8 ส.ค. 2019 เวลา 09:26 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ประวัติศาสตร์การใช้ดาวเทียมสำรวจโลก
#สาระความรู้จากGistda
(เนื้อหาโดย Gistda , ภาพโดย วิศัลย์ศยา ลอยไสว)
มนุษย์เรามีความพยายามในการเก็บภาพจากมุมสูง เพื่อประโยชน์ทางการทหาร และการสำรวจโลกของเรามานานแล้ว
ย้อนกลับไปราว 70 ปีก่อน เมื่อ ในปี ค.ศ. 1946 ซึ่งเป็นยุคที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งสงบลงได้ไม่นานนักและโลกของเราเข้าสู่ยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ในปีนั้น จรวด V-2 rocket ของสหภาพโซเวียตสามารถเก็บภาพโลกจากอวกาศไว้ได้สำเร็จ และต่อมาในปี ค.ศ. 1960 สหรัฐอเมริกาสามารถส่งดาวเทียม TIROS 1ซึ่งเป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาดวงแรกของโลกได้สำเร็จ ซึ่งมันสามารถเก็บสภาพเมฆบนโลกของเราที่เวลาต่างๆกันไว้ได้
ต่อมา โครงการอะพอลโลของสหรัฐอเมริกา ส่งมนุษย์อวกาศไปเยือนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ซึ่งในระหว่างนั้นมีการเก็บภาพของโลกไว้ได้หลายภาพ ภาพที่มีชื่อเสียงภาพหนึ่งชื่อ The Blue Marble ซึ่งเป็นภาพโลกทั้งใบที่สวยงาม
ในปี ค.ศ. 1964 องค์การนาซาส่งดาวเทียมนิมบัส 1 (Nimbus 1) เพื่อการศึกษาสภาพภูมิอากาศโลก
โครงการนิมบัส ดำเนินเรื่อยมาจนถึงดาวเทียม นิมบัส 7 ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ. 1978 โดยมีเครื่องวัดโอโซนติดไปด้วย การเก็บข้อมูลกลายเป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงให้เห็นรูรั่วขนาดใหญ่ของโอโซนบริเวณขั้วโลกใต้ เมื่อรวมกับหลักฐานอื่นๆนำมาซึ่งความร่วมมือในการหยุดปล่อยสาร CFCs ออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกเพื่อไม่ให้โอโซนถูกทำลายไปมากกว่านี้
ในปี ค.ศ. 1972 องค์การนาซาส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลกที่มีชื่อว่า ERTS-1 (ย่อมาจากคำว่า Earth Resources Technology Satellite) เพื่อศึกษาแผ่นผืนทวีปบนโลกของเรา ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Landsat 1
ดาวเทียมดวงนี้เก็บภาพกว่า 100,000 ภาพ คิดเป็น 75% ของแผ่นทวีปบนโลกของเราเพื่อทำการศึกษา ผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมดวงนี้นำไปสู่การค้นพบเกาะเล็กๆ(พื้นที่ 25x45 เมตร)ห่างจากชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์และลาบราดอร์ของประเทศแคนาดาราว 20 กิโลเมตร
โครงการ Landsat มีการส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรอีกหลายดวงอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนถึง ดาวเทียม Landsat 8 ซึ่งถูกส่งสู่ห้วงอวกาศในปี ค.ศ. 2013 และยังทำงานอยู่จนถึงปัจจุบัน
ในปี ค.ศ. 1974 องค์การนาซาได้ส่งดาวเทียมชื่อ SMS 1 (Synchronous Meteorological Satellite) ขึ้นสู่วงโคจร geosynchronous orbit ซึ่งดาวเทียมโคจรรอบโลกด้วยอัตราเท่ากับที่โลกหมุนรอบตัวเองทำให้อยู่เหนือตำแหน่งเดิมบนโลกเสมอ
โครงสร้างนี้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ในการสังเกตสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง กรุยทางสู่โครงการใหญ่ที่มีชื่อว่า GOES (Geostationary Operational Environmental Satellite) ซึ่ง GOES 1 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกในโครงการถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี ค.ศ. 1975 ส่วนดวงล่าสุด คือ GOES-17 เพิ่งถูกส่งเมื่อปี ค.ศ. 2018 นี้ โดยทั้งหมดมีจุดประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลสภาพอากาศโลกเพื่อการพยากรณ์และการวิจัย
นี่คือ ภาพรวมของการสำรวจโลกด้วยดาวเทียม
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เราเห็นบ้านของเราได้ชัดเจน เพื่อจะได้ถนอมและรักษาบ้านหลังนี้ของเราไว้นานๆนั่นเอง
ใครสนใจเทคโนโลยีด้านอวกาศและดาวเทียม
กดติดตามเรื่องราวเหล่านี้ได้ที่ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
#gistdaก้าวเข้าสู่ปีที่19
#gistda #จิสด้า
โฆษณา