23 ก.ค. 2019 เวลา 01:16 • การศึกษา
👉" มาเด้อ....ขวัญเอ้ย..ย...ย..."👈
ได้ยิน ได้ฟัง ได้เอ่ย ถ้อยคำนี้ทีไร ทำไมขนลุกซู่ทุกครั้งไปก็ไม่รู้ เป็นถ้อยคำที่คุ้นเคย คุ้นหู มานานตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กน้อย
เรื่องที่จะเล่าในวันนี้คือ "พิธีสู่ขวัญ"
เมื่อวานที่มหาลัยจัดกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญน้องใหม่และมหาลัยจะจัดกิจกรรมนี้ขึ้นทุกปีเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นการเสริมความเป็นสิริมงคลแก่นิสิตใหม่ ให้มีขวัญและกำลังใจที่ดี ในการใช้ชีวิตและการศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างนิสิตใหม่ นิสิตรุ่นพี่ คณาจารย์และบุคลากร อีกทั้งเพื่อให้นิสิตใหม่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการบายศรีสู่ขวัญและสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามชาวอีสาน เลยทำให้แอดอยากจะเล่าเรื่อง "พิธีสู่ขวัญ"ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมานานแล้วของชาวอีสานให้ได้อ่านกัน
"พิธีสู่ขวัญ" บางทีเรียกว่า "พิธีบายศรี" หรือ "บายศรีสู่ขวัญ"
เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ประเพณีสู่ขวัญทำกันแทบทุกโอกาส ทั้งในมูลเหตุแห่งความดีและไม่ดี ชาวอีสานถือว่าเป็นประเพณีเรียกขวัญ ให้มาอยู่กับตัว พิธีสู่ขวัญนี้เป็นได้ทั้งการแสดงความชื่นชมยินดี และเป็นการปลอบใจให้เจ้าของขวัญจากคณะ ญาติมิตรและบุคคลทั่วไป
ส่วนใหญ่แล้วจะทำพิธีนี้ในงานแต่งงาน งานบวช รับขวัญลูกเกิดใหม่ รับขวัญทหารใหม่ สู่ขวัญคนป่วย และอื่นๆ อีกมากมาย ตามแต่ความเชื่อ
คำว่า"ขวัญ"นั้นเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่มีตัวตนคล้ายกับจิตหรือวิญญาณแฝง อยู่ในตัวคนและสัตว์ ตั้งแต่เกิดมาทุกคนมีขวัญกันทั้งนั้นและในบางแห่งเรามักแปลว่า "กำลังใจ" ก็มีคำว่า "ขวัญ" ยังมีความหมายอีกว่าเป็นที่รักที่บูชา เช่นเรียกเมียที่รักว่า "เมียขวัญ" หรือ "จอมขวัญ" เรียกลูกรักหรือลูกแก้วว่า "ลูกขวัญ" สิ่งของที่ผู้เคารพรักใคร่นับถือกันนำมาฝาก นำมาให้เพื่อเป็นการทะนุ ถนอมน้ำใจกันเราก็เรียกว่า "ของขวัญ"
เมื่อถึงฤกษ์งามยามดี พ่อพราหมณ์ในชุดปฏิบัติงานสีขาว ก็กล่าวเชิญชวนทุกคนเข้ามานั่งล้อม "พาขวัญ" ที่เป็นพานดอกไม้ทรงสูงทำจากใบตองจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตามแต่ละงานเจ้าภาพจะเตรียม(แต่งานนี้พาขวัญใหญ่ เพราะนิสิตเยอะมั้ง) พาขวัญจะมี 3,5,7 หรือ 9 ชั้น ก็ได้ จะใส่กล้วย ขนม ขนมต้ม หรืออาหารประเภทขนมและผลไม้ ส่วนอื่น ๆ จะใส่ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลูยาสูบ พร้อมฝ้ายผูกแขน เป็นต้น  และที่ยังไล่เรียงไม่หมดก็ตามแต่ "เปิงบ้าน" ว่าบ้านไหนมีความเชื่อมีการปฏิบัติต่อๆ กันมาอย่างไร ก็จะมีของใส่ในพาขวัญตามคติความเชื่อนั้น
จากนั้นพ่อพรามณ์ก็ทำพิธีเอิ้นขวัญตามประเพณี ถ้อยคำที่จำได้ติดหูก็คือ
"...ขวัญเจ้าไปอยู่ไส ก็ขอให้มาเสียมื่อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปอยู่ไร่อยู่นาก็ขอให้มาเสียมื่อนี่วันนี้ ขวัญเจ้าไปอยู่เมืองนอกเมืองนาก็ให้มาเสียมื่อนี้วันนี้...มาเด้อขวัญเอ้ยยยย"
พอถึงจังหวะนี้คนที่ร่วมพิธีทั้งหมดก็จะพากันขานรับและกู่ร้องเรียกขวัญด้วยเสียงอันดังพร้อมๆ กันว่า มาเด้อ ขวัญเอ๊ย ไม่ว่าขวัญจะอยู่ที่ไหนก็จะถูกเรียกมาอยู่กับเนื้อกับตัวเจ้าของทั้งหมด ความรู้สึกถึงการที่ขวัญได้มาอยู่กับเนื้อกับตัวช่างซาบซึ้ง อบอุ่น ขนลุกแปลกๆ(คนอื่นเป็นแบบนี้ไหมไม่รู้แต่ที่รู้ๆคือแอดจะรู้สึกแบบนี้ตลอด)
ความจริงคำพูดเอิ้นขวัญ และบทสวดจะแตกต่างกันไปแล้วแต่งานสู่ขวัญนั้นๆ แต่ที่ยกตัวอย่างมาคือแอดได้ยินบ่อยสุด
และพ่อพราหมณ์สู่ขวัญจะอำนวยอวยชัยในบทสวดสู่ขวัญบทสุดท้ายแก่เจ้าของขวัญก่อนจบพิธีทุกครั้ง
พอจบพิธีการเรียกขวัญก็ตามด้วยการผูกข้อมือ ที่บ้านแอดถ้าเรียกแบบยาวๆ คือ"ผูกข้อต่อแขน" สั้นๆ ก็"ผูกแขน" ด้วยฝ้ายผูกแขนทำจากด้ายฝ้ายขาว ก็เริ่มต้นด้วยการให้พ่อพราหมณ์ผูกให้ก่อน จากนั้นค่อยผูกกันเองโดย ผู้เฒ่าผู้แก่หรือญาติพี่ที่เคารพนักถือ ผู้ที่อาวุโสกว่าผูกให้ ช่วงนี้ก็เป็นอีกช่วงที่รู้สึกได้ว่าใจพองโต อิ่มเอิบใจ เพราะว่าขณะผูกข้อมือ ไม่ใช่ผูกเฉยๆ แต่จะมีถ้อยคำกล่าวอวยพรที่เป็นมงคลให้แก่กันและกันด้วยแตกต่างกันไป เช่น ปู่ของแอดเวลาที่ท่านผูกแขนให้จะชอบพูดว่า
" ฮ้ายกวาดหนี ฮ้ายกวาดหนี ดีกวาดเข้า ดีกวาดเข้า ขอให้เจ้าอยู่เย็นเป็นสุข นอนหลับให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แบมือมาให้เจ้าได้แก้วมณีโชติ โทษฮ้ายอย่ามาพาน มารฮ้ายอย่ามาเบียด ให้เจ้าหายเคราะห์หายภัย เคราะห์เจ้าอย่าได้เห็น เข็ญเจ้าอย่าได้พ้อ ให้เจ้าหายพยาธิโรคา ให้เจ้ามีศักดานุภาพ ผาบแพ้ข้าเศิกศัตรูก็ข้าเทอญ.." ดูจะยาวเนาะแต่ฟังแล้วรู้สึกดี
(ตอนเป็นเด็กน้อยบ่รู้ดอกว่ามันแปลว่าอิหยังยกมื้อสาธุลูกเดียว ตอนนี้ฮู้ความหมายแล้วกะยังยกมือสาธุคือเก่า)
1
จะเห็นได้ว่าพิธีบายศรีสู่ขวัญนี้คือ ประเพณีชาวอีสานได้ปฏิบัติตามความเชื่อกันมาหลายชั่วอายุคน เหมือนตั้งหรือร่างเป็นระเบียบแบบแผนขึ้นไว้และเป็นธรรมดาของประเพณีที่อาจมีส่วนปลีกย่อย แปลก แตกต่างกันออกไปบ้าง ในแต่ละพื้นที่ และในแง่ลักษณะของการพัฒนาให้เหมาะสม กับกาลสมัยแต่ส่วนสำคัญ อันเป็นมูลฐานของประเพณีนี้ก็ยังคงอยู่และเป็นหน้าที่ของพวกเรารุ่นต่อไปจะเป็น ผู้รับช่วงระวังรักษาไว้ให้มรดกอันสำคัญนี้ยั่งยืนสืบไป
ภาพจากกิจกรรมพิธีผูกแขนรับขวัญน้องใหม่ “โฮมขวัญน้องจ่องสายแนน ผูกเอาแขน ว่ามาเย้อขวัญเอ้ย”
มมส.
ปล.บางประโยคเป็นภาษาอีสานถ้าไม่เข้าใจถามแอดได้นะคะ😁
#มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เข้าใจยาก
โฆษณา