3 ส.ค. 2019 เวลา 02:32 • ประวัติศาสตร์
"เมรัยพาเที่ยวครับ.." - "เมรัยไม่ใช่สุรานะครับ🤔🤔" "เรื่องเล่าของเหล้าเเช่ที่คุณต้องรู้!!:
"ก่อนอื่นบทความชิ้นนี้ไม่ได้สนับสนุนให้คนดื่มสุราเมรัยนะครับ" แต่เป็นการเเชร์ประวัติและที่มาของเมรัยชนิดต่างๆครับ😊😊
อย่างไรก็ตามผมว่าการได้รู้จักและได้มีโอกาสลองชิมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของที่ต่างๆประเทศต่างๆนั้นมันก็เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมอย่างหนึ่งนะครับเพราะเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์อยู่คู่มนุษย์มานับพันปีเลยทีเดียวและแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกวัฒนธรรมบนโลกนี้เลยก็ว่าได้ (ชิมจิบๆ พอนะครับ!!🤣🤣🤣)
1
ดังนั้นยิ่งถ้าได้มีโอกาสได้รู้ที่มาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นก็จะทำให้การเดินทางยิ่งสนุกขึ้นเลยครับ
ภาพจาก wikipedia
บทความนี้ผมเลยขอตามรอย"เมรัย" โดยจะเล่าประวัติและที่มาของเมรัยหลักๆ บนโลกนี้นะครับ
อะไรคือเมรัย???
เมรัย แปลตามราชบัณฑิตยสถานนั้นแปลว่า น้ำเมาที่ได้จากการหมัก ส่วนสุราแปลว่า น้ำเมาที่ได้จากการกลั่น...
ดังนั้นเมรัยก็คือเหล้าหมักหรือเหล้าแช่ได้แก่ ไวน์, เบียร์ และ สาเก, สาโท เป็นต้น และเป็นเรื่องที่ผมจะตามรอยในบทความนี้นะครับ
เมื่อเอาเหล้าหมักไปกลั่นโดยจะมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงขึ้นและนั่นก็คือ สุรา ซึ่งได้เเก่ บรั่นดี, วิสกี้ และโชจุ เป็นต้น
ดังนั้น "สุรา" กับ "เมรัย" จึงต่างกันนะครับ
1
**แต่ความหมายในกฎหมายสรรพสามิตสุราจะรวมทั้งสองอย่างแล้วเเยกเป็น เมรัย กับ สุรากลั่น
ครั้งนี้เลยจะขอชวนทุกคนไปท่องโลกเมรัยกับผมนะครับ ยังไม่ท่องสุรานะ
"ไวน์ (Wine)" เมรัยตัวเเรกที่จะพาไปรู้จัก ไวน์ซึ่งเป็นเมรัยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเก่าแก่มากโดยไวน์นี้จะทำมาจากองุ่นครับและการผลิตจะเริ่มต้นจากการนำองุ่นมาขยำจนเละแล้วจากนั้นก็นำไปใส่ในถังหมักและปล่อยให้เกิดการหมักขึ้นซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้เวลาเป็นเดือนขึ้นไป
ในช่วงการหมักนี้เองจะมียีสต์ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรืออาจใส่เพิ่มเข้าไปก็ได้จะทำหน้าที่ในการเปลี่ยนน้ำตาลในผลองุ่นให้เป็นเเอลกอฮอล์ครับ....นั่นละครับ "เมรัยไวน์" ก็เริ่มเกิดขึ้น.
ภาพจาก Howstuffwork
จากนั้นก็นำไปให้ความร้อนหรือบ่มตามแต่ละเทคนิคของแต่ละผู้ผลิต ดูเหมือนง่ายใช่มั๊ยครับแต่จริงๆแล้วไม่ง่ายเลยเพราะถ้าจะได้ไวน์ที่ดีนั้นความสำคัญจะเริ่มตั้งแต่การเลือกพันธุ์องุ่นและคุณภาพขององุ่นที่ใช้ในการทำ
ไม่ว่าจะพันธุ์ที่ใช้ผลิตไวน์แดง หรือ ไวน์ขาว ล้วนต้องมาจากคุณภาพขององุ่นที่ดี และในส่วนของพันธุ์องุ่นที่จะใช้อันนี้คงขึ้นอยู่ความชอบของผู้บริโภคด้วยและรวมถึงรสชาติหลังการหมักที่ออกมา ตัวอย่างชื่อพันธุ์องุ่นสำหรับไวน์ขาวดังๆก็เช่น Sauvignon blanc, Chardonnay ส่วนเเดงเช่น Carbernet sauvignon, Merlot และ Pinot noir เป็นต้น
โดยความชื่นชอบเรื่องความเปรี้ยว, ความฝาด, ความหนัก, ความนุ่ม, กลิ่น และ ความกลมกล่อม ล้วนเเตกต่างกันในแต่คะคน แต่ผมคงไม่ลงรายละเอียดของชนิดไวน์นะครับถ้าไว้มีโกาสอาจมาเล่าเรื่องไวน์และการชิมไวน์โดยเฉพาะนะครับ
นอกจากนั้นอุณหภูมิการหมัก และระยะการเอจจิ้ง (Aging) ก็จะส่งผลต่อคุณภาพของไวน์เช่นกัน
1
ดังนั้นการที่ไปเที่ยวไร่องุ่นผู้ผลิตไวน์ (Vineyard) ในหลายๆที่แล้วได้จิบๆและชิมไวน์นั้นจะพบว่ารสชาติจะแตกต่างในแต่ละไร่เลยที่เดียวทั้งๆที่เป็นองุ่นและไวน์ชนิดเดียวกัน นอกจากนี้ไร่องุ่นไวน์ในยุโรปใต้เช่น อิตาลี หรือ ฝรั่งเศส เขาก็มักจะทำไวน์ที่ผสมจากองุ่นหลายพันธุ์แล้วไปปรับจนได้สูตรของไวน์ของเขาเองซึ่งทำให่รสชาติยิ่งแตกต่างเหมือนกินอาหารคนละสูตร...นั่นยิ่งทำให้ยิ่งสนุกมากสำหรับนักชิมไวน์เลยครับ..
3
ไวน์มาจากไหน??? นักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบว่าอย่างน้อยมีการผลิตไวน์มาตั้งแต่ 6000 ปีก่อนคริสตกาลแถวประเทศจอร์เจีย (Georgia) ในปัจจุบันและตอนนี้ไวน์ที่จอร์เจียก็ยังดีอยู่ครับ...
ประเทศจอร์เจีย
และยังมีการพบหลักฐานการหมักไวน์ในอิหร่านเมื่อ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล และพบทางตอนใต้ของอิตาลีคือซิซิลี (Sicily) เมื่อ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล
จากนั้นพบว่าในช่วง 750 ปีก่อนคริสตกาลไวน์ได้แพร่หลายไปทั่วทุกประเทศรอบทะเลเมดิเตอเรเนี่ยน (Mediterranean) รวมถึงตะวันออกกลาง
ดังนั้นอาณาจักรโบราณไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซีย (Persia), อียิปต์ (Egypt), กรีก (Greek), โรมัน (Roman) และอื่นๆ ล้วนมีการดื่มไวน์กันโดยทั่วไป
1
ภาพจาก wikipedia
ในระยะเวลาต่อมาไวน์ก็เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลักของชาวยุโรปใต้เช่น อิตาลี่, สเปน, ฝรั่งเศส, กรีซ และอื่นๆ รวมถึงประเทศในตะวันออกใกล้อย่างเลบานอน
1
ลีออน (Lyon), ในฝรั่งเศสมีไวน์ดีๆเยอะ ภาพสะพานเมือง Florence, Italy แถว Tuscany และ Cella ไวน์ใต้เดินใน Moldova
จากนั้นเมื่อยุโรปได้ค้นพบทวีปใหม่อย่างอเมริกาและออสเตรเลียในศตวรรษที่ 15 วัฒนธรรมการดื่มไวน์และการปลูกองุ่นไวน์ก็ได้ถูกนำไปด้วยและหลายประเทศก็ประสบความสำเร็จในการผลิตไวน์เป็นอย่างมากอย่างเช่น อเมริกา, อาร์เจติน่า, ชิลี และ ออสเตรเลีย เป็นต้น
ไวน์ยังถูกนำไปปลูกในอาฟริกา เช่น อาฟริกาใต้ซึ่งก็มีไวน์ดีเช่นกัน...
นอกจากนั้นการได้ลิ้มรสไวน์ดีๆ มันก็ทำให้อาหารอร่อยขึ้นด้วยนะครับเช่นต้องลองไวน์ขาวกับอาหารทะเลและไวน์เเดงกับสเต็ก🤩🤩 และที่สำคัญราคาไวน์ในต่างแดนนั้นไม่ได้แพงเหมือนบ้านเรานะครับ ..บางประเทศอย่างชิลีราคาพอๆกับโค๊กครับ🤣🤣🤣...และนั่นก็คือไวน์
อ้าวแล้วแชมเปญ (Champagne) ละคืออะไร? เเชมเปญเป็นไวน์มีแก๊ซ (Saprkling Wine) ครับ ซึ่งก็คือการนำไวน์ปกติแล้วมาหมักต่อรอบสองโดยยีสต์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่ทำให้เกิดแก๊ซ
ภาพจาก Wine Polly
ซึ่งเทคนิคการทำ Spakling wine จะมีวิธีที่แตกต่างกันและมักใช้ไวน์หลายชนิดมาผสมรวมกันก่อนหมักครั้งที่ 2 ให้เกิดเเก๊ซ
เทคนิคที่เป็นที่ยอมรับมากคือเทคนิคแบบแชมเปญ (Champange) แต่จะเรียกเเชมเปญได้ต้องผลิตจากแคว้นแชมเปญเท่านั้นนะครับ
เเชมเปญน่าจะมีขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยนักบวชชาวแชมเปญชื่อ Dom Perignon เป็นบุคคลสำคัญที่พัฒนาจนโด่งดังกระทั่งทุกวันนี้
ส่วนตัวผมชอบ Prosecco ซึ่งเป็น Sparkling wine ที่ต้องผลิตในแคว้น Veneto ของอิตาลีเท่านั้น
แต่ก็มี Sparkling wine ที่ชนิดที่เอาไวน์ธรรมดามาอัดแก๊ซแบบน้ำอัดลม อันนี้จะมีรสชาติแตกต่างกับ Sparkling wine แบบหมักนะครับนอกจากนี้ยังสามารถแยกความแตกต่างด้วยการสังเกตแบบง่ายๆก็คือไวน์อัดแก๊ซเมื่อเทใส่แก้วแล้วฟองอากาศจะขึ้นที่เดียวหมดส่วนไวน์มีแก๊ซแบบหมักฟองอากาศจะขึ้นตลอดครับ....
1
แชมเปญ
คราวนี้มาถึง "เมรัยเบียร์" เบียร์เป็นเหล้าหมักที่มีความเก่าแก่เช่นกันครับอย่างน้อยมีหลักฐานและบันทึกว่ามีการหมักมาตั้งแต่ 8,500 ปีก่อนคริสตกาลในอียิปต์และอิสราเอลซึ่งทำให้เบียร์เป็นอาจจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ (ไม่ยืนยัน🤣🤣)
ภาพที่ Aswan ครับ
แต่ที่แน่ๆเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่คนนิยมดื่มในอันดับต้นๆของโลกน่าจะเป็นรองก็น้ำเปล่า, ชา และ กาแฟครับ
จากนั้นในช่วงยุคกลางประมาณศตวรรษที่ 13 เบียร์ก็มีหลักฐานว่าแพร่หลายมากในยุโรปกลางตั้งแต่โบฮีเมีย (Bohemia)ซึ่งคือ Czech ในปัจจุบัน จนถึง เยอรมัน, ฮอลเเลนด์ ตลอดจนถึงยุโรปเหนือ อังกฤษและไอร์แลนด์ โดยเฉพาะในหมู่นักบวช
เยอรมันไส้กรอกกับเบียร์
จากนั้นเบียร์ก็แพร่หลายไปทั่วโลกในเวลาต่อมารวมถึงประเทศไทยด้วย
เบียร์ก็ใช้วิธีการหมักที่ต่างจากไวน์ครับโดยเบียร์จะใช้เมล็ดข้าวบาร์เลย์ (Barley)เป็นวัตถุดิบแทนที่จะเป็นองุ่น โดยต้องเอาเมล็ดบาร์เลย์มาทำให้งอกก่อนที่เรียกว่า มอลติ้ง (Malting) ซึ่งช่วง Malting นี่เองเอนไซม์ในตัวมันเองจะเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล
จากนั้นยิสต์ค่อยเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์เช่นกันแล้ว "เมรัยเบียร์" ก็เกิดขึ้น
1
โรงงาน Guinnese และ บาร์เหล้าใน ไอร์แลนด์
แต่ในการทำเบียร์มักจะมีการใช้ดอกฮอบ(Hop) ที่ทำให้รสชาติขมนิดๆ ซึ่งเบียร์ส่วนใหญ่จึงใส่ฮอบเลยมีรสชาติขมเกือบทั้งนั้น...
1
ฮอบครับ
แล้วก็มาถึง"เมรัยสาเก" หรือ "ไวน์ข้าว" หรือ "เหล้าหมักจากข้าว"
เหล้าหมักจากข้าวอย่างน้อยมีมานานมากเช่นกันอย่างน้อย 1,900 ปีก่อนคริสตกาลในสมัยราชวงศ์เซีย (Xia) ประเทศจีน จนกระทั่งช่วงราชวงศ์ถังเหล้าหมักจากข้าวก็แพร่หลายไปทั่วแผ่นดินจีน
ร้านเหล้าในเมือง Xian
เหล้าหมักจากข้าวก็เผยแพร่ไปในญี่ปุ่นเหมือนกันโดยมีบันทึกของจีนที่เขียนถึงว่าคนญี่ปุ่นดื่มเหล้าหมักจากข้าวที่เรียกว่าสาเกตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ต่อมาในช่วงปี 700 สมัยนาระ (Nara) สาเกก็มีพัฒนาการอย่างมากในเรื่องเทคนิคการผลิต
ต่อมาในช่วง Edo จนถึง ราชวงศ์ Meiji สาเกได้มีความนิยมเป็นอย่างมากโดยมีโรงผลิตสาเกทั่วไปและโรงผลิตสาเกก็มีทั่วญี่ปุนเลยทีเดียว
เมืองใน Kiso valley ของ ญี่ปุ่น
ในบริเวณประเทศไทยเราเองก็มีหลักฐานการดื่มเหล้าหมักจากข้าวที่เรียกว่าสาโทมาตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยมีบันทึกในศิลาจารึกสมัยลพบุรีตั้งเเต่คริสตศตวรรษที่ 10 (หรือพุทธศวรรษที่ 16) และต่อมาในสมัยอยุธยาสาโท และ อุ (เหล้าหมักจากข้าวผสมแกลบ) ก็เป็นที่นิยมดื่มโดยทั่วไป ตอนนี้ต้องไปหาดื่มตามต่างจังหวัดครับ..
1
ภาพจาก wikipedia อันล่างเป็นไหอุครับ
การหมักเหล้าหมักจากข้าวทุกชนิดคงต้องเริ่มทำ โคจิ (Koji) หรือ คนจีนเรียกว่า ชิว์ (Qu) ซึ่งคือการเอาข้าวมาขึ้นรา แล้วราจะทำหน้าที่เปลี่ยนจากแป้งข้าวเป็นน้ำตาลจากนั้นค่อยให้ยีสต์ทำน่าที่หมักต่อโดยเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์เช่นเดียวกับเบียร์และไวน์ครับ และเเล้วนั่นคือ "เมรัยสาเก"
"เมรัยปูเกต์ (Pulque) ก็คือเมรัยจากน้ำหวานจากต้นอะกาเว่ซึ่งเป็นที่นิยมมากแถวอเมริกากลางอย่างเม็กซิโก โดยการตัดต้นอะกาเว่แล้วเอาน้ำหวานมาหมักจนได้แอลกอฮอล์
1
pulque และอะกาเว่อยู่ข้างหลังครับ
ปูลเกต์ (Pulque) ถ้าเอาไปกลั่นก็คือ เตกิล่า (Tequila) ครับ ปูลเกต์น่าจะมีการดื่มาอย่างน้อย 1,000 ปีที่แล้ว และเเพร่หลายมากๆในสมัยอาณาจักร Aztec ในช่วงศควรรษที่ 13 จนถึงปัจจุบัน
จริงแล้วยังมีเหล้าหมักจากผลไม้ในหลายประเทศทั่วโลกเช่นเหล้าหมักน้ำมะพร้าวและอ้อยก็มีในหลายประเทศแต่ที่รสชาติดีคือในกาน่า (Ghana)
เหล้าหมักน้ำมะพร้าวในกาน่า
จริงๆแล้วผลไม้ทุกชนิดที่มีน้ำตาลก็เอามาหมักเป็นเมรัยได้ทั้งนั้นนะครับ..แล้วแต่ว่าทำอร่อยแค่ไหน
สุดท้ายเมรัยที่อยากแนะนำคือ คูมิส (Kumis) ซึ่งคือการนำนมม้ามาทำให้เข้มข้นโดยน้ำตาลมีมากพอแล้วเอาไปหมักด้วยยีสต์ครับ จากนั้นแอลกอฮอล์ก็เกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นนมที่มีแอลกฮอล์ที่เรียกว่า "คูมิส" ซึ่งมีการดื่มกันตั้งแต่ ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลในชุมชนชาวมองโกเลีย, คาซัค และ คีร์กีซ จนกระทั่งปัจจุบัน
*เจงกีสข่านก็ชอบดื่มคูมิสครับ
1
kumis ใน คีร์กิซอร่อยเลยครับ
ยาวเลยครับ ผมขออนุญาติจบการเดินทางของเมรัยแค่นี้นะครับ..
#wornstory ฝากกด ไลค์ และ เเชร์ นะครับ
โฆษณา