25 ก.ค. 2019 เวลา 06:24 • ความคิดเห็น
» เสียดาย อาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่ได้อ่าน
ต่อไปนี้จะเป็นคำพูดที่ขอบอกเป็นส่วนตัวในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมา 8 ปี
สิ่งที่จะฝากน้อง ๆ ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่อายุ 40 ลงไป และจะต้องอยู่กับมหาวิทยาลัยไปอย่างน้อย 20+ ปี
(คงจะไม่เตือนรุ่นพี่ หรือรุ่นอาจารย์ เพราะไม่บังอาจ หากใครเป็นอาจารย์ที่คิดว่า ชีวิตตัวเองดี ไม่มีปัญหา และมั่นคงแล้ว ...กรุณาขอให้หยุดอ่านตรงนี้ได้เลยครับ)
ในยุคที่ มหาวิทยาลัยทั้งประเทศ กำลังค่อย ๆ ปิดตัวลง
คนยุคใหม่ถามคำถามที่ ง่าย ๆ แต่หนักหน่วงคือ
“มหาวิทยาลัยมีไว้ทำไม?” หรือ “ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยมั้ย ถึงจะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ”
แล้วสักวัน เมื่อคนคิดว่ามหาวิทยาลัยหรือปริญญาไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไป
เมื่อความรู้เป็นของฟรีที่อยู่ในโลก Online เมื่อทักษะเป็นสิ่งที่หาได้จากการลงมือทำและเมื่อทัศนคติเกิดขึ้นจากประสบการณ์
แล้วบทบาทของมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไร
แล้วบทบาทของ “อาจารย์มหาวิทยาลัย” จะเป็นอย่างไร
คุณต้องระวังให้มาก เพราะการ Shift ครั้งนี้ จะเกิดในช่วงชีวิตของคุณ ในเวลาไม่นานนี้แน่นอน
คุณลองดูมหาวิทยาลัยที่ไม่มีเด็กมาเรียน มหาวิทยาลัยที่ค่อย ๆ ปิดตัวลง รอบ ๆ ตัว มันเกิดขึ้นแล้ว
และในที่สุด...มันก็จะวิ่งมาถึงมหาวิทยาลัยระดับสูงในที่สุด
1
อยากขอแนะนำน้อง ๆ จริง ๆ ให้พิจารณาปฏิบัติ ดังนี้...
1. “ลดอัตตา” ลง
ขอให้น้อง ๆ บอกตัวเองเสมอว่า เราไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น
ไม่ว่าน้องจะสอนสาขาไหนก็ตาม อย่าคิดว่าเราเก่งเรื่องนั้นที่สุดกว่าใคร
ถ้าเราคิดแบบนั้น สมองเราจะปิด น้องอาจจะสอนวิชาหนึ่งที่น้องมีความรู้ดีมาก ๆ
แต่การออกไปลงมือใช้ความรู้นั้นทำงานให้เกิดผลจริงเป็นรูปธรรม
เราต้องไปบริหารเงิน บริหารความเสี่ยง บริหารคน บริหารสถานการณ์ต่าง ๆ อีกมาก
มันต่างกับโลกของทฤษฎี
เช่น...พี่กล้าบอกว่าอาจารย์สถาปัตยกรรมศาสตร์ทำงานเต็มเวลา
ไม่มีทางออกแบบอาคารได้ เก่งกว่าบริษัทชั้นนำของประเทศในโลกเอกชนหรอก
นั่นเขาทำงานจริง ๆ ตลอดเวลา ทำทุกวัน
ดังนั้นน้องต้องให้เกียรติทุกคนที่เขาอาจจะไม่ได้ จบ ดร. หรือ มีตำแหน่งวิชาการเหมือนน้อง
แต่เขาอาจจะเก่งกว่าน้องมาก ๆ ในทางปฎิบัติ
หากวัดกันที่การทำงานให้เห็นผล น้องสู้เขาไม่ได้หรอก
ดังนั้น น้องควรหาคนที่เก่งระดับนี้ นอกมหาวิทยาลัยให้เจอ แล้วผูกมิตรกับเขา ยกย่องเขา
เอาความรู้ของเขากลับมากลั่นกรองให้นิสิตให้มากที่สุด
นั่นคือบทบาทของการเป็นอาจารย์ในยุคนี้
2. “เปลี่ยนจากศูนย์กลางแห่งความรู้เป็นศูนย์กระจายความรู้”
ถ้าน้องทำข้อแรกได้ น้องจะเริ่มเห็นความเทพของคนเก่งในวงการจริง ๆ แล้วได้ตระหนักว่า
“กูไม่ได้เก่ง”
และเมื่อน้องไม่ได้เก่งอยู่เสมอ น้องก็จะเปิดใจอยู่เสมอนั่นเอง น้องก็ต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ
จากที่ เราเคยเป็นคนที่เป็นศูนย์กลางของห้องเรียนในฐานะผู้ส่งความรู้
จะได้เปลี่ยนมาเป็น ศูนย์กลางอีกแบบ คือศูนย์กลางของเครือข่ายการส่งข้อมูลความรู้
จากที่เป็น Knowledge Guru ต้องเปลี่ยนเป็น Knowledge Facilitator
หาของใหม่ ๆ จากโลกภายนอก มาสอนนิสิต
และเอาของที่ดี ๆ ของนิสิตที่เขาคิด พาเขาไปนำเสนอให้องค์กรภายนอกเอาไปใช้
นิสิตก็จะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ เปิดโลกทัศน์ของเขา
เป็นการต่อสายให้เขาพัฒนาไปข้างหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ
3. “อย่าขาดการติดต่อกับโลกภายนอกมหาวิทยาลัย”
ความรู้ในโลกภายนอก โลกแห่งการประกอบวิชาชีพ หรือโลกแห่งการบริหารต่าง ๆ นั้น
เป็นสิ่งที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก
ในสมัยก่อนคุณอ่านหนังสือ หรือตำรา แล้วเอามาปรับ สอนนิสิต คุณทำได้
แต่ในปัจจุบัน นิสิตก็อ่านตำราได้ทันกับน้อง และก็ดู Youtube ได้เร็วพอ ๆ กับน้อง
และในเรื่องบางเรื่องเขาอาจจะเก่งกว่าน้องก็ได้
น้องต้องหมั่นหาความจริงจากโลกที่ มันเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว สรุปเอง แล้วมาเขียน หรือสร้างองค์ความรู้ต่อเนื่อง
ขอให้น้องเน้นความรู้ที่เป็น Primary เป็นหลัก เขียนขึ้นเองจากสิ่งที่ได้รับมา
คนภายนอกที่เก่งเขาก็เก่งปฎิบัติ เขาอาจเขียนหนังสือไม่เป็น
ดังนั้นน้องในฐานะคนเขียน (เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย) ต้องเป็นคนเขียนสรุปความรู้เขา
น้องอย่าเน้น Secondary มากนัก เพราะเมื่อหนังสือออกมา โลกมันก็เปลี่ยนอีกแล้ว
1
และเมื่อน้องไปติดต่อกับโลกภายนอกมาก ๆ จากข้อ 1-2
1
คนที่น้องติดต่อเขาย่อม appreciate น้องว่า น้องมาหาเขา ให้เกียรติเขา ต่อเนื่อง
น้องเอาจริง ไม่ใช่มาแป๊บเดียวแล้วก็ไป เขาก็จะเอื้อเฟื้อน้องเต็มที่
น้องได้ความรู้จากเขา ตามเขาทัน เข้าใจเขา
แล้วอีกหน่อย โอกาสที่น้องจะไปเป็นที่ปรึกษาของเขา ทำงานให้เขา แบบจริงๆ จังๆ มันจะไปไกลแค่ไหน
อย่าลืมว่าน้องคือ คนที่ฉลาด น้องคือคนที่เรียนรู้เร็ว ประมวลผลเร็ว
น้องรับของเขามามาก ๆ สักพักน้องก็ย่อมต้อง มีอะไรเสนอ แนะนำเขากลับไปบ้าง โดยอัตโนมัติ
และถ้ามันเป็นข้อเสนอที่ดี เขาก็จะให้โอกาสน้องเข้ามาทำให้เขา ทดลองให้เห็นจริง
เอาทฤษฎีมาปฎิบัติกับเขา แล้วน้องก็จะได้ทำสิ่งที่คิดไว้
มีคนออกทุนให้ แล้วยิ่งทำความรู้ก็ได้มากขึ้นไปอีก และแน่นอน รายได้น้องก็มากขึ้นไปด้วย
4. “หมั่นเช็ค Rating ของตัวเอง”
เมื่อได้ทำข้อ 1-2-3 ถามตัวเองเสมอว่า
"วันนี้ ออกจากมหาวิทยาลัยไป ทำงานข้างนอกมีคนรับไปทำงานหรือไม่ หรือหางานทำเองเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่"
หรือถ้าเป็นบางสาขาที่ไม่ใช่แนววิชาชีพ มีมหาวิทยาลัยอื่น หรือสถาบันระดับสูงในศาสตร์นั้น มาต่อคิวขอรับตัวไปทำงานเลยหรือไม่
เพราะเขาทึ่งในวิธีคิด ทึ่งในความสามารถ หรือทึ่งในงานวิจัยของน้อง
ถ้ารู้ตัวว่าไม่มีคนจ้าง หรือหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ หรือไม่มีใครมารับไปทำงาน กรุณาแก้ไขโดยด่วน
เพราะน้องไม่มีคุณค่าอันเป็นที่ต้องการ (No Market Value)
และน้องอย่าหลอกตัวเองว่าน้องกำลังมุ่งไปที่การเป็นอาจารย์สอน
คำถามง่าย ๆ
"ตัวน้องเองยังออกไปจากมหาวิทยาลัยไม่ได้ ไม่มีที่ไป แล้วลูกศิษย์ของน้องจะไปรอดมั้ย?"
นี่ไม่ใช่การสร้างมหาวิทยาลัยหรือพัฒนาวงการการศึกษาแต่อย่างใดเลย
หากแต่น้องกำลังเกาะมหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่ง และดูดทรัพยากรเพื่อใช้เป็นที่ทำกิน
...แล้วประเทศชาติมันจะเหลืออะไร
อย่าเอาป้ายมหาวิทยาลัยมาเป็นเกราะกำบังความกลวงของตัวเอง
(จะบอกว่านิสิตมันก็รู้ ถ้าคุณกลวง มันแค่ไม่พูดเท่านั้นเอง)
แต่ควรทำให้ตัวเองแข็งแกร่งเพียงพอเพื่อเป็นเกราะกำบังของมหาวิทยาลัยจะเหมาะสมกว่า
5. “อย่าเจ้ายศเจ้าอย่าง”
บุคลากรที่น่าเห็นใจที่สุดในมหาวิทยาลัย คือเจ้าหน้าที่
อาจารย์หลายคนใช้เจ้าหน้าที่ทำงานแบบไม่มีเกรงใจ ใช้แบบไม่มีสาระ และไม่มีแผน
ทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นเหยื่อ ไม่มีเส้นทางวิชาชีพ รายได้ก็น้อย หมดกำลังใจ ไร้อนาคต
ขอให้อาจารย์น้อง ๆ คิดถึงใจเจ้าหน้าที่เหล่านี้บ้าง
น้องคิดว่าน้องมีชีวิตที่ลำบาก แล้วชีวิตของเขาที่เป็นเบี้ยล่างของน้องเป็นอย่างไร?
น้องอาจจะกำลังทำบาปอยู่อย่างไม่รู้ตัวในการทำให้คนเหล่านี้มีความทุกข์
เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง ว่าถ้าเป็นเขา น้องจะรู้สึกอย่างไร
เจ้าหน้าที่บางคนเขาทำงานมาตั้งแต่น้องเป็นนิสิต น้องเคยไหว้เขามา
วันนี้น้องเป็นอาจารย์ก็ไม่ควรไปวางอำนาจเบ่งใส่เขา ใช่หรือไม่?
สิ่งที่น้องควรจะทำคือ ทำข้อ 1-2-3-4 ให้มาก แล้วได้รายได้ที่ดีควรนำมาแบ่งให้เขา
แจกงานให้เขา หารายได้เสริมให้เขา
เมื่อน้องต้องการจะอยู่ในระบบ แล้วน้องไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบได้ ก็ต้องใช้ประโยชน์จากระบบ
รอเวลาที่น้องจะได้อำนาจมาทำงาน เมื่อน้องได้ประโยชน์ และให้เจ้าหน้าที่ได้ประโยชน์ไปด้วยจากน้อง
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันไป รวมทั้งเอื้อเฟื้ออาจารย์รุ่นน้องๆ ของคุณให้เขามาทำงาน ทำวิจัยกับน้องด้วย
แบ่ง Credit กันไป
หากสักวันน้องต้องการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย
คนเหล่านี้คือฐานเสียงที่จะสนับสนุนน้อง อย่างแน่นอน
6. “ทำกิจกรรมเพื่อสังคม”
ถ้าทำ 1-2-3-4-5 งานวิจัยน้องจะมหาศาล เครือข่ายของลูกศิษย์ อาจารย์รุ่นน้อง และองค์กรภายนอก ก็ทรงพลัง
...ความแข็งแกร่งจะบังเกิด
น้องจะอยู่ในกระแส ความเร็วน้องจะไม่ตก น้องจะอยู่บนโลกแห่งความจริงเสมอ
น้องควรอาสานั่งเป็นกรรมการใน สมาคมวิชาชีพ หรือ หน่วยงานต่าง ๆ เป็นที่ปรึกษา
หาวิธีช่วยเขา
การที่น้องเป็นคนที่มีความรู้ทางทฤษฎีอยู่ และรู้ในเชิงการปฎิบัติด้วย ทำมาแล้วกับมือ รู้หมดถึงใส้ใน
มี status ของอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกด้วยนั้น จะเป็นสิ่งที่คนต้องการคำแนะนำในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างมาก
น้องจะได้เข้ามาเห็นสถานการณ์ของการแก้ปัญหาต่าง ๆ แบบ frontline
และสามารถออกความเห็นให้เหมาะสม
น้องจะมี influence ในการทำงานด้านต่าง ๆ
และน้องจะเห็น หัวข้อวิจัยดีๆ ที่ไปทำงานต่อยอดได้อีกอย่างมาก
หัวข้อที่มีประโยชน์ต่อสังคมจริง ๆ ไม่ใช่สักว่าทำไว้ขอตำแหน่ง หรือไว้ขึ้นหิ้ง
(ไม่ทำด้วยเงินตัวเองก็ไปเสนอองค์กรที่คุณรู้จักแล้วให้เขาจ่ายเงินทำก็ได้)
แล้วคิดดูว่าหน่วยงานนั้น ๆ หากได้งบวิจัย หรือพัฒนามา แล้วน้องก็นั่งเป็นที่ปรึกษาอยู่ตรงนั้น
ทำงานให้เขามาอย่างดี เข้าใจวิถีทางของเขาเป็นอย่างดี และทำงานเสร็จได้จริง เห็นผลได้จริง มีบทพิสูจน์มาแล้ว
น้องคิดว่า เขาจะให้ใครทำงานวิจัยนี้ ถ้าไม่ใช่น้อง?
ขอให้น้องเชื่อว่า น้องจะมีงานวิจัยที่มีแต่คนมาประเคนให้ทำ
จนรายได้น้องดี จนน้องต้องปฎิเสธงาน
7. “ให้ทุนนิสิต”
เมื่อทำ 1-2-3-4-5-6 ได้ก็ต้องเริ่มให้ทุนนิสิต ทั้งตรี และโท เพื่อสร้างเครือข่ายของน้อง กระจายความรู้และวิธีคิดแบบน้อง
แล้วนิสิตเหล่านี้ก็คือคนที่ช่วยน้องทำงาน น้องก็ต้องตอบแทนเขาให้เหมาะสม
ถ้าเขาอยากเป็นนักวิจัยก็ให้เขาเป็น ถ้าเขาอยากทำงานดี ๆ ก็ให้เขาได้ทำ
เขียนจดหมายส่งเขาให้เขาได้งานดี ๆ ตามความจริง
น้องควรส่งเสริมเขา ถ้าเขาอยากเป็นอาจารย์น้องก็ต้องสนับสนุน
เขาคือฐานรากของวิชาการที่น้องสร้าง แล้วเขาจะต่อยอดวิชาการตรงนั้นออกไปเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ
และเมื่อเขาได้รับการปฎิบัติมาดังนี้จากน้อง
เขาก็จะต่อยอดทำเหมือนน้องต่อลูกศิษย์คนอื่น ๆ ของคน ต่อไปอีกเช่นกัน ไม่มีที่สิ้นสุด
ความก้าวหน้าก็จะบังเกิดอย่างยั่งยืน
• ฝากทิ้งท้าย
ถ้าน้องทำ 1-2-3-4-5-6-7 ได้ น้องจะสามารถมีชีวิตที่ดี มีรายได้ที่ดี
มีการให้คุณค่าทางวิชาการที่อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง
มีคุณค่าต่อมหาวิทยาลัยและวงการศึกษา พร้อมกับมองเห็นภาพการพัฒนาไปข้างหน้า
และน้องจะไม่มีทางหลุดไปจากวงโคจร ไม่ได้เป็นนักทฤษฎีที่วัน ๆ เอาแต่พูด แต่ทำจริงไม่เป็น
แล้วน้องจะไม่ต้องมานั่งคุยกันเรื่องการเรียกร้องรายได้ สวัสดิการใด ๆ
เพราะสิ่งที่น้องหาได้ มันเพียงพอ ที่จะเผื่อแผ่คนอื่น รอบ ๆ ตัวด้วยซ้ำ
และเมื่อน้องเป็นผู้สร้างรายได้ผลประโยชน์ให้กับองค์กร
(มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะได้รับรายได้ไป 10-30% เป็นอย่างน้อยของมูลค่าการวิจัยและการบริการวิชาการที่น้องรับเข้ามาทำ)
พร้อมกับคะแนนประเมินที่ดี
มันก็ยากที่องค์กรจะเอาน้องออก
แล้วถ้าเขาโง่ที่จะเอาน้องออก ก็มีมหาวิทยาลัยอีกมากที่พร้อมอ้าแขนรับอาจารย์ที่คุณภาพดี
พร้อมสร้างรายได้เข้าองค์กรแบบน้อง ต่อคิวกันมาไม่หวาดไม่ไหว
และนั่น…คือความมั่นคงที่แท้จริงในวิชาชีพของคุณ ไม่ใช่การที่คุณได้ ดร. ผศ. หรือ รศ. หรือ แม้แต่ ศ.
ถ้าคุณมีป้าย แต่คนเขามองออกว่าคุณไม่ใช่ของจริง หรือ มองออกว่าคุณไม่ Update
...คนเขาก็ไม่เชิญคุณไปทำอะไรหรอก
สุดท้าย ขอบอกน้อง ๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยไว้เพียงเท่านี้
ขอให้ทุกคนโชคดีและประสบความสำเร็จในด้านวิชาการ วิชาชีพ สมความตั้งใจที่มีทุกประการ
Credit บทความ : อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ฝากติดตามด้วยนะครับ
โฆษณา