24 ก.ค. 2019 เวลา 15:17
ช่องว่างของความคิด!
วันหนึ่งฉันนั่งทำงานเพลินๆอยู่ มีเด็ก ม. ๓ คนหนึ่งซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน ใจกล้าเดินมาขอคุยด้วย ฉันก็บอกได้ซิ เด็กก็เริ่มเล่าระบายความในใจให้ฟังอย่างน่าแปลกใจทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักเด็กหรือพ่อแม่ของเด็กมาก่อนเลย เด็กเล่าว่า
เขาอยากได้รองเท้าแบบหนึ่งตามสไตล์เด็กเขา แต่แม่บอกว่าไม่สวยต้องเอาแบบที่แม่เลือกแบบนี้ ดีสวยด้วยในความเห็นแม่ โดยไม่สนใจรองเท้าที่เด็กเลือก เพราะแม่ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ แม่ก็ไปจ่ายตังค์ซื้อเอากลับบ้านไปให้ใส่ที่บ้าน เด็กบอกว่า ไม่ชอบเอาเลย แถมราคาแพงกว่าที่เด็กต้องการมากด้วย (บ้านค้าขายมีรายได้ดีพอควรตามเด็กบอก) เด็กจึงไม่ยอมใส่เลยตั้งแต่ซื้อไป แม่โกรธ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรกับลูก เกิดเป็นความขัดเคืองใจเล็กๆระห่างกัน
อีกเรื่องเด็กคนนี้เล่าให้ฟังว่า ปกติเขาได้รับเงินใช้จ่ายวันละ100 บาท เด็กแจกแจงว่า ค่าเดินทางไปและกลับโรงเรียนและบ้านแน่นอนแล้ว 30 บาท ค่าน้ำปกติ 2ขวดขั้นต่ำ 14 บาท ตรงนี้ก็รวม 44 บาท ให้กิน 2 มื้อคือ เที่ยงกับเย็น เพราะต้องเรียนพิเศษจึงให้ไปกินอาหารค่ำข้างนอกเลย เงินที่เหลือ 56 บาทไม่เคยพอกินอิ่มกับ 2 มื้อเลย อย่าลืมเด็กกำลังโตและกินจุพอได้อย่างไร? เด็กบอดว่า ได้เคยบอกพ่อว่าไม่พอ พ่อบอกว่า พอ กินอะไรเปลืองนักหนา เด็กเล่าต่อว่า ตัวเด็กสังเกตพ่อว่าใช้จ่ายอะไรบ้าง พบว่า ที่บ้านเรื่องรายได้ไม่มีปัญหา แต่พ่อใช้จ่ายหลายอย่างในมุมมองเด็กว่า ไม่จำเป็น ฟุ่มเฟือย ควรแบ่งมาให้เขาบ้างจะดีกว่า แต่สำคัญกว่านั้นรักน้องมากกว่าเขา มีอะไรก็ซื้อให้ได้แทบทุกอย่างที่น้องต้องการ แต่เขาขออะไรไม่ค่อยได้ ให้รักไม่เท่ากัน นี่ก็เป็นอีกกรณี
เรื่องที่ ๓ เด็กคนนี้บอกว่า เขาชอบเล่นคอมพิวเตอร์มาก พ่อก็บอกว่า วันๆกลับบ้านเอาแต่เล่นเกม ไม่ช่วยบ้านขายของเลย เด็กเล่าให้ฉันฟังว่า เขาไม่ชอบเรื่องขายของเลย แต่ชอบศึกษาบางเรื่องบางวิชา โดยเฉพาะเรื่องการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้กับงานบางอย่างที่เด็กสนใจและชอบทำ เล่นเกมมีบ้างแต่น้อย แต่พ่อตีขลุมว่า เอาแต่เล่นเกม ช่วยบ้สนก็ไม่ค่อยช่วย ทบทวนเรียนอ่านหนังสือเรียนก็ไม่ทำ เด็กน้อยใจมาก เพราะเขาได้พัฒนาความรู้จนใช้คอมพิวเตอร์ไปทำอะไรได้มากมาย มากล่าวหาเขาผิด
นี่ก็อีกเรื่อง ยังมีอีกมากมายที่เด็กเล่าให้ฟัง แต่คงเล่าเท่านี้ก่อน เด็กมีความรู้สึกไม่อยากอยู่หรือกลับบ้าน และล่าสุดสักเดือนที่ผ่านมาเด็กมาขอปรึกษาและตัดสินใจว่า จะไม่อยู่บ้านแล้ว จะหนีไปอยู่ต่างจังหวัดด้วยเป้าหมายชีวิตบางอย่างที่เด็กฝันอยากจะทำ
ตัวอย่างทำนองแบบนี้ อาจจะต่างรูปแบบ เนื้อหามีมากมายในสังคมนี้ หากเด็กเลือกไปทางลบ ความสูญเสียและปัญหาสังคมตามมามากมาย ดังข่าวที่เรารับรู้กันทุกวันในเรื่องแบบนี้ หากทางบวก คงไม่กระไรเพราะไม่เกิดผลเสีย กลับเป็นผลดีต่อเด็ก สังคม พ่อแม่ ประเทศชาติ
ตามตัวอย่างที่เล่าท่านมีความเห็นอย่างไร? จะแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร? ใครที่เป็นพ่อแม่ หรือเป็นเด็กเอง อ่านแล้วคิดว่าควรจะแก้ไขหรือทำกันอย่างไรดี? ฝากมาเล่าพูดคุยให้ฟังปัญหาครอบครัวในมุมหนึ่งที่ได้รับฟังมาจากเด็กคนหนึ่ง และมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน
โฆษณา