Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายน่าสนใจ
•
ติดตาม
1 ส.ค. 2019 เวลา 05:25 • การศึกษา
ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด กับปัญหาที่น่าหนักใจ
ภาพจาก https://prapaisee.com/blog_detail.php?id=337
หลายๆคนคงเคยได้ยินเรื่องราวมาบ้างเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการซื้อทรัพย์ที่ขายทอดตลาด โดยเฉพาะการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลซึ่งมีหน่วยงานราชการเข้ามาเกี่ยวข้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ แต่ก็ยังมีปัญหาคอยกวนใจอยู่เรื่อยๆ สารพัดรูปแบบ บางคนถึงกับเข็ดกันไปเลย
วันนี้ผมขอเสนอปัญหาอีกหนึ่งรูปแบบซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเกิด แต่ก็เกิดจนได้ และเป็นคดีความฟ้องร้องกันถึงศาลฎีกา เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง
แต่ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า กฎหมายได้บัญญัติให้ความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดไว้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในการซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๐ “สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย”
สรุปความว่าซื้อได้เลยไม่ต้องกังวลว่าทรัพย์จะเป็นของใคร ถ้าเราประมูลซื้อได้โดยสุจริต กฎหมายบอกให้เป็นของเราเท่านั้น !
ปัญหาเกิดตรงที่กฎหมายมิได้มีไว้เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของเราคนเดียวน่าสิครับ ประชาชนคนอื่นๆก็ไ้ด้ความคุ้มครองในรูปแบบและแง่มุมต่างๆกันไป
ในมาตรา ๑๓๓๐ ดังกล่าวเราจะเห็นว่ากฎหมายพูดแต่เรื่องสิทธิของผู้ซื้อจะไม่เสียไป หมายความว่าผู้ซื้อมีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก็ยังคงมีสิทธินั้นอยู่ มีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้อยู่ ไม่เสียไป ...แล้วสิทธิอะไรที่อาจจะเสียไปได้? กฎหมายไม่ได้บัญญัติได้ จึงเข้าใจได้ว่าสิทธิอื่นๆนอกจากสิทธิที่จะได้เป็นเจ้าของดังกล่าวนั้นอาจเสียไปได้นั่นเอง!
ยิ่งพูดยิ่งงง มาดูเรื่องจริงกัน ฎีกาที่ 7209/2547 เรื่องนี้ผู้ซื้อประมูลซื้อที่ดินมีโฉนด ปรากฎว่าที่ดินนั้นติดจำนองโดยที่ไม่ปรากฏการจดแจ้งจำนองไว้ในโฉนดเลย! ทำไมเป็นอย่างนี้ ก็เพราะเดิมที่ดินมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ยังไม่มีโฉนด เจ้าของคนก่อนก็นำที่ดินไปขอออกโฉนดขณะที่ยังมีภาระจำนองอยู่ แต่เมื่อออกโฉนดแล้วกลับไม่มีการจดแจ้งระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดว่าที่ดินมีภาระจำนอง!
การจำนองนั้นตกติดไปกับตัวทรัพย์ไม่ว่าทรัพย์จะตกแก่ใครก็ตาม เป็นหลักกฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์ของผู้รับจำนองไงล่ะ สรุปว่า เรื่องนี้ผู้ซื้อจึงซื้อที่ดินติดจำนองไปนั่นเอง
นั่นหมายความว่าแม้ผู้ซื้อจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๓๐ แต่ก็ไม่ถึงขนาดได้ทรัพย์มาโดยปลอดภาระผูกพันใดๆ ถ้ามีจำนองก็ต้องรับไปด้วย ถ้ามีสัญญาเช่าก็ต้องรับไปด้วยเช่นกันนั่นเอง
จะเห็นว่าทุกฝ่ายต่างก็ได้รับความคุ้มครองในมุมต่างๆกัน กฎหมายจะมุ่งคุ้มครองคนๆเดียวไม่ได้หรอก แต่ก็เป็นการคุ้มครองในลักษณะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา
เรื่องนี้เป็นปัญหาน่าหนักใจเพียงเรื่องหนึ่งเท่านั้น ยังมีปัญหาอีกมากมายที่ต้องทราบเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง ใครอยากรู้เรื่องไหนบอก ไว้จะเล่าให้ฟังครับ
1 บันทึก
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย