31 ก.ค. 2019 เวลา 05:14 • ปรัชญา
เมื่อความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว
ราโชม่อน : ความจริง 4 รูปแบบ
หมายเหตุ : บทความนี้มีการสปอยด์เนื้อหาสำคัญของราโชม่อน หากอยากหลีกเลี่ยงการรู้เนื้อหาก่อนชมภาพยนตร์ กรุณาข้ามบทความนี้ไปได้เลยครับ
ราโชม่อน(1950) ภาพยนตร์ญี่ปุ่นแนวลึกลับอาชญากรรม กำกับโดย อากิระ คุโรซาว่า
ผลงานชิ้นเอกที่เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Hero (จางอี้โหมว) , อุโมงค์ผาเมือง (หม่อมน้อย) ฯลฯ
Rashomon (1950)
ราโชม่อนเป็นเรื่องราวของคดีฆาตกรรมซามูไรคนหนึ่ง
ซึ่งถ่ายทอดผ่านการพูดคุยของชายสามคน ได้แก่ คนตัดฟืน , พระ และชายนิรนามคนหนึ่ง
ที่สนทนากันถึงคดีนี้ในขณะหลบฝน
คนตัดฟืน พระ และชายนิรนาม สนทนากันขณะฝนตก
ตัวละครที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ก็มีสามคนเช่นกัน คือ ซามูไร (ผู้เสียชีวิต) ,ภรรยาซามูไร และโจรป่า
ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทั้ง3 คน ต่างให้การขัดแย้งกันในศาล
2
โจรป่าให้การว่า เขานั้นต้องการข่มขืนภรรยาซามูไร
จึงออกอุบายจนสามารถมัดซามูไร และลงมือข่มขืนภรรยาซามูไรได้สำเร็จ แต่การลงมือในครั้งนั้นไม่ใช่การข่มขืน เพราะสุดท้ายภรรยาซามูไรเองก็สมยอม
หลังเสร็จกิจ ภรรยาซามูไรยังยื่นข้อเสนอให้ โจรป่าและซามูไรประลองกัน หากใครชนะ นางจะอยู่กินกับคนผู้นั้นเพียงคนเดียว ทั้งสองจึงประลองกันและโจรป่าคือผู้ชนะ (ซามูไรจึงตายเพราะฝีมือโจรป่า)
ภรรยาซามูไรให้การว่า เธอถูกโจรป่าขืนใจด้วยกำลัง
และเมื่อโจรป่าหนีไป เธอได้แก้มัดผู้เป็นสามี
แต่สามีของเธอนั้นมองเธอด้วยความรังเกียจเหยียดหยาม จนเธอทนไม่ไหวต่อท่าทีเช่นนั้น จึงร้องขอให้เขาฆ่าเธอ ระหว่างนั้นอยู่ดีๆเธอก็หมดสติไป
3
และเมื่อตื่นขึ้นมาก็พบว่าสามีของเธอถูกฆ่าตายไปแล้ว เธอพยายามฆ่าตัวตายตามแต่ไม่สำเร็จ
ซามูไรและภรรยาของเขา
เมื่อคำให้การของสองคนแรก ไม่ตรงกัน
จึงมีการเชิญวิญญาณของซามูไรมาให้ปากคำผ่านร่างทรง
ซึ่งซามูไรให้การว่า เมื่อโจรป่าข่มขืนภรรยาของเขาแล้ว
โจรป่าต้องการให้นางไปอยู่ด้วยกันแต่นางขอให้โจรป่าฆ่าสามีของเธอเสียก่อน เพื่อไม่ให้ความลับอยู่กับชายสองคน
โจรป่าตกใจต่อคำร้องขอนั้น จึงผลักนางออก
และถามซามูไรว่าจะปล่อยนางไปหรือฆ่านางทิ้งเสีย
แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไร นางก็วิ่งหนีไปเสียก่อน จนโจรป่าวิ่งไล่ตามไป
ด้วยความอับอายและเจ็บแค้นที่ภรรยามีใจให้กับโจร
ซามูไรจึงนำมีดมาฆ่าตัวเองตายอย่างสมศักดิ์ศรี
เรื่องเหมือนจะจบลงเพียงเท่านี้
ความจริง 3 แบบ จากคน 3 คน ที่ล้วนกล่าวอ้างว่าเรื่องของตนคือความจริง
ก่อนที่ชายตัดฟืนจะทนไม่ไหว
แล้วสารภาพว่าแท้จริงแล้วตนคือผู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด ที่ไม่ยอมบอกแต่แรกเพราะไม่อยากเกี่ยวข้องกับคดีนี้
1
ทั้งสามคนล้วนโกหก เอาความเท็จมาอ้างให้ตัวเองดูดี
ชายตัดฟืนผู้อ้างว่าเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด
เรื่องจริงคือ โจรป่าอ้อนวอนต่อภรรยาของซามูไรให้หนีไปอยู่ด้วยกัน
เขายอมทำทุกอย่างที่เธอต้องการ
โจรป่าวิงวอนต่อหน้าหญิงสาวที่เอาแต่ร้องไห้อยู่อย่างนั้น จนท้ายที่สุดนางนำมีดไปแก้มัดให้สามี
และให้ทั้งสองต่อสู้กันเพื่อตัดสินว่าใครสมควรจะได้นางไป แต่ซามูไรไม่ต้องการต่อสู้ เขาพร้อมจะยกนางให้โจรป่า โจรป่าได้ฟังดังนั้นก็เปลี่ยนใจ ไม่อยากได้นางเแล้วเช่นกัน
1
ภรรยาซามูไรเมื่อเห็นทั้งสองเกี่ยงกันเรื่องนาง จึงหัวเราะและเย้ยหยันว่าทั้งสองไม่มีฝีมือ
จนทั้งสองทนคำปรามาสไม่ไหว จึงต่อสู้กันแบบเสียมิได้
ไม่ใช่การต่อสู้แบบสมศักดิ์ศรีอะไรเลย
สุดท้ายโจรป่าก็ชนะได้เพราะโชคช่วย
หลังจากนั้นโจรป่า และภรรยาซามูไรต่างแยกย้ายกันหนีไป...
คำให้การของชายตัดฟืนมีความน่าเชื่อถือมาก
เพราะเขาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์นี้
เรื่องเล่าของเขาจึงควรค่าต่อความจริง
แต่.....ก่อนที่เรื่องจะจบลง
มีเสียงทารกร้องดังมาจากที่ไหนสักแห่ง
ชายสามคนที่หลบฝนอยู่ได้ตามเสียงนั้นไปจนพบเด็กทารก
บนตัวของเด็กน้อยถูกพันด้วยผ้าไหมอย่างดี...
ชายนิรนามจึงฉวยโอกาสหยิบผ้าไหมนั้นไว้ เพื่อจะนำไปขาย ชายตัดฟินเห็นดังนั้นทนไม่ได้จึงต่อว่าชายนิรนามถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมนี้
ชายนิรนามเลยหันไปบอกกับคนตัดฟืนว่า
“คนเราก็มีทั้งดีและเลวปะปนกันไป แม้แต่เจ้าเองก็ยังไม่กล้าพูดความจริงต่อหน้าศาลเลย”
ตอนจบของหนังไม่ได้สรุปหรือเฉลยว่าเรื่องของใครเป็นเรื่องจริง แม้กระทั่งเรื่องของคนตัดฟืนที่เหมือนจะเป็นผู้เห็นเหตุการณ์
จริงๆแล้วเขาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้เช่นกัน...แต่เลือกที่จะเล่าในมุมที่ตนเองได้ประโยชน์
ความจริงจากเหตุการณ์มีได้เพียงหนึ่ง
แต่ความจริงจากปากคนมีได้หลายแบบ
ในวันที่ความจริงมีผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนตัว
เรายังจะสามารถยึดถือความจริงให้สูงส่งกว่าผลประโยชน์ส่วนตนได้หรือไม่ ?
ความจริง 4 แบบในราโชม่อน
มันคือการเลือกมองในมุมที่ตนเองได้ประโยชน์
มันอาจทำให้เราดูดีในสายตาคนอื่น
แต่เชื่อเถอะ มันทำให้เราแย่ในสายตาของเราเอง
การซื่อตรงต่อความจริงแม้ความจริงนั้นไม่เป็นผลดีกับตัวเราต่างหากคือสิ่งที่น่ายกย่อง ผมคิดว่าสังคมส่วนใหญ่ยกย่องคนแบบนี้
สำคัญที่สุดคือตัวเราคงรู้สึกดีที่ได้พูดความจริงออกมา
เป็นการฝืนใจต่อสู้กับอัตตาเพียงชั่วครู่ แต่ได้ความสบายใจระยะยาว เมื่อฝึกบ่อยเข้า นิสัยของการมองเห็นจริงในทุกสิ่งคงเกิดขึ้น และเมื่อลดอัตตาลงได้สมบูรณ์
เราคงเข้าถึงสิ่งที่มนุษย์เข้าถึงได้ยากอย่าง "ความจริงสูงสุด" ซึ่งเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวที่จะนำพามนุษย์ออกจากความทุกข์ได้อย่างแท้จริง
1
โฆษณา