13 ส.ค. 2019 เวลา 07:23 • การศึกษา
“โอนสิทธิเรียกร้องคืออะไร คนทำการค้า ทำธุรกิจต้องรู้ไว้ !?”
สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงทำธุรกิจมานาน คำว่า “โอนสิทธิเรียกร้อง” อาจเป็นคำที่คุ้นหูและใช้กันอยู่บ่อย ๆ
Cr. pixabay
แต่สำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาทำธุรกิจการค้า การโอนสิทธิเรียกร้องคืออะไร และมีความสำคัญยังไง แอดมินจะพาไปทำความรู้จักครับ
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคำว่า
“สิทธิเรียกร้อง” กันก่อน
สิทธิเรียกร้องนั้น แปลความหมายง่าย ๆ ก็คือ สิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่เหนือลูกหนี้ เช่น
ตัวอย่างที่ 1 นาย A ให้นาย B ยืมเงิน 20,000 บาท นาย A เป็นเจ้าหนี้นาย B จึงมีสิทธิเรียกร้องให้นาย B ชำระหนี้ตนได้นั่นเอง
ตัวอย่างที่ 2 บริษัท C เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ได้ทำสัญญารับสร้างบ้านให้กับนาย D บริษัท C จึงสถานะเป็นเจ้าหนี้ในเงินค่าจ้างก่อสร้าง และมีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากนาย D
Cr. pixabay
ทีนี้เมื่อเราเข้าใจคำว่าสิทธิเรียกร้องกันแล้ว เรามาดูกันต่อเลยว่าการ “โอนสิทธิเรียกร้อง” หมายความว่าอะไร และมีวิธีหรือขั้นตอนการโอนอย่างไร
"การโอนสิทธิเรียกร้องร้อง" ก็คือ การโอนสิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่เหนือลูกหนี้ เช่น สิทธิที่จะได้รับการชำระหนี้ ไปให้แก่บุคคลอื่น โดยบุคคลผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้นก็จะเข้ามามีสถานะเป็นเจ้าหนี้แทน
จากตัวอย่างที่ 1 หากนาย A ได้ไปซื้อสินค้าจากร้านของนาย E เพื่อนำไปขายต่อ แต่ปรากฏว่ายังไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ นาย A สามารถตกลงกับนาย E เพื่อโอนสิทธิเรียกร้องที่ตนมีต่อนาย B ลูกหนี้เงินกู้ของตน ไปให้แก่นาย E ได้
ซึ่งเมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไปแล้วนาย A ก็หมดสิทธิที่จะไปเรียกร้องเอาจากนาย B อีกต่อไป รวมถึงนาย E เมื่อตกลงรับโอนสิทธิของนาย A แล้วย่อมสิ้นสิทธิที่จะเรียกร้องเอากับนาย A อีก โดยนาย E จะเข้าไปเป็นเจ้าหนี้ของนาย B แทนนาย A
Cr. pixabay
ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บอกไว้ว่า สิทธิเรียกร้องนั้นสามารถโอนกันได้ เว้นแต่สภาพแห่งสิทธินั้นจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ หรือกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ไม่ให้มีการโอนสิทธิเรียกร้อง
การโอนสิทธิเรียกร้องนั้น เป็นสิทธิของคู่สัญญาที่จะทำหรือไม่ก็ได้โดยขึ้นอยู่กับความยินยอมของทั้งสองฝ่าย เว้นแต่โดยสภาพแล้วสิทธินั้นไม่สามารถโอนได้
เช่น สิทธิที่เป็นเรื่องเฉพาะตัว (การใช้ความสามารถเฉพาะตัว เช่น การวาดภาพ) หรือ
คู่สัญญาตกลงกันไม่ให้โอนสิทธิฯ
ส่วนวิธีการโอนนั้น ถ้าจะให้รัดกุมคู่สัญญาก็ควรทำเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง และบุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้ในสิทธิเรียกร้องมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิฯ นั้นไปยังบุคคลผู้เป็นลูกหนี้ เพื่อแจ้งให้เขารับทราบว่าต่อไปนี้จะมีบุคคลอื่นเข้ามาเป็นเจ้าหนี้แทนที่แล้ว
Cr. pixabay
สำหรับฝ่ายลูกหนี้นั้นจะทำอะไรได้บ้าง หากเจ้าหนี้ของเราได้โอนสิทธิเรียกร้องไปให้บุคคลภายนอก ?
หากลูกหนี้ได้ให้ความยินยอม โดยไม่ได้โต้แย้งไว้ ลูกหนี้จะไม่สามารถยกข้อต่อสู้ที่มีต่อเจ้าหนี้ของตนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิฯ ได้
การยกข้อโต้แย้ง เช่น ในสัญญาต่างตอบแทน ลูกหนี้อาจยกข้อต่อสู้ว่าเจ้าหนี้ยังชำระหนี้ให้ตนไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ เจ้าหนี้ไม่สมควรได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน
จากตัวอย่างที่ 2 หากบริษัท C ได้โอนสิทธิเรียกร้องค่าจ้างก่อสร้างที่จะได้รับจากนาย D ไปให้แก่นาย F หากนาย D เห็นว่าบริษัท C ยังสร้างบ้านของตนไม่สมบูรณ์ ยังไม่สมควรได้รับค่าจ้างงวดสุดท้าย นาย D จะต้องโต้แย้งไปยังนาย F ผู้รับโอนสิทธิให้รู้ถึงข้อโต้แย้งที่มีอยู่ในสัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าว
Cr. pixabay
สิทธิเรียกร้องที่จะมีขึ้นในอนาคตจะโอนได้มั้ย ?
คำตอบ สามารถทำได้
“จำเลยทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยในเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างอาคารให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ โดยบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องนั้น และได้รับความยินยอมแล้ว
สิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างเหมาจึงตกเป็นของผู้ร้องและขาดจากการเป็นสิทธิหรือทรัพย์สินของจำเลย แม้ว่าขณะโอนสิทธิเรียกร้องจะยังไม่ถึงกำหนดงวดที่จำเลยจะได้รับเงินตามสัญญาจ้างเหมาก็ตาม"
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 652/2508)
สิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้วจะโอนได้หรือไม่ ?
Cr. pixabay
คำตอบ สามารถทำได้
“ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าหนี้ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระแล้วจะโอนให้แก่กันไม่ได้ และผู้รับโอนจะต้องมีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอน
แม้การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับโจทก์จะกระทำภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้แล้วและโจทก์มิได้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ดังกล่าว ก็มิใช่เรื่องการซื้อขายความและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำเป็นหนังสือและโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ย่อมมีผลสมบูรณ์และใช้ยันจำเลยได้
โจทก์ผู้รับโอนซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมย่อมมีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่มีอยู่จากจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ดังกล่าวได้"
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 6334/2550)
เป็นยังไงบ้างครับกับเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องในวันนี้...
แอดมินหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ที่กำลังจะเริ่มต้นทำธุรกิจ เพื่อจะได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หรือสำหรับคนที่ต้องการศึกษาด้านกฎหมาย จะได้มีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้นนะครับ
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา