6 ส.ค. 2019 เวลา 10:31
"ปกหลังหนังสือเก่า บอกเล่าอดีต"
นี่คืิอปกหลังรวมเรื่องสั้น ภูเขียว ของ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2511
โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
บนหลังปกมีข้อความโฆษณาหนังสือออกใหม่
แต่ละนามนักเขียนยังเป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน
นายรำคาญ เป็นนามปากกาของ ประหยัด ศ. นาคะนาท นักเขียนและบรรณาธิการคนสำคัญของวงการ
อุษณา เพลิงธรรม คือนามปากกาของ ประมูล อุณหธูป บ.ก.และนักเขียนที่เด็กยุคใหม่ก็รู้จักท่านจากเรื่อง จัน ดารา นักอ่านยกย่องว่าท่านทำงานละเมียดระดับตัดต้นไม้ทั้งป่า เพื่อทำเก้าอี้ตัวเดียว
ขอบกรุง คือรวมผลงานจากคอลัมน์ในนิตยสารชาวกรุงของ ราช รังรอง หรือ รัตนะ ยาวะประภาษ
กรายกรุง ก็เช่นเดียวกัน นิตย์ นราธร คือนามปากกาของ นพพร บุณยฤทธิ์ ต่อมาก็ได้รับหน้าที่บรรณาธิการของชาวกรุง รวมทั้งสยามรัฐด้วย
อาจินต์ ปัญจพรรค์ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็โด่งดังจนทุกคนรู้จักดีอยู่แล้ว
ปกรณ์ วาทิน (ต่วย)​ จินตนา สามพี่น้องตระกูล ปิ่นเฉลียว เด่นกันคนละด้าน
ปกรณ์ คือมือเรื่องสั้น
วาทิน คือมือการ์ตูน และต่อมาคือบรรณาธิการ
จิตนา เป็นทั้งกวีและนักเขียนนิยายแนวลึกลับ
การ์ตูนชุดที่ 3 โดย ต่วย ที่โฆษณาอยู่บนปกหลัง คือต้นธารที่ก่อเกิดเป็นต่วย'ตูนในปัจจุบัน
แรกเริ่มนั้นลุงต่วยและเพื่อน เช่น ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ รงค์ วงษ์สวรรค์ คบคิดกันหาเงิน(เพื่อกินเหล้า)​ โดยยุให้ลุงต่วยรวมเล่มการ์ตูนแก๊กที่เคยพิมพ์ในนิตยสารชาวกรุงออกขาย
ซึ่งก็ขายดิบขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำอย่างรวดเร็ว และออกเล่มต่อมาเรื่อยๆ จนการ์ตูนชักร่อยหรอก็ไปขอเรื่องสั้นจากนักเขียนดังๆที่เคยพิมพ์ในชาวกรุงมาเสริม แล้วใช้ชื่อว่า รวมการ์ตูนต่วยและเรื่องขำขันจากชาวกรุง
ต่อมาก็ทอนชื่อลงเหลือแค่ ต่วย'ตูน และประกาศตนเป็นนิตยสารรายเดือนในเดือนกันยายน ปี 2514
นามปากกา กระจกฝ้า คือ พล.อ.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ขณะนั้นน่าจะยศนายพัน เพราะช่วง 6 ตุลา 19 ท่านยศพันเอกดูแลสถานีวิทยุยานเกราะ
รายชื่อลำดับต่อๆมาก็เป็นทั้งนักเขียนและบรรณาธิการคนสำคัญ รวมถึงศิลปินแห่งชาติในยุคต่อมา
ผมเดาว่าวารสารโบราณคดี ของสุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปาน ก็คือต้นกำเนิดของนิตยสารศิลปวัฒนธรรมในปัจจุบัน
ส่วน รุ้งประสานสาย นั้น ผมค้นเจอว่าเป็นผลงานของกลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย ซึ่งเป็นนักเขียนวรรณกรรม-นักหนังสือพิมพ์หนุ่มสาวในยุคนั้น
เช่น สุจิตต์ ขรรค์ชัย เสถียร จันทิมาธร สุวรรณี สุคนธา เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ประเสริฐ สว่างเกษม ช่วง มูลพินิจ ณรงค์ จันทร์เรือง
ซึ่งบัดนี้หลายท่านจากไป
แต่ทุกนามยังคงเป็นตำนานของวงการหนังสือไทย
โฆษณา