2 ส.ค. 2019 เวลา 05:47 • การศึกษา
เซ็นชื่อในเอกสารเปล่า ผลเป็นอย่างไร?
คุณเคยเซ็นชื่อในเอกสารเปล่ามั้ยครับ? หรือเป็นเอกสารที่มีข้อความสำเร็จรูปที่ยังกรอกข้อความไม่ครบถ้วน ก็เซ็นชื่อไปก่อนเพื่อความสะดวก ต่อมามีคนเอาลายเซ็นเราไปกรอกข้อความเป็นอย่างอื่น ศัพท์โบราณเรียกว่า ”ยักยอกลายมือชื่อ” แน่นอนว่าคนยักยอกต้องมีความผิด แต่ในโพสนี้ผมเจาะจงที่จะเล่าให้ฟังว่า ผู้ถูกยักยอกลายเซ็นซึ่งก็คือผู้เซ็นชื่อต้องรับผลเพียงใด
การเซ็นชื่อในเอกสารเปล่าหรือเอกสารที่ยังมีข้อความไม่ครบถ้วน โดยรู้อยู่แล้วแต่ก็เซ็นไปเพื่อความสะดวกนั้น ถือว่าเป็น “ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” ของผู้เซ็นเลยนะครับ คนปกติสามัญชนเขาจะไม่ทำกัน เช่นเซ็นชื่อในสำเนาบัตรประชาชนเฉยๆ โดยไม่เขียนอะไร หรือเซ็นชื่อในหนังสือมอบอำนาจเฉยๆ ยังไม่มีข้อความว่าเพื่อนำไปทำอะไร ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกแก่คนที่จะนำไปดำเนินการต่อไงครับ
“ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” นั้น ในทางกฎหมายถือว่ามีความใกล้ชิดอย่างยิ่งกับเจตนาทำความผิดเลยทีเดียว เช่นประมาทอย่างร้ายแรงทำให้คนอื่นบาดเจ็บ มีผลแทบจะเหมือนกันเจตนาทำให้คนบาดเจ็บเลย ซึ่งต่างจาก “ประมาทเล่นเล่อธรรมดา” ที่ใครๆก็อาจผิดพลาดกันได้
มีสุภาษิตกฎหมายบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สุจริตด้วยกันผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเสียเปรียบ” นำมาใช้กับเรื่องราวนี้ได้อย่างดีเลยครับ คือระหว่างผู้ที่เซ็นชื่อในเอกสารเปล่า กับผู้ถูกหลอกให้ทำนิติกรรมจากเอกสารนั้นต่างเป็นผู้สุจริตทั้งคู่ กฎหมายย่อมคุ้มครองคนหลัง เรามาดูเหตุการณ์จริงกันดีกว่า
เรื่องนี้เป็นคดีความขึ้นสู่ศาลฎีกา ผมจะเล่าให้ฟัง เจ้าของที่ดินเซ็นหนังสือมอบอำนาจเปล่า โดยยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้ผู้อื่นไปทำกิจการอย่างหนึ่งพร้อมโฉนด ปรากฎว่าถูกนำไปกรอกข้อความว่ามอบอำนาจให้ขายที่ดิน! ผู้ซื้อเห็นว่ามีหนังสือมอบอำนาจถูกต้องแล้ว ก็ตกลงซื้อ ศาลตัดสินว่า เจ้าของที่ดินถือว่าเป็นตัวการมอบให้ตัวแทนทำสัญญา จึงต้องผูกพันตามหลักกฎหมายเรื่องตัวการตัวแทน ตามฎีกาที่ 1368/2552 การเป็นตัวการตัวแทนในกรณีนี้เป็นโดยกฎหมายปิดปาก คือถือว่าเป็นตัวการตัวแทนกันโดยอัตโนมัติ เถียงไม่ได้
มีอีกเรื่องหนึ่ง เซ็นมอบอำนาจให้ไปดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน แต่ถูกคนร้ายนำไปแอบอ้างเอาหนังสือมอบอำนาจนั้นไปโอนให้ตัวเองก่อน แล้วค่อยเอาไปโอนขายต่อให้คนอื่น คนที่ซื้อก็คิดว่าซื้อมาจากคนร้ายโดยตรง เพราะมีชื่อคนร้ายเป็นเจ้าของ อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับตัวการตัวแทนแล้ว เจ้าของที่แท้จริงมาฟ้องเอาคืน ศาลบอกว่าคุณประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กฎหมายไม่คุ้มครองให้หรอก การที่มาฟ้องแบบนี้ถือว่าใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ให้ยกฟ้อง! ตามฎีกาที่ 6403/2540
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การเซ็นเอกสารเปล่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งกฎหมายไม่เห็นใจนะ ต้องรับผลแห่งการกระทำเอง โทษใครไม่ได้
โฆษณา