2 ส.ค. 2019 เวลา 03:45 • สุขภาพ
2️⃣7️⃣💬 มีคนสอบถามเข้ามาเรื่อง "โรคกษัย"
🔴ผมจะมาขยายความเรื่อง "โรคกษัย" ให้ครับ
🔴(ต่อจากบทความเรื่อง "ตำรับยานารายณ์พังค่าย")
🔴ยาวหน่อยนะครับ 😆😆😆😆
"โรคกษัย" (Photo by Google)
🤔 อย่างไรจึงเรียกว่ากษัย❓
🔴 "กษัย" เขียนได้หลายอย่าง เช่น
🔴 กษัย, กระษัย, กไษย, กไสย เป็นต้น
🌞 คนหนุ่มสาวสมัยนี้ พอได้ยินค่ำว่า “กษัย” ส่วนมากมักจะหันมามองหน้ากันด้วยความสงสัยว่ากระษัยคืออะไร เป็นอย่างไร แต่คนรุ่นผู้ใหญ่หรือคนแก่คนเฒ่า คงจะคุ้นเคยกับคำนี้มาบ้างแล้ว มาลองทำความรู้จักกับโรคนี้ดูว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ ทำไมจึงพูดกันถึงโรคนี้อยู่บ่อย ๆ แต่ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจด้วยว่า โรคกระษัยนี้ เป็นชื่อเรียกอาการโรคชนิดหนึ่งในทรรศนะของแพทย์แผนโบราณไทย
🌞 กษัยหมายถึงโรคอะไร❓
"โรคกษัย" ตามความหมายของแพทย์แผนโบราณ เขาถือว่า เป็นโรคของความเสื่อมโทรมของร่างกาย โดยไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ทางแผนโบราณถือว่าร่างกายของคนเราเกิดจากธาตุทั้ง 4 มารวมกัน มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และธาตุทั้ง 4 มันได้เสื่อมหน้าที่ของมัน จึงทำให้ร่างกายอ่อนแอ ทรุดโทรมลง ทำงานไม่ได้ตามปกติ
🤢 การทำงานผิดปกติไปของธาตุทั้ง 4 อย่าง เช่น⤵️
⛰ ธาตุดิน เช่นกระดูก(ซึ่งถือว่าเป็นกองดินกองหนึ่ง) ผิดปกติไป ก็ถือว่าธาตุดินผิดปกติ
💦 ธาตุน้ำ เช่น ถ้าเลือด(ซึ่งถือว่าเป็นกองน้ำอันหนึ่ง) น้อยลง ก็ถือว่าธาตุน้ำผิดปกติ
🌪 ธาตุลม เช่น แรงที่ดันให้เลือดเดิน(ซึ่งถือว่าเป็นลมกองหนึ่ง) เมื่อเลือดไม่สูบฉีดหรือสูบฉีดไม่ดี ก็ถือว่าธาตุลมผิดปกติ
🔥 ธาตุไฟ เช่น ถ้าน้ำย่อยอาหาร(ซึ่งถือเป็นกองไฟกองหนึ่ง) ไม่ทำงานก็ถือว่าธาตุไฟผิดปกติ เป็นต้น
✅ เมื่อธาตุทั้ง 4 มันเสื่อม สุขภาพร่างกายก็จะเสื่อมลง สรุปแล้วกระษัยจึงมีความหมายกว้างมาก เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของร่างกาย(ธาตุทั้ง 4) นั่นเอง 👍
ธาตุในร่างกาย ทั้ง 4 ธาตุ (Photo by Google)
🌍 ธาตุทั้ง 4 มีอะไรบ้าง 🌍
⛰ ธาตุดิน มี 20 กอง ได้แก่
- เนื้อ, - กระดูก, - เส้นเอ็น, - ตับ, - กระเพาะ, - ลำไส้, - ผม, - ฟัน, - หนัง ฯลฯ
💦 ธาตุน้ำ มี 12 กอง ได้แก่
- น้ำลาย, - น้ำมูก, - น้ำเหลือง, - น้ำหนอง, - น้ำดี, - น้ำโลหิต, - น้ำปัสสาวะ ฯลฯ
🌪 ธาตุลม มี 6 กอง ได้แก่
- 1. ลมพัดจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง ทำให้เลือดลมเดินดี
- 2. ลมพัดจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน
- 3. ลมพัดอยู่ในท้อง ในกระเพาะ ในหลอดลำไส้
- 4. ลมพัดอยู่ในท้อง นอกกระเพาะ นอกหลอดลำไส้
- 5. ลมหายใจเข้าหายใจออก
- 6. ลมพัดทั่วสาริกาย ออกจมูก ออกหู ออกตา ออกปาก ออกทางปัสสาวะ ออกทางอุจจาระ ออกทางช่องคลอด
🔥 ธาตุไฟ มี 4 กอง
- 1. ทำให้ร่างกายอบอุ่น(ถ้าหมดอุ่นก็ตาย)
- 2. ทำให้ต้องอาบน้ำ และพัดวี
- 3. ทำให้ร่างกายแก่ลงไปทุกวัน ๆ
- 4. ช่วยย่อยอาหาร
😵 อาการของโรคะษัย 😵
อย่างที่เคยกล่าวไว้ ในบทความก่อนหน้านี้
ลักษณะกษัยโรค มี 26 จำพวก แบ่งเป็น
1. กษัยบังเกิดแต่กองสมุฎฐานธาตุ
2. กษัยบังเกิดเป็นอุปปาติกะโรค
⭐️ ผมจะยกตัวอย่างอาการของโรค
⭐️ "กษัยโอปาติกะโรค"
⭐️ "กษัยกร่อน"
👉 อาการของโรคกษัยโอปาติกะ
- กระษัยประเภทนี้กินไม่ได้นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย อาจจะมีอาเจียน ง่วงเหงาหาวนอน ไม่เป็นอันที่จะทำอะไร ปวดตามท้องน้อย ปวดเมื่อยไปหมด ซูบผอมลง เหงื่อออกตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า สมองมึนงง ถ้าถูกอากาศเย็นหรือที่ชื้นแฉะหรืออยู่ในน้ำ จะปัสสาวะบ่อย มีอาการจุกเสียดแน่น ปวดท้อง น่องหมดแรง
 
👉 อาการของโรคกษัยกร่อน
เส้นท้องตึง เจ็บสะเอว มือเท้าชา วิงเวียน ตาฝ้าฟาง หูอื้อ ท้องขึ้น กินอาหารไม่ได้ มักปวดเสียดแทงตั้งแต่หัวหน่าวถึงยอดอก มักมีลำมีก้อนตามท้องน้อยและจะถ่วงเป็นก้อนอยู่ที่หัวหน่าวหน้าขาทั้ง 2 ข้าง แล้วเลื่อนลงไปถึงลูกอัณฑะ เกิดฟกบวมอักเสบจับต้องไม่ได้ เพราะเจ็บปวดเป็นก้อนเป็นเถาเป็นลำ(ก้อนยาว)
🔴 เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ถ้าเป็นผู้หญิงจะมีอาการเจ็บท้องน้อย ถ่วงคล้ายไส้เลื่อน แต่ไส้เลื่อนนั้น คนที่เป็นจะกินอาหารได้ และนอนหลับสบาย จะมีอาการเฉพาะเจ็บเสียดท้องน้อยแต่คนที่เป็นกระษัยกร่อน จะหาความสบายไม่ได้ คือจิตใจไม่สบายเหมือนกับคนเป็นโรคประสาท กินไม่ได้ มึนงง นอนไม่หลับ ผอมแห้งแรงน้อย
🤔 แผนโบราณเขาตรวจเขารักษาอย่างไร❓
- การตรวจก็ใช้วิธีสอบถามอาการจากคำบอกเล่าของผู้ป่วย ดูอาการ สอบถามความเป็นมา เป็นนานเท่าใด กินนอนได้ไหมเป็นอย่างไร การรักษาของแผนโบราณนั้น เขาจะถือว่าคนที่เป็นโรคนั้นสะสมของไม่ดีไว้ หรือหมักโรคไว้ ต้องถ่ายเอาโรคหรือของเก่าที่ไม่ดีในร่างกายออกมาทิ้งให้หมด แล้วค่อยกินยาไปรักษา หรือบำรุงให้ร่างกายแข็งแรงเหมือนเดิม เราจึงใช้คำว่า ยารุยาถ่าย กับยาบำรุง ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดว่า ทำไมแผนโบราณต้องถ่ายกับต้องบำรุง เพราะการมองปัญหาและวิธีแก้ปัญหาแตกต่างกับปัจจุบัน
🔴แถมให้เพิ่มเติมครับ🔴
❗️กษัยบังเกิดเป็นอุปปาติกะโรค นั้นมีถึง 18 อย่าง❗️
❗️ผมจะอธิบายทั้ง 18 นี้ครับ❗️
⭐️ โรคกษัย 18 อย่าง เรื่องของระบบทางเดินอาหารที่เกี่ยวกับกระเพาะ ลำไส้ ตับ ตับอ่อน ระบบน้ำดี และระบบขับถ่าย ในคัมภีร์กษัยส่วนใหญ่จะเป็นกษัยที่บังเกิดเป็นอุปปาติกะโรค 18 อย่างดังนี้ คือ ⤵️
➖ 1. กษัยล้น(กษัยลม)
ลักษณะกษัยล้นนั้นเกิดเพื่อน้ำเหลือง โดยกำลังลมพัดให้เป็นฟองแลน้ำ (ข้นเข้าเป็นก้อนตามตำราวัดโพธิ์) กระทำให้ท้องลั่นขึ้นลั่นลง ถ้าข้างขึ้นให้แดกอก ถ้าข้างแรมให้ถ่วงหัวเหน่า ดังจะขาดใจตายดังนี้ ตามการแพทย์แผนปัจจุบันโรคนี้เมื่อเปรียบเทียบแล้วน่าจะสัมพันธ์กับโรคอาหารไม่ย่อย ในกระเพาะอาหารมีกรดมาก หรือลำไส้อักเสบ
➖ 2. กษัยราก
ลักษณะกษัยโรคบังเกิดขึ้นเป็นอุปปาติกะ บังเกิดเพื่อลมร้อง ให้อาเจียนลมเปล่า แลให้ลั่นอยู่ในท้องดังจ๊อกๆ แล้วให้ตึงไปทั้งกาย ดุจบุคคลเอาเชือกมารัดไว้ ให้ผู้นั้นร้องครางอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาด ดังจะขาดใจตาย ถ้าเปรียบกับโรคในปัจจุบัน โรคนี้ก็น่าจะเกี่ยวกับอาการมีกรดอยู่มากในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารเป็นแผล ลำไส้อุดตัน หรือลำไส้ติดกัน
➖ 3. กษัยเหล็ก
กษัยเหล็ก กระทำให้หัวเหน่าแลท้องน้อยนั้นแข็งดุจดังแผ่นหิน แลจะไหวตัวไปมาก็มิได้ ครั้นแก่เข้าแข็งลามขึ้นไปถึงยอดอก แล้วให้บริโภคอาหารมิได้ ให้ปวดขบดังจะขาดใจตายดังนี้ ถ้าเทียบกับแผนปัจจุบันสำหรับเพศชายจะคล้ายกับโรคลำไส้ตรงอักเสบหรือไส้เลื่อน โดยจะมีก้อนไปอุดตันกดทับทำให้มีอาการปวด หรือเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากโต ไส้ติ่งอักเสบเรื้อรัง ส่วนในเพศหญิง จะเปรียบได้กับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบกลายเป็นหนอง ในคัมภีร์กล่าวไว้ว่าเป็นเพียงการอักเสบธรรมดาของลำไส้ มีแก๊สและลมในลำไส้ทำให้มีอาการท้องแข็ง เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ ไม่มีอันตรายถึงชีวิต
➖ 4. กษัยปู
บังเกิดขึ้นเป็นอุปปาติกะ เกิดเพื่อโลหิตคุมกัน มีสัณฐานดังปูทะเลเข้ากินอยู่ในกระเพาะข้าว กระทำให้ปวดท้องน้อยเป็นกำลัง บริโภคอาหารซึมทราบลงไปเมื่อใดค่อยสงบลง ครั้นสิ้นอาหารแล้วกระทำให้พัดอยู่ดุจดังกงเกวียนลั่น อยู่ตามลำไส้เจ็บดังจะขาดใจตาย โรคนี้เปรียบได้กับอาการมีกรดมากในกระเพาะอาหาร ในกระเพาะเป็นแผล หรือในระบบทางเดินอาหารมีพยาธิอยู่
➖ 5. กษัยจุก
กษัยจุกลมเดินแทงเขาไปในเส้นเอ็นภายในเป็น อาคันตุกวาต แลให้เส้นพองขึ้นในท้อง ให้จุกให้แดกดังจะขาดใจ ให้นอนคว่ำร้องอยู่เป็นนิจจะนอนหงายขึ้นก็มิได้ มีทุกข์เวทนาเป็นกำลังดุจกล่าวมาแล้วนี้ โรคนี้เปรียบได้กับโรคในปัจจุบันคือ กระเพาะอาหารเป็นแผล การอักเสบของตับอ่อน หรือลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผล
➖ 6. กษัยปลาไหล
กษัยปลาไหลเมื่อแก่เข้าจึงกระทำโทษ เอาหางนั้นชอนลงไปแทงเอาหัวเหน่าแลทวารหนักทวารเบา แล้วให้ขัดอุจจาระปัสสาวะ ให้อุจจาระเหลืองดังขมิ้น บางทีสีแดงดังน้ำฝางต้มแลน้ำดอกคำ แลตัวกษัยนั้นพันขึ้นไปตามลำไส้ หัวนั้นหยั่งขึ้นไปชายตับ แลกระเพาะข้าว ถ้าบริโภคอาหารลงไปเมื่อใด ตัวกษัยนั้นก็กินอาหารด้วยทุกเวลา ถ้ามิได้บริโภคอาหารลงไป ตัวกษัยนั้นก็เอาชายตับ ชายม้ามให้เจ็บปวดยิ่งนัก บางทีให้เมื่อยขบทุกข้อกระดูก บางทีให้ขนชูชันดุจไข้จับดังกล่าวมานี้ กษัยปลาไหลได้มีกล่าวอยู่เหมือนกันในเวชศาสตร์วรรณนา แต่อาการจะต่างกันคือกล่าวว่า เอาหัวลงขา ทำให้เจ็บสันหลัง ครั้นเมื่อถึงวันมันจะขึ้น มันรุบๆ ตามเส้นจุกเสียด ครั้นนวดลงมันก็ปวดเสียวไปทั้งตัว กินอาหารไม่ได้ ในแผนปัจจุบันเปรียบได้กับโรคเกี่ยวกับระบบน้ำดี การอักเสบของถุงน้ำดี การอักเสบของลำไส้ใหญ่ตอนปลาย ทำให้อุจจาระออกมาเป็นสีแดงเพราะมีเลือดปนอยู่ หรือเกิดจากการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจทำให้มีปัสสาวะเหลืองเพราะบริเวณถุงน้ำดีเกิดการอักเสบขึ้น ซึ่งอาจเป็นอาการเรื้อรังของโรค เช่น นิ่ว มะเร็ง พยาธิในลำไส้ หรือพยาธิในตับก็ได้
➖ 7. กษัยปลาหมอ
กษัยปลาหมอมีจิตวิญญาณเกิดขึ้นในลำไส้ ถ้าข้างขึ้นตัวกษัยบ่ายศีรษะขึ้นมากัดเอาชายตับ ชายม้ามแลปอด กระทำให้จุกให้แดก ถ้าข้างแรมตัวกษัยบ่ายศีรษะลงไปท้องน้อย แลหัวเหน่ากระทำให้ขัดอุจจาระปัสสาวะแล ให้ผู้นั้นเจ็บปวดมีความเวทนาเป็นกำลัง ให้ปวดร้องครางอยู่ดังใจจะขาดตาย อาการของโรคนี้น่าจะเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ทำให้มีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ค่อยออก ทางเดินปัสสาวะมีการอักเสบ อุจจาระแบบกะปริดกะปรอย ลำไส้อักเสบจากพยาธิทำให้รู้สึกเจ็บปวด
➖ 8. กษัยปลาดุก
กษัยปลาดุกเกิดเพื่อโลหิตแลน้ำเหลืองระคนกัน มีจิตวิญญาณดุจปลาดุกจริงๆ เกิดขึ้นในกระเพาะข้าว ถ้าสตรีจับเอามดลูกมีสัณฐานดังแม่หญิงทรงครรภ์ได้ 7 เดือน 8 เดือน บางทีแทงไปซ้าย ขวา ถ้าข้างขึ้นยันไปเอายอดอกให้เจ็บอกต้องลงมิได้ บางทีให้หอบให้สะอึก ถ้าข้างแรมเลื่อนมาอยู่ท้องน้อยแลหัวเหน่า บางทีต่ำลงไปถึงกระดูกสันหลัง ดิ่งลงไปต้นขาทั้ง 2 มิทันรู้ก็ว่ามีครรภ์ ถ้าแพทย์จะรักษาให้พิจารณาให้แม่นยำดังนี้ อาการของโรคนี้เปรียบได้กับการมีเนื้องอกในรังไข่ หรือในปีกมดลูกเป็นถุงน้ำ หรือในมดลูกมีเนื้องอก ซึ่งอาจมีขนาดที่ไม่โตมากนัก หรือที่ขั้วของถุงน้ำในรังไข่มีการบิดตัวและเคลื่อนไหวไปมาได้ จะคลำไม่พบถ้าลงไปที่อุ้งเชิงกราน หรือลำไส้อุดตันเพราะพยาธิ หรือเป็นมะเร็งในมดลูก
➖ 9. กษัยปลวก
กษัยปลวก เพื่อสันทฆาตกระทำให้ปวดขบเอาทรวงอกดังจะขาดใจตาย เป็นแล้วหายไปได้ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน จึงกลับเป็นมาเล่า แต่เป็นเช่นนี้หลายครั้งหลายหน ครั้นแก่เข้ากระทำให้ผิวเนื้อนั้นซีดแลเผือดผอมแห้งลง มิทันรู้ก็ว่าผีปลวกผิดกัน แต่ที่มีหนองแลหาหนองมิได้ ลักษณะดังนี้แพทย์พิจารณาจงละเอียดเถิด ถ้าผีปลวกมีหนอง ถ้ากษัยปลวกหาหนองมิได้ลักษณะดังนี้ แพทย์จงพิจารณาให้ดีเถิด ในแผนปัจจุบันเปรียบโรคนี้ได้กับโรคมะเร็งปอด เป็นเนื้องอก หรือวัณโรค
➖ 10. กษัยลิ้นกระบือ
เกิดขึ้นเป็นอุปปาติกะยา คือกษัยกระบือเป็นคำรบ 10 บังเกิดเพื่อเป็นโลหิต เป็นลิ่มอยู่ชายตับ เป็นตัวแข็งยาวตามชายโครงข้างขวา มีสัณฐานดังลิ้นกระบือ กระทำให้ครั่นตัวให้ร้อนให้จับเป็นเวลาให้แน่นอก ให้บริโภคอาหารมิได้ นอนมิหลับอยู่เป็นนิจ ในกายนั้นซูบผอมแห้งไป ครั้นแก่เข้าตัวกษัยแตกออกเป็นโลหิตแลน้ำเหลืองให้ซึมไปในไส้ใหญ่ แลไส้น้อย ทำให้ไส้พอง ท้องใหญ่ดังกล่าวมานี้ จึงได้ชื่อมารกษัยเป็น อสาทิยะโรคแพทย์จะเยียวยายากนัก ถ้าแก่ถึงตัวกษัยแตกออกแล้วแก้มิได้เลย โรคนี้เปรียบกับโรคปัจจุบันคือ โรคตับอักเสบ มะเร็งตับ ตับแข็ง ถุงน้ำดีอักเสบ การรักษานั้น ให้รักษาตั้งแต่มีอาการเริ่มแรก ด้วยยาเนาวหอยที่มีลักษณะว่าด้วยกษัยจุกในคำรบ 5 ให้กินน้ำกระสายด่าง 6 ประการคือ ด่างสำโรง ด่างงวงตาล ด่างไม้ขี้หนอน ด่างไม้ขี้เหล็ก ด่างหญ้าพันงูแดง ด่างไม้ตาตุ่ม นำน้ำกระสายด่างทั้ง 6 นี้ไปละลายยาเนาวหอยกิน 7 วัน แล้วให้กินยารุต่อไป
➖ 11. กษัยเต่า
เกิดขึ้นเป็นอุปปาติกะ คือกษัยเต่าเกิดเพื่อดานเสมหะตั้งชายโครงซ้ายขวาก็มี เท่าฟองเป็ด แล้วลามขึ้นมาจุกอยู่ยอดอก กระทำให้จับทุกเวลาน้ำขึ้น ให้กายซูบผอม ผิวเนื้อเหลืองดังทาขมิ้น ครั้นแก่เข้าให้โลหิตตกทวารหนัก ทวารเบา โทษทั้งนี้คือ ตัวกษัยแตกออกเป็นอสาทิยะโรค ในปัจจุบันเทียบได้กับโรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี มีอาการซูบผอม เกิดการอุดตันของท่อน้ำดี เนื่องจากเป็นมะเร็งถุงน้ำดี หรืออาจเป็นวัณโรค มะเร็งตับ หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการตับวาย และมีเลือดออกทางทวารหนักได้
➖ 12. กษัยดาน
โบราณเขียน “กษัยดาลุ์” บังเกิดขึ้นเป็นอุปปาติกะ ตั้งอยู่ยอดอกแข็งดังแผ่นศิลา ถ้าตั้งลามลงไปถึงท้องน้อยแล้วเมื่อใด กระทำให้ร้องครางอยู่ทั้งกลางวันแลกลางคืน ถูกเย็นเข้ามิได้ ถูกร้อนเข้าค่อยสงบลงหน่อยหนึ่งแล้วกลับปวดมาเล่า กระทำให้จุกเสียดแน่นหน้าอกบริโภคอาหารมิได้ ถ้าลามลงไปถึงหัวเหน่าแล้วเมื่อใด เป็นอติสายะโทษ แพทย์จะรักษามิได้เลย ถ้าจะรักษาให้รักษาแต่เมื่อยังมิได้ลงถึงหัวเหน่า ดุจจะกล่าวไว้ดังนี้ เปรียบกับปัจจุบันโรคนี้จะเหมือนกับโรคกระเพาะ เช่น กระเพาะเป็นแผล กระเพาะทะลุ
➖ 13. กษัยท้น
เกิดเพื่ออาหารบริโภค เมื่อท้องเปล่าอยู่และมิได้บริโภคอาหารเข้าไปก็สงบเป็นปกติดีอยู่ ครั้นเมื่อบริโภคอาหารเข้าไปได้น้อยก็ดี มากก็ดี จึงกระทำให้ท้นขึ้นมายอดอก บางทีให้อาเจียนให้อ้วก บางทีให้แน่นอกและชายโครง ให้หายใจไม่ตลอดท้องดังจะสิ้นใจ แล้วกระทำให้แน่นขึ้นมาท้องน้อย ชักเอากระเพาะข้าวแขวนขึ้นไปไว้ จะบริโภคอาหารมิได้ ดังกล่าวมานี้ โรคนี้เปรียบได้กับโรคกระเพาะอาหารอักเสบ การอักเสบของระบบทางเดินอาหารตอนต้น หรืออาจเกิดการอุดตันของหลอดอาหารเนื่องจากเนื้องอกก็เป็นได้
➖ 14. กษัยเสียด
เกิดเพื่อลมตะคริวขึ้นมาแต่แม่เท้า ขึ้นตามลำเส้นตะคริว กระทำให้ปวดขบสะดุ้งทั้งตัว แล้วขึ้นเสียดเอาชายโครงทั้ง 2 ร้องดังจะขาดใจ บางทีให้ขบไปทั่วทั้งตัว ถ้าจะรักษาให้นวดเสียก่อน ให้คลายแล้วจึงแต่งยาให้กินต่อไป ในปัจจุบันโรคนี้เปรียบได้กับภาวะที่ร่างกายขาดแร่ธาตุสำคัญ เช่น แคลเซียม ทำให้มีอาการเกร็งเป็นตะคริวเพราะมีแคลเซียมต่ำ ขาดวิตามิน ทำให้มีอาการทางประสาท ประสาทอักเสบ มีเส้นเลือดตีบ
➖ 15. กษัยเชือก
ตั้งขึ้นแต่เหน่าหยั่งถึงหัวใจแข็งดุจเหล็กให้แน่นในโครงเป็นกำลัง ให้จุกเสียดและให้ขัดอุจจาระปัสสาวะ และให้ปัสสาวะนั้นดำเป็นมัน แล้วกระทำให้บริโภคอาหารมิได้ ให้อิ่มไปด้วยลม ให้จับเป็นเพลาบางทีให้ร้อน บางทีให้หนาว ต่อนวดจึงคลายลงหน่อยหนึ่ง ถ้ามิได้นวดให้ตึงแต่งจะย่อตัวก็มิได้ ดุจบุคคลเอาเหล็กมาเสียบไว้ มีความเวทนาเป็นกำลัง ดังกล่าวมานี้ อาการดังกล่าวเปรียบได้กับโรคนิ่ว กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือโรคมะเร็ง ในทางการแพทย์ปัจจุบัน มีกษัยอีกอันหนึ่งในเวชศาสตร์วรรณนา เรียกว่า กษัยเชือกควาย ได้กล่าวว่า เป็นเกลียวอยู่ที่ริมสะดือ ปวดนักหนาหาความสุขมิได้ หัวจุกอยู่สะดือ ปัสสาวะเหลืองดังขมิ้น
➖ 16. กษัยเพลิง
เกิดเพื่อเตโชธาตุ 3 ประการคือ สันตัปปัคคี ชิรนัคคี ปริทัยหัคคี ทั้ง 3 นี้เป็นเหตุกระทำให้จับแต่เพลาบ่าย ให้จักษุแดงให้เจ็บอยู่ยอดอก มักเป็นเหมือนฝีมะเร็งทรวงให้บวมหน้าบวมท้องบวมเท้า ให้ตัวเย็นแต่ร้อนในดังเพลิงเผา ตั้งเหนือสะดือ 3 นิ้ว ให้จุกอกให้แดกอกให้เสียดสีข้าง จะไหวตัวก็มิได้ จับเส้นปัตคาดปวดขบเป็นกำลัง บริโภคอาหารเข้าไปให้พะอืดอะอมให้ท้องขึ้นและมิได้ผายลมให้แน่น บริโภคอาหารมิได้ ให้เสโทตกทุกเส้นขน อาการสำคัญที่กล่าวมานี้เปรียบกับโรคในปัจจุบันคือ โรคไต โรคหัวใจ โรคพยาธิปากขอ เนื่องจากมีอาการบวม ซีด มีไข้ และอาจมีการติดเชื้อร่วมด้วย
- กษัยเกิดเพื่อเตโชชื่อ อะพิตาปาคะนี(ตำราวัดโพธิ์ว่า ไฟ ชีรณคฺคี) มีอาการสำคัญคือ ให้จับไข้ตั้งแต่เวลาบ่าย มีอาการตาแดง เจ็บยอดอก หน้าบวม ท้องบวม เท้าบวม ปาคะนี น่าจะมาจากคำว่า ปาก ซึ่งมาจาก ปาโก ความแก่ รวมกับคำว่า อัคนี เป็น “ปากคนี” ไฟที่ทำให้แก่ ส่วนคำว่า ชีรณํ แปลว่า ความย่อยยับ ความเสื่อม “ชีรณคฺคี” คือไฟเผาผลาญให้เสื่อม ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน ใช้ตำรับยาในขนานที่ 1 เหมือนกันเพียงแต่เพิ่มหอยทรายกับหอยกาบไปเท่านั้น
- กษัยเกิดเพื่อเตโชชื่อ ปริทัยหัคคี เพลิงอาหารที่เผาผลาญอาหารที่พิการ ทำให้พะอืดพะอมเมื่อกินอาหารเข้าไป เบื่ออาหาร มีอาการท้องขึ้น แน่นหน้าอก ไม่ผายลม ใช้ยารักษาขนานที่ 2 เหมือนกันเพียงแต่เพิ่มกระเทียมเข้าไป 1 บาท ปกติแล้วไฟย่อยอาหารคือ ปริณามัคคี ที่มาจากคำว่า ปริฯม คือการแปรไป เปลี่ยนไป ย่อยไป ส่วนปริทัยหัคคีคือ ไฟทำให้ระส่ำระสาย ที่มาจากคำว่า ปริฑยฺหคฺคิ ไฟธาตุที่ทำให้
- กษัยเกิดเพื่อเตโชชื่อ สันตัปปัคคี ทำให้ทั่วตัวเย็น แต่ภายในร้อนเป็นกำลังตั้งแต่ใต้สะดือขึ้นไปสามนิ้ว จุกแดกลั่นขึ้นลั่นลง เสียดบริเวณสีข้างทำให้พลิกตัวไปมาไม่ได้ เจ็บเหมือนเป็นปัตคาด ทำให้หน้ามืด วิงเวียน ปวดศีรษะ ใช้ยาในขนานที่ 3 รักษา
กษัยชนิดนี้จะทำให้มีอาการสำคัญคือ บวม ซีด ซึ่งอาจเกิดจากโรคไต โรคหัวใจ โรคพยาธิปากขอ ผู้ที่มีอาการซีดและเป็นโรคไตมักมีความต้านทานต่ำ จึงมักทำให้มีไข้และอาจมีการติดเชื้อร่วมด้วย
➖ 17. กษัยน้ำ
เกิดเพื่อโลหิต น้ำเหลือง เสมหะทั้ง 3 นี้ เป็นแต่ประการใดประการหนึ่งก็ดี เป็นทั้ง 3 ประการก็ดี เรียกว่า กษัยโลหิต ให้เป็นต้นเหตุ ถ้าสตรีตั้งใต้สะดือ 3 นิ้ว แจ้งอยู่ในคัมภีร์มหาโชตรัตโน้นแล้ว ถ้าบุรุษตั้งเหนือสะดือ 3 นิ้วแจ้งอยู่ในคัมภีร์มุจปักขันทิกาโน้นแล้ว ในที่นี้จะกล่าวแต่กษัยน้ำอย่างเดียว ถ้าบังเกิดขึ้นแก่ผู้ใด กระทำให้ปวดขบถึงยอดอกดังใจจะขาด แล้วตั้งลามขึ้นไปดังฝีมะเร็งทรวงและฝีปลวก ดังนี้
ให้แต่งยาชำระเสียก่อนที่จะแก้ แล้วค่อยวางยาตามลำดับธาตุสมุฏฐานให้กินต่อไป โรคนี้มีอาการเกิดจากมดลูก มีการอักเสบเรื้อรังที่ปีกมดลูก หรือการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งที่อุ้งเชิงกรานต่างๆ สตรีผู้ใดที่เกิดกษัยน้ำและกษัยโลหิตท่านว่า โลหิตจะเข้าฝักติดกระดูกสันหลังและเหน่า บางทีทำให้คลั่งเมื่อจับที่หัวใจ จะทำให้โลหิตจุกในอกและกลายเป็นฝียอดคว่ำเมื่อเกิดแก่บุรุษ หรือกลายเป็นมานโลหิต หรือกลายเป็นมุตกิด มุตตฆาต สันทฆาต เพราะกษัยน้ำเกิดจากโลหิตช้ำ
➖ 18. กษัยลม
เกิดจากลม เช่น
- ลมในไส้ ทำให้เป็นดานกลมเท่าลูกตาล เมื่อเป็นมากเข้าจะทำให้แข็งไปทั้งสองข้าง ทำให้จุกเสียดแน่นในอก ให้แก้ด้วยการเอาผักเสี้ยนผีคั่ว 1 ลูก ลูกในสะบ้าเผา 1 บดละลายกับเหล้าให้กิน
- ลมนอกไส้ เมื่อแล่นเข้าในกระดูก จะทำให้เมื่อยในกระดูกเหมือนจะแตก ให้แก้ด้วยการเอากระดูกงูเหลือมเผา 1 บดละลายกับเหล้าให้กิน
- ลมทั่วสรรพางค์กาย เมื่อลมประมวลกันเข้าจะอยู่เหนือสะดือเท่าลูกมะเดื่อ ทำให้จุกเสียด แน่นอก
- ลมอุทรวาต เกิดจากปลายเท้าขึ้นมาศีรษะ ลมจะพัดอยู่ยอดอกแล้วแล่นเข้าลำไส้ ทำให้เป็นฝีรวงผึ้ง เจ็บปวดทรมานมาก
- ลมอุทธังคมาวาตา จะเกิดจากปลายเท้าจนถึงกระหม่อม พัดอยู่ที่ใดก็จะเจ็บปวดที่บริเวณนั้น
🙏🙏 Special Thanks 🙏🙏
• นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ : 37
• เดือน/ปี : พฤษภาคม 2525
• คอลัมน์ : การรักษาพื้นบ้าน
• นักเขียน : ประเสริฐ พรหมณี
• หนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
• ข้อมูลบางส่วน : Wikipedia
• รูปภาพบางส่วน : Google
⭐️ เรียบเรียงโดย ⭐️
🍃 นายนิว 🍃

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา