Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มะไฟ
•
ติดตาม
27 ก.ค. 2019 เวลา 02:15 • การศึกษา
ตอนที่ 66 โรคมือ เท้า ปาก
ช่วงที่ผ่านมาพวกเรา (โดยเฉพาะท่านที่มีบุตรหลานเล็กๆ) คงได้ยินข่าวเรื่องโรคมือ เท้า ปาก ระบาดกันบ้างใช่มั้ยฮะ? โรคนี้มันเป็นยังไง อันตรายหรือไม่ และจะป้องกันรักษายังไง เรามาดูกันดีกว่าฮะ!
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสและมักระบาดในหมู่เด็กเล็กๆ โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเด็กที่โตกว่านี้มักจะมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้แล้วจึงไม่ติดโรค เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก นั้นมีหลายชนิด แต่โดยมากจะเป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม Coxsackie และ Enterovirus ทั้งนี้อาการที่เกิดขึ้นโดยมากมักจะไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาอะไร (และเราก็ไม่มียาต้านไวรัสกลุ่มนี้ด้วยฮะ)
สำหรับอาการของโรค มือ เท้า ปาก ก็คือ เด็กจะมีอาการไอ เจ็บตอ และมีไข้สูง จากนั้นจะมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มสีแดงขึ้นตามฝ่ามือฝ่าเท้า ในเยื่อบุช่องปากก็จะมีตุ่มน้ำขึ้น ซึ่งต่อมาจะแตกออกกลายเป็นแผลเหมือนแผลร้อนใน ซึ่งแผลในปากนี่เองที่มักก่อปัญหาเพราะจะทำให้เด็กเจ็บปากและไม่ยอมกินอาหารฮะ
โรคนี้ติดต่อทางการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง โดยเฉพาะน้ำที่แตกออกจากตุ่มที่ผิวหนัง นอกจากนั้นก็ติดทางน้ำมูก น้ำลาย และยังรวมถึงอุจจาระที่อาจปนเปื้อนในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนก็ได้ ดังนั้นการป้องกันการแพร่ระบาดและติดเชื้อ ก็คือการให้เด็กหมั่นล้างมือบ่อยๆ เก็บของเล่นและเครื่องใช้ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรคลุกคลีกับผู้ป่วย
สำหรับเด็กที่เป็นโรคนี้แล้ว การดูแลคือการดูแลตามอาการ ได้แก่ เช็ดตัว / ให้ยาลดไข้ ถ้าเจ็บปากมากพยายามให้ทานอาหารอ่อนๆ หรือให้กินของเย็นๆ เช่น ไอศกรีม ก็จะช่วยให้กินได้มากขึ้น ในกรณีที่เจ็บมากจริงๆ อาจต้องไปพบแพทย์ซึ่งแพทย์อาจจะทำการสั่งยาชาหรือขี้ผึ้งชนิดป้ายปากมาให้เพื่อบรรเทาอาการฮะ นอกจากนี้ที่สำคัญคือ เราต้องให้เด็กหยุดเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม โดยคำแนะนำส่วนใหญ่คือให้หยุดเรียนเป็นเวลา 5 วัน หรือจนกว่าตุ่มน้ำจะตกสะเก็ดหายดีฮะ
สำหรับภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้นั้นพบได้น้อยมาก ประมาณ 0.05-1% โดยอาจเกิดการอักเสบของสมอง และ/หรือ เยื่อหุ้มสมอง เกิดอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน เกิดหัวใจวายน้ำท่วมปอดได้ แต่ย้ำอีกทีนะฮะว่าพบได้น้อยมาก! จึงไม่ควรตื่นตระหนกเกินเหตุ โดยเราสามารถสังเกตอาการที่บ่งชี้ว่าอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ได้แก่ ไข้สูงมากกว่า 39 องศานานมากกว่าสองวัน, เด็กมีอาการกระสับกระส่าย อาเจียนมาก ซึมลง มีอาการชักเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีอาการหอบเหนื่อย ถ้าพบอาการเหล่านี้ให้พาเด็กไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงทีฮะ!
"เรื่องหมอง้ายง่ายกับมะไฟ" ตีพิมพ์เป็นคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ทุกวันศุกร์ สามารถติดตามได้ทั้งในหนังสือ และทาง Facebook & Blockdit “มะไฟ” ฮะ!
(สามารถโหลด app ได้ทั้ง iOS และ Android จากนั้น search หาชื่อ “มะไฟ” ได้เลยฮะ แล้วก็อย่าลืมกด follow เป็นอันเสร็จ!)
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย