3 ส.ค. 2019 เวลา 05:42 • การศึกษา
ส่งคืนรถที่เช่าซื้อไห้ไฟแนนซ์ไปแล้ว ต้องจ่ายตังค์อีกมั้ย?
ภาพจาก https://th.seaicons.com/47991/
วันนี้มีโอกาสได้คัดเลือกข้อสอบกฎหมาย เห็นว่ามีเรื่องนี้ที่น่าสนใจที่ประชาชนยังไม่ทราบ ชั่งใจอยู่นานว่าจะเขียนดีมั้ย เพราะเหมือนชี้ช่องให้ผู้บริโภคต่อสู้คดีและชนะได้ง่ายๆ แต่บริษัทไฟแนนซ์หรือบริษัทกฎหมายอาจไม่พอใจในบทความนี้ เมื่อคิดได้ว่าโพสนี้ยังมีผู้ติดตามเพียงเล็กน้อย ไม่ค่อยมีคนอ่านกัน ผมจึงเห็นว่าไม่น่าจะเสียหายอะไรมากนัก
1
การที่เราซื้อรถยนต์ซักคันนึงเนี่ย ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้ใช้เงินสดซื้อเหมือนซื้อสบู่ซักก้อน หรือเก้าอี้ซักตัว แต่ใช้วิธีทำสัญญาผ่อนส่งเป็นงวดๆ 60 งวดบ้าง, 84 งวดบ้าง เป็นต้น สัญญานี้เรียกว่า “เช่าซื้อ”
เช่าซื้อเป็นสัญญาที่มีลักษณะพิเศษหลายประการ ที่สำคัญคือผู้เช่าซื้อ สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทุกเมื่อ ตามอำเภอใจ! ดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา ๕๗๓ บัญญัติว่า “มาตรา ๕๗๓ ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง” เมื่อคืนรถไปแล้ว ก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่มอีก มีคำพิพากษาศาลฎีกามากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่น ฎีกาที่ 3238/2552
***แต่มีข้อแม้ว่า เราต้องไม่ผิดสัญญา คือจ่ายครบทุกงวด อันนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญ จากนั้นก็บอกเลิกสัญญาโดยการเรียกให้ไฟแนนซ์มารับรถคืน
ต่อมาไฟแนนซ์ก็จะทำสัญญารับรถคืน โดยมีข้อสัญญาว่า “เมื่อนำรถออกขายแล้วหากยังขาดราคาตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดค่าขาดราคารถตามสัญญา” จากนั้นก็เอารถของเราไปขายทอดตลาดได้ในราคาต่ำมาก แล้วมาเรียกเงินค่าขาดราคาจากเรา ถ้าไม่จ่ายก็ฟ้อง
ถ้าไม่อยากถูกฟ้องก็ไปเจรจาขอส่วนลด แล้วจ่ายปิดไปก็จบ ผมขอบอกว่าเรื่องแบบนี้ไฟแนนซ์ได้เงินเราไปโดยไม่ถูกกฎหมาย! ที่ถูกคือเราคืนรถ แล้วจบ ไม่ต้องจ่ายค่ารถ แต่อาจจ่ายค่าติดตามนิดหน่อยตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง น่าจะหลักร้อยบาท
1
ทำไมถึงเป็นอย่างงั้น ทั้งๆที่มีสัญญาตกลงไว้ชัดว่าเราต้องจ่าย? ก็เพราะกฎหมายมาตรา ๕๗๓ ข้างต้นนั้นไง บอกว่าเรามีสิทธิที่จะคืนได้ มันเป็นสิทธิของเรา เราไม่ได้ผิดสัญญาหรือมีหนี้ค้างต่อกันอีก แค่ส่งงวดถัดไปไม่ไหว เปลี่ยนใจขอยกเลิกโดยการคืนรถไปเท่านั้น
แม้จะมีสัญญาระบุให้จ่ายค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาด แต่ศาลท่านว่า ”เมื่อผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิได้ค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดราคาตามสัญญาอีก การที่ผู้เช่าซื้อทำข้อตกลงว่าจะชำระค่าขาดราคา ข้อตกลงนี้ย่อมเป็นการตกลงในหนี้ที่ไม่มีอยู่จริง ไม่อาจบังคับได้”
เห็นมั้ยครับ เรื่องแบบนี้ไฟแนนซ์และบริษัทกฎหมายไม่อยากให้รู้หรอก คนที่รู้กฎหมายก็มักจะได้เปรียบกว่าเสมอ หรือรู้ไว้ไม่เสียเปรียบนั้นเอง
โฆษณา