21 ส.ค. 2019 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
มนุษย์เงินเดือนมีสวัสดิการอยู่แล้ว "ทำไมต้องทำประกัน?"
มีคำตอบให้ 4 เหตุผลดังนี้
✅ประกันกลุ่ม เป็นสวัสดิการติดโต๊ะ ไม่ใช่สวัสดิการติดตัว
ลองกลับไปดูสวัสดิการประกันกลุ่มที่บริษัทมีให้ ส่วนใหญ่ความคุ้มครองพื้นๆ เช่น คุ้มครองผู้ป่วยนอก (OPD) 1,000 บาท ผู้ป่วยใน 2,000 (IPD) คุ้มครองชีวิต 100,000 บาท
จากตัวอย่างหาก กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ ค่าห้อง การรักษาพยาบาล รวมถึงโรคร้ายแรงต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของครอบครัวอย่างมาก จึงจำเป็นต้องทำประกันเพิ่มเติมในส่วนที่ยังมีไม่พอ
✅แก่ ป่วย สุดเพลียระเหี่ยใจ
ค่ารักษาพยาบาลช่วงวัยเกษียณ
เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียมล่วงหน้า เพราะหลังจากที่เกษียณไปแล้ว สวัสดิการของบริษัท รวมถึงสิทธิประกันสังคมจะไม่มีอีกต่อไป เหลือเพียงแค่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดหลายอย่างในการใช้สิทธิ ถ้าหากต้องการรักษาคุณภาพชีวิตให้เหมือนกับตอนที่ยังมีสวัสดิการอยู่
ควรทำประกันตั้งแต่ตอนที่ยังหนุ่มสาว
รอไปทำตอนที่เกษียณแล้ว นอกจากเบี้ยประกันจะแพงขึ้น ยังมีความเสี่ยงเรื่องปัญหาสุขภาพที่อาจจะถูกเพิ่มเบี้ย หรือไม่คุ้มครองในบางโรค และอาจถึงขั้นไม่สามารถทำประกันได้ ถ้าหากเคยเป็นโรคร้ายแรงมาก่อน
✅เก็บแบบลืม รู้ตัวอีกทีมีเงินก้อน
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เงินเดือนเก็บเงินไม่ค่อยได้ เพราะมีสิ่งเร้าเยอะ มีเรื่องให้ใช้ตลอดเวลา อยู่เฉยๆ แบงค์ยังโทรมาชวนให้เป็นหนี้ "ไม่ทราบว่าช่วงนี้พี่ต้องการใช้เงินก้อนไหม? ดอกดี๊ดี" เผลอเมื่อไหร่พร้อมเป็นหนี้เมื่อนั้น
อย่ากระนั้นเลยหาเครื่องมือออมเงินยาวๆ ในกรมธรรม์ประกันชีวิต เช่น ประกันแพนชั่น, ประกันสะสมทรัพย์, ประกันบำนาญ, หรือประกันควบการลงทุน จะช่วยให้มีการออมอย่างมีระเบียบวินัยและมีความต่อเนื่อง นับว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการออมเงินในระยะยาว นอกจากจะการันตีจำนวนเงินที่จะได้รับ ระหว่างการออมหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินตามจำนวนเงินเอาประกันที่ระบุไว้ในกรมธรรม์อีกด้วย
✅ลดหย่อนภาษีได้ สบายใจละ
ข้อนี้น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่มนุษย์เงินเดือนซื้อประกัน บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำแบบอะไรไป รู้อย่างเดียว ส่ง 10 ปี ลดหย่อนภาษีได้ การที่รัฐบาลส่งเสริมการซื้อประกันแล้วลดหย่อนภาษีได้เพื่อการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของทางภาครัฐและช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สนับสนุนให้มีการออมเงินเพื่อการเป็นค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น
การใช้สิทธิลดหย่อนได้ 2 ส่วนคือ
ส่วนแรกสำหรับเบี้ยประกันชีวิต ประกันออมทรัพย์ที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และประกันสุขภาพ สามารถลดหย่อนรวมกันได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
ส่วนที่สองสำหรับเบี้ยประกันแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ สูงสุด 200,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
สุดท้ายไม่ว่าวันนี้จะมีสวัสดิการอะไรอยู่ กลับไปทบทวนว่ามีเพียงพอไหม? และที่มีอยู่ตอบจุดประสงค์ที่ต้องการไหม?
#อยากให้คนไทยมีกินมีใช้ในวันเกษียณ
#เกษียณดีมีตังค์
โฆษณา