6 ส.ค. 2019 เวลา 05:34 • การศึกษา
เงินประกันชีวิต เป็นมรดกมั้ย?
https://today.line.me/th/article/ธนาคารในรัสเซียถูกแฮกต่อเนื่อง+ครั้งล่าสุดถูกขโมยเงินเกือบล้านดอลลาร์-nWR261
คนส่วนใหญ่ ถ้าทำประกันชีวิตกันก็คงจะระบุผู้รับประโยชน์ให้เป็นของคู่สมรส หรือลูก หรือไม่ก็พ่อแม่ เป็นต้น
คือถ้าตัวเอง (หรือเรียกว่าผู้เอาประกัน) ตาย บริษัทประกันก็ต้องจ่ายให้กับคนที่ระบุไว้ ตามสัญญา การจ่ายเงินแบบนี้เป็นการจ่ายตามสัญญานะครับ ไม่ใช่จ่ายเพราะกฎหมายบอกให้จ่าย
เงินประกันชีวิตนั้น เป็นทรัพย์สินที่เราไม่เคยมีอยู่มาก่อนเลย ไม่ใช่ทรัพย์สินของเรา แต่เป็นของบริษัทประกันที่จะจ่ายให้ตามสัญญา
เมื่อไม่ใช่ทรัพย์สินของเรา แล้วจะถือว่าเป็นมรดกได้ยังไง?
***ในทางวิชาการ ก็เป็นเช่นนั้นครับ คำว่ามรดกหมายถึงทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดที่เจ้ามรดกมีอยู่แล้วก่อนตาย ดังนั้น เงินประกันชีวิต ไม่ใช่เงินที่มีอยู่แล้วก่อนตาย (แต่เป็นเงินที่ได้มาเพราะความตาย) จึงไม่ใช่มรดก!
เมื่อไม่ใช่มรดก ปัญหาเกิดทันที เช่นสมมุติระบุว่าให้ภรรยาหรือลูกเป็นผู้รับประโยชน์ แต่ปรากฎว่าเขาตายก่อนเรา แล้วเราตายทีหลัง อย่างงี้ประกันจ่ายให้ใคร ในเมื่อผู้รับประโยชน์ตายไปก่อนแล้ว และเงินประกันนั้นก็ไม่ใช่มรดกด้วย!?
ปัญหานี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ที่ 821/2554 “ภรรยาผู้ตายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายไปก่อน ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต สิทธิของภริยายังไม่เกิดขึ้น เงินประกันจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของภริยาผู้ตาย” เรื่องนี้ศาลวินิจฉัยว่า สิทธิที่จะได้รับเงินประกันไม่ใช่มรดก เงินประกันจึงไม่ตกทอดแก่ทายาท
อ้าว! แล้วเงินจะตกทอดแก่ใคร? หรือประกันไม่ต้องจ่ายเพราะผู้รับประโยชน์ก็ตายไปแล้ว ผู้เอาประกันก็ตายไปแล้ว พูดง่ายๆคือในสัญญาประกันชีวิต ไม่เหลือใครที่จะเป็นผู้รับเงินนี้เลย เงินประกันตามสัญญาก็สูญไป หรือตกแก่ผู้บริหารบริษัทประกันรึเปล่านะ? ถ้าเป็นอย่างงั้นก็จะเกิดความวุ่นวายแก่สังคมแน่ๆ
เรื่องนี้เป็นคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้วเช่นกัน ฎีกาที่ 2401/2515 “เมื่อผู้รับประโยชน์ตายก่อน ย่อมไม่มีตัวผู้รับประโยชน์ที่จะรับเงินได้ แม้เงินนั้นจะไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่กฎหมายแพ่ง บรรพ ๖ ลักษณะมรดก เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับ เงินประกันจึงควรจ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งทรัพย์มรดก”
เห็นมั้ยครับ ศาลท่านแก้ปัญหาเพื่อมิให้เกิดความวุ่นวายในสังคม แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ศาลท่านก็ใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง โดยให้ถือว่า “เงินประกันเสมือนหนึ่งทรัพย์มรดก” ดังนั้นในเรื่องนี้ถ้าภริยาผู้รับประโยชน์ตายไปก่อน เงินประกันจะไม่ตกแก่ทายาทของภริยา แต่จะตกแก่ทายาทของผู้เอาประกัน เพราะถือเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกไงครับ
ถ้า งง ก็ดูรูปประกอบนะครับ
Cr: ผมเอง ลายมือสวยมั้ย
เรื่องนี้ศาลท่านคิดอย่างละเอียดรอบคอบที่สุดแล้ว เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับใช้ การใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนั้น หมายความว่าศาลท่านจำต้องพิจารณากฎหมายสารบัญญัติต่างทั้งหมดแล้ว จึงเลือกใช้สิ่งที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และการตัดสินใจนำมาใช้ก็เพื่อความยุติธรรมด้วย นี่แหละครับจึงเป็นที่กล่าวกันว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน
โฆษณา