3 ส.ค. 2019 เวลา 01:08 • การศึกษา
ตอนที่ 67 กินปลาดิบ เสี่ยงพยาธิ?
ส่วนใหญ่พวกเรามักจะมีความรู้มาว่า การกินปลาน้ำจืดสุกๆ ดิบๆ นั้นเสี่ยงต่อพยาธิ แล้วถ้าเรากินปลาทะเลดิบอย่างซาซิมิ ซูชิล่ะ จะเสี่ยงต่อพยาธิบ้างไหม ไปดูกันเลยฮะ!
การกินปลาน้ำจืดดิบนั้นมีความเสี่ยงต่อพยาธิสูงมาก เนื่องจากแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาตินั้นมีบริเวณ (หรือปริมาตรน้ำ) ไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับจำนวนปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้น ดังนั้นจึงมีโอกาสที่พยาธิตัวอ่อนจะว่ายน้ำไปพบกับปลาและอาศัยอยู่ในตัวปลาได้มาก แตกต่างจากทะเลซึ่งมีปริมาตรน้ำมหาศาล ดังนั้นตามปกติปลาทะเลมักจะปลอดภัยจากพยาธิมากกว่า แต่ก็ไม่ 100% นะฮะ (เดี๋ยวจะกล่าวต่อไป)
ในประเทศไทยนั้น การกินปลาน้ำจืดสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบก้อยปลา มีความเสี่ยงต่อการติดพยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchis viverrini) ซึ่งตัวพยาธินี้จะเจริญเติบโตในท่อน้ำดีของคน จึงมีโอกาสก่อให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีและท่อน้ำดีอักเสบได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การที่มันก่อให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีในอนาคตได้ฮะ
สำหรับปลาทะเลดิบ แม้จะเสี่ยงต่อพยาธิน้อยกว่า แต่ก็มีรายงานการติดพยาธิในคนญี่ปุ่นซึ่งมีพฤติกรรมการกินปลาดิบเป็นประจำ พยาธิชนิดหนึ่งที่ถูกรายงานคือ พยาธิ Anisakis พยาธิชนิดนี้พอจะเห็นได้ด้วยตาเปล่า (แต่ต้องเพ่งมองหากันดีๆ) และจริงๆ มนุษย์ไม่ใช่โฮสต์หรือแหล่งเติบโตตามธรรมชาติของมัน นั่นคือมันจะอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้ไม่นานเกิน 1-2 สัปดาห์ แต่ช่วงที่มันกำลังอยู่ในกระเพาะลำไส้ มันจะหาทางชอนไชไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร เกิดการปวดท้องรุนแรง หรืออาจเกิดเป็นก้อนทูมที่เติบโตขึ้นจากบาดแผลจนเกิดการอุดตันของลำไส้ได้เลยฮะ ซึ่งการรักษามักจะต้องทำโดยการผ่าตัด
ในปลาทะเลบางชนิดที่มีวงชีวิตในแหล่งน้ำจืดด้วย เช่น ปลาแซลมอน มีรายงานว่าสามารถพบพยาธิตืดปลา (Diphyllobothrium latum) ได้ พยาธิชนิดนี้เมื่อคนรับประทานเข้าไปจะเติบโตอยู่ในลำไส้และมีชีวิตได้ยาวนาน ในบางคนอาจไม่เกิดอาการอะไร แต่ในบางรายก็เกิดอาการปวดท้อง ขับถ่ายมีปล้องพยาธิปนออกมา ทำให้เกิดการขาดวิตามินบีบางชนิด หรือในบางครั้งก็อาจเกิดลำไส้อุดตันได้ฮะ
ฟังดูน่ากลัวใช่มั้ยฮะ? แล้วเราจะป้องกันได้อย่างไรบ้างล่ะ แน่นอน ถ้าเราหลีกเลี่ยงการกินปลาดิบได้ก็จะดีที่สุด การทำลายพยาธิที่เรารู้กันดีอยู่แล้วก็คือการทำให้ปลานั้นสุก โดยอุณหภูมิที่ทำให้พยาธิตายคือต้องสูงกว่า 60-65 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที แต่ทั้งนี้ต้องร้อนจนถึงเนื้อในสุดนะฮะ ถ้าเนื้อในยังแดงๆ อยู่ก็แปลว่าพยาธิอาจจะยังไม่ตายจริง
แล้วในกรณีของซาซิมิ ซูชิล่ะ? ถ้าทำให้สุกก็ไม่ใช่ซาซิมิ ซูชิ แล้วจริงมั้ยฮะ.. เรายังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือนำปลาไปผ่านกระบวนการแช่แข็ง โดยอาจจะแช่ที่ลบ 20 องศาเป็นเวลา 7 วัน หรือที่ลบ 35 องศาเป็นเวลา 15 ชั่วโมงก็ได้ วิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการเตรียมซูชิ ซาซิมิ เพื่อให้ปลอดภัยจากพยาธิตามคำแนะนำของ FDA และ CDC ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่พึงระวังว่าการแช่แข็งนั้นไม่สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคได้ฮะ ดังนั้นถ้าอยากทานซาซิมิ ซูชิให้สบายใจ ควรเลือกร้านที่ได้มาตรฐาน หรือถ้าเลือกซื้อปลาดิบมาทำเองต้องเลือกที่ระบุว่าเป็น "Sashimi / Sushi grade" ที่แปลว่าได้ผ่านการแช่แข็งมาตามคำแนะนำแล้วเท่านั้น เพื่อให้ปลอดภัยจากพยาธิฮะ!
ปล. ช่องฟรีซของตู้เย็นทั่วไป มีความเย็นประมาณ -18 องศา อาจจะไม่เพียงพอที่จะฆ่าพยาธินะฮะ!
"เรื่องหมอง้ายง่ายกับมะไฟ" ตีพิมพ์เป็นคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ทุกวันศุกร์ สามารถติดตามได้ทั้งในหนังสือ และทาง Facebook & Blockdit “มะไฟ” ฮะ!
(สามารถโหลด app ได้ทั้ง iOS และ Android จากนั้น search หาชื่อ “มะไฟ” ได้เลยฮะ แล้วก็อย่าลืมกด follow เป็นอันเสร็จ!)
โฆษณา