริหารสภาพคล่องได้จนผิดนัดชำระหนี้สาธารณะ เป็นเรื่องรุนแรงมาก เพราะจะทำให้ประเทศสูญเสียเสถียรภาพทางการเงิน ส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
ถ้าประเทศของเราดูมีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้หรือบริหารสภาพคล่องได้ไม่ดี เราก็ต้องกู้เงินจากแหล่งใหม่เพื่อไปใช้หนี้แหล่งเก่า แต่เพราะว่าเครดิตเราไม่ดีแล้ว อันดับความน่าเชื่อถือของเราต่ำ การกู้เงินจากแหล่งใหม่จะเป็นเรื่องยาก ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูง และอาจต้องทำตามเงื่อนไขที่ประเทศที่จะให้เรากู้กำหนดด้วยค่ะ
แต่ถ้าเราแปรรูปองค์การ A แล้วเราอยากขยายกิจการ ตอนกู้เงิน ไม่ต้องให้รัฐค้ำเพราะรัฐไม่ใช่เจ้าของ ไม่ต้องรับภาระ ก็ลดหนี้สาธารณะ ทำให้ฐานะประเทศดีขึ้นได้ กู้เงินง่ายไม่ต้องพึ่งพารัฐ
ส่วนผลประกอบการนั้น จากเดิมที่เป็นของรัฐวัดที่ Social Welfare พอเปลี่ยนเจ้าของ ทีนี้เราต้องการกำไรแล้วค่ะ อนาคตขององค์การจะขึ้นกับความสามารถในการบริหารทำให้ผู้บริหารต้องทุ่มเทมากขึ้น เพราะถ้าผลงานไม่ดี ผู้บริหารก็อาจถูกถอดออกจากตำแหน่งได้ต่างจากเมื่อเป็นรัฐที่งานมั่นคงอยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสเติบโตของบริษัทก็น่าจะดีกว่า และเมื่อเจ้าของไม่ใช่รัฐอย่างเดียวแล้ว ผู้ถือหุ้นเองก็สามารถเข้าไปกำกับดูแลการบริหารงานได้ด้วย ต่างจากตอนเป็นรัฐที่เราไม่สามารถทำอะไรได้
เราอาจจะกังวลว่า แล้วรัฐเลือกแปรรูปเฉพาะองค์การที่มีกำไรแล้วหรือเปล่า ก็อยากลองยกกรณีรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งที่ถูกแปรรูปมาแล้ว 17 ปีให้ดูนะคะ
รัฐวิสาหกิจ P ถูกแปรรูปมา 17 ปีแล้ว ตอนเป็นของรัฐมีสินทรัพย์อยู่ 2,500 ล้านบาท ปัจจุบันเป็นมหาชนแล้วมีสินทรัพย์ 1.5 ล้านล้านบาท เมื่อก่อนรัฐเป็นเจ้าของทั้งหมดเลย รัฐก็มี 2,500 ล้านบาท ปัจจุบันรัฐถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 68% ถ้าคิดเป็นเงินก็ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท
และถ้าพิจารณาเรื่องภาษีด้วย พระราชบัญญัติบอกว่าของรัฐไม่เสียภาษีนิติบุคคล ดังนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ได้เลย แต่ถ้าถูกแปรรูปแล้ว รัฐก็จะได้ภาษีเข้าสรรพากร แล้วเมื่อรัฐได้เงินปันผลเพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ รัฐก็จะได้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผลด้วย
พอมาพิจารณาผลตอบแทนสู่ประชาชน ถ้าเป็นของรัฐแล้วได้เงิน ก็ให้หลวงตามพรบ.กำหนด ที่เหลือไปเป็นสวัสดิการ แล้วคืนประชาชนจากบริการสาธารณะ ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนต่อ แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการบริหารเยอะทำให้โอกาสเติบโตต่ำ และอาจไม่มีกำไรก็ได้เพราะเป้าหมายการบริหารงานไม่ใช่กำไรอยู่แล้ว ส่วนถ้าเป็นมหาชนแล้วนั้น หากประชาชนต้องการผลประโยชน์ ก็ต้องไปซื้อหุ้นค่ะ
และเรื่องการตรวจสอบนั้น ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจ จะมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบ งบการเงินไม่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ แต่ถ้าเป็นมหาชน จะมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำหนดให้มีผู้สอบบัญชีที่ ก.ล.ต. กำหนด ให้ปิดงบทุกไตรมาศและต้องเปิดเผยงบด้วยค่ะ
อย่างไรก็ตาม การแปรรูปก็อาจมีข้อจำกัดเช่นกัน เช่นหากบริหารจัดการไม่ดี รัฐส่งคนเข้ามาบริหาร ตัวแทนผู้ถือหุ้นไม่ตรวจสอบ ตัวแทนจากรัฐก็อาจถือเสียงข้างมาก และคนจากในรัฐเองก็อาจกำหนดนโยบายที่เอื้อกับองค์การที่ส่งคนเข้ามาบริหารได้ ดังนั้นก็อยากให้ลองพิจารณากันดูค่ะ
Thailand Future Fund
ครั้งนี้บทความค่อนข้างยาว ถ้ามีข้อผิดพลาดขออภัยนะคะ+รบกวนแจ้งกันหน่อยนะคะ
มีข้อติชม หรือข้อเสนอแนะเชิญเลยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ
โฆษณา