10 ส.ค. 2019 เวลา 01:41 • การศึกษา
ตอนที่ 68 เจอข้อมูลข่าวสารสุขภาพออนไลน์ ทำไงจึงไม่ถูกหลอก?
**ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของ Series "เรื่องหมอง้ายง่าย..กับมะไฟ" แล้วฮะ ขอบคุณผู้อ่านที่ติดตามกันมาถึง 68 ตอน ต่อจากนี้มะไฟไม่ได้เขียนลงมติชนสุดสัปดาห์แล้วเนื่องจากภาระที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถเขียนบทความและวาด infographic ได้ทันทุกอาทิตย์ แต่ในหน้า Facebook มะไฟจะยังมา update เรื่องราวสาระต่างๆ เป็นระยะๆ สามารถติดตามต่อได้นะฮะ!
ทุกวันนี้เรามีข้อมูลทางสุขภาพที่ถูกแชร์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก ด้วยความที่ใครๆ ก็สามารถเขียนข่าวเขียนบทความแล้วแชร์ไปให้คนอื่นได้ง่ายๆ การเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นเท็จหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องจึงเกิดขึ้นมากเป็นเงาตามตัว (ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งที่มีผลประโยชน์แอบแฝงและไม่มี) แล้วเราจะทำยังไงจึงจะไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อของข้อมูลลวงเหล่านี้? ไปดูวิธีกันฮะ!
การพิจารณาสื่อออนไลน์เกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพที่เราได้รับมานั้น อาจจะพิจารณาแยกเป็นประเด็นได้คือ 1.แหล่งที่มาของข้อมูล 2.เนื้อหาภายใน และ 3.เอกสารอ้างอิง (ถ้ามี) เราจะดูกันยังไงบ้างในแต่ละข้อ?
1.แหล่งที่มาของข้อมูล ในกรณีที่เราได้รับทราบข่าวนั้นจาก account ทางการของสถาบันทางการแพทย์หรือสาธารณสุข หรือ account ของบุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุขที่เชื่อถือได้ และไม่มีผลกำไรหรือผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เรามั่นใจได้มาก ว่าข่าวสารข้อมูลนั้นน่าจะเป็นจริง ... ในขณะที่ข้อมูลที่ถูกแชร์ต่อๆ กันมาผ่าน social media หรือห้องแชทต่างๆ โดยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมีที่มาจากที่ไหน มีการแอบปรับเปลี่ยนข้อความเนื้อหาก่อนจะส่งต่อหรือไม่ ข้อมูลแบบนี้มีโอกาสที่จะเป็นข่าวลวงสูง ให้คิดไว้ก่อนว่าไม่ควรเชื่อถือ
2.เนื้อหาภายใน เนื้อหาที่นำเสนอควรจะเป็นไปได้ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่รู้และเข้าใจกันโดยสากล (ข้อนี้มีสิ่งที่ต้องระวังคืออาจจะมีการแอบอ้างกลไกหรือเหตุผลบางอย่าง ที่จริงๆ ถูกกุขึ้นมา หรืออาจยังไม่มีการพิสูจน์ และยังไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป) ... โดยส่วนใหญ่แล้วเรื่องทางการแพทย์มักจะไม่มียาวิเศษที่จะรักษาโรคใดๆ ได้แบบทันทีหรือใช้ได้แบบครอบจักรวาล ดังนั้นถ้ามีการอ้างว่าสมุนไพรตัวนั้นสารตัวนี้สามารถรักษาได้ทุกโรค แก้มะเร็งได้ทุกชนิด ให้คิดไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นข่าวปลอมฮะ
3.เอกสารอ้างอิง ในกรณีที่มีเอกสารอ้างอิง ควรลองเปิดดูในอินเตอร์เน็ตและค้นข้อมูลว่า แหล่งข้อมูลที่ว่านั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ต้นฉบับเขียนว่าอย่างไร มีบ่อยครั้งที่มีการอ้างข้อมูลจากแหล่งที่มีจริง แต่เนื้อความถูกบิดเบือนไประหว่างการแปลหรือสรุปความ (ทั้งที่จงใจและไม่จงใจ) สิ่งที่เห็นบ่อยๆ ในข่าวปลอมอย่างหนึ่งคือการพยายามแอบอ้างชื่อบุคคลหรือสถาบันที่ดูน่าเชื่อถือ เพื่อให้ดูว่าเป็นข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นแม้จะมีการอ้างอิงชื่อบุคคลหรือสถาบันที่น่าเชื่อถือ ก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อเสมอไปนะฮะ
แล้วเราจะทำยังไงดีเพราะใน 3 ข้อที่กล่าวข้างต้นนี้ หลายครั้งเราเองก็ไม่สามารถรู้ได้ทุกอย่าง ให้ถือหลักไว้ว่า อะไรก็ตามที่เรา "ไม่มั่นใจ" ว่าจะเป็นของจริง จง "อย่าแชร์" สิ่งนั้น เพราะเราอาจตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือของกระบวนการเผยแพร่ข่าวลวงทางสุขภาพได้ อย่าลืมนะฮะว่าถ้าเป็นข่าวจริงข้อมูลจริง แม้เราจะไม่แชร์เดี๋ยวสักพักก็จะมีผู้รู้ออกมาประกาศออกมาประชาสัมพันธ์ให้ทราบอยู่ดี (แค่เพื่อนฝูงเราอาจจะรู้ช้าไปบ้าง) แต่ถ้าเป็นข่าวปลอมแล้วเราแชร์ไป เพื่อนฝูงของเราจะได้รับพิษจากข่าวลวงก็เป็นได้ ที่หวังดีจะกลายเป็นร้ายซะเปล่าๆ ฮะ..
นอกจากนี้สิ่งที่พอกระทำได้ก็คือ การสอบถามบุคคลที่มีความรู้และเรามั่นใจว่าเชื่อถือได้ ว่าข้อมูลนี้เป็นจริงหรือไม่ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเว็บไซต์ต่างๆ ที่คอยสอดส่องข้อมูลข่าวลวง เช่น "ชัวร์ก่อนแชร์" ซึ่งเราสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ฮะว่าข่าวที่เราได้รับมานี้จริงหรือไม่จริง
มะไฟก็หวังว่า หลังจากอ่านจบแล้วทุกคนคงจะมีภูมิต้านทานต่อข่าวลวงมากขึ้นไม่มากก็น้อย ตอนนี้มะไฟขอตัวก่อนนะฮะ มะไฟ (ตัวจริง) โดนตามไปดูลูกแล้วละฮะ.. โชคดีทุกคน แล้วเจอกันใหม่เมื่อมีโอกาสนะฮะ! สวัสดีฮะ!
สามารถติดตามเนื้อหา "เรื่องหมอง้ายง่ายกับมะไฟ" ฉบับย้อนหลังได้ใน Facebook & Blockdit “มะไฟ” ฮะ! อย่าลืมกดไลค์เพจมะไฟและเลือกเป็น see first เผื่อมะไฟมีอะไรดีๆ จะแชร์ในภายหน้าจะได้ไม่พลาดการติดต่อฮะ!
โฆษณา