13 ส.ค. 2019 เวลา 11:09 • ประวัติศาสตร์
ศาสตร์ที่เรียกว่า “มานุษยวิทยา” คืออะไร
มานุษยวิทยาแปลมาจาก Anthropology ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงศาสตร์ที่ศึกษามนุษย์ แต่เนื่องจากมนุษย์มีหลายมิติ ทำให้มานุษยวิทยาสนใจประเด็นย่อยๆที่สัมพันธ์กับมนุษย์อีกหลายเรื่อง เช่น โครงสร้างทางร่างกาย รูปร่างหน้าตาสีผิว เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ บรรพบุรุษของมนุษย์ พฤติกรรมทางสังคม การใช้ภาษา การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้และวัตถุสิ่งของ แบบแผนทางวัฒนธรรม เป็นต้น
มานุษยวิทยามาสาขาย่อยต่างๆดังนี้
-มานุษยวิทยากายภาพจะสนใจการก่อกำเนิดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของขนาดร่างกายและมันสมองที่มีผลต่อระดับสติปัญญาและการแสดงพฤติกรรม
-โบราณคดีจะสนใจศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ในอดีต โดยวิเคราะห์จากหลักฐานทางวัตถุและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งอาจเป็นวัตถุชิ้นเล็กๆไปจนถึงอาคารสถานที่ขนาดใหญ่
-มานุษยวิทยาภาษาจะสนใจศึกษาตัวอักษร พยัญชนะ การประดิษฐ์คำ การพูดการออกเสียง ระบบไวยกรณ์ และการใช้สัญลักษณ์ต่างๆในฐานะเป็นเครื่องมือสื่อสารทางสังคมและการให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆในโลก
-สำหรับมานุษยวิทยาสังคมหรือวัฒนธรรม (บางครั้งรวมเรียกว่ามานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม) จะสนใจชีวิตของมนุษย์ โดยศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมที่ปรากฎอยู่ในชีวิตประจำวัน
ถึงแม้ว่าสายาย่อยเหล่านี้จะมีโจทย์เฉพาะของตนเอง แต่จุดร่วมเดียกันก็คือความต้องการที่จะรู้ว่ามนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างไร ดังนั้น “วัฒนธรรม” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ นักมานุษยวิทยาที่ทำงานภายใต้สาขาย่อยจึงมิได้ตัดขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง หากแต่จะทำงานภายใต้ร่มเดียวกันที่ต่างค้นหาความหมายของ “วัฒนธรรม” จากมุมมองที่หลากหลาย
การผสมผสานความรู้จากสาขาย่อยเหล่านี้มาเป็นแนวทางเพื่อที่จะเรียนรู้คุณค่าและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษย์
วิธีการศึกษาของมานุษยวิทยา เป็นอย่างไร
นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาเริ่มมีแนวทางการศึกษาในแบบของตัวเองที่แตกต่างไปจากศาสตร์ทางสังคมแบบอื่นๆ จากความสนใจชีวิตมนุษย์ในดินแดนต่างๆ ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องทำหน้าที่เก็บข้อมูลวัฒนธรรม หรือที่รู้จักในนาม “การทำงานภาคสนาม” (Fieldwork) โดยมีเป้าหมายที่จะเรียนรู้ความคิดและการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ในการทำงานภาคสนาม นักมานุษยวิทยาจะต้องเรียนรู้ภาษาของกลุ่มคนที่เข้าไปศึกษาเพื่อที่จะพูดคุยและสัมภาษณ์ รวมทั้งสังเกตสิ่งต่างๆแบบมีส่วนร่วม (Participant-Observation) โดยเข้าไปคลุกคลีอยู่อาศัยกับคนในท้องถิ่นเป็นเวลานานเพื่อที่จะเข้าใจวิถีชีวิตของคนเหล่านั้นได้ราวกับเป็นคนในวัฒนธรรมเอง
ข้อมูลที่ได้จากการทำงานภาคสนาม นักมานุษยวิทยาจะนำมาเขียนเรียบเรียง รู้จักในนาม “ชาติพันธุ์วรรณา” (Ethnography) บางทีเรียกว่า “งานเขียนทางชาติพันธุ์” ซึ่งเป็นการอธิบายถึงวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่ศึกษาภายใต้การตีความและการวิเคราะห์ด้วยกรอบทฤษฎีบางอย่าง คำว่า “ชาติพันธุ์” (Ethnic) เป็นคำดั้งเดิมก่อนที่วิชามานุษยวิทยาจะสถาปนาตนเองเป็นศาสตร์สมัยใหม่ เนื่องจากการศึกษาวัฒนธรรมและชีวิตของคนในท้องถิ่นต่างๆ ได้นำไปสู่การเปรียบเทียบทางวัฒนธรรม การเปรียบเทียบนี้รู้จักในนาม “ชาติพันธุ์วิทยา” (Ethnology) ซึ่งต้องการที่จะเข้าใจว่ามนุษย์ในดินแดนต่างๆมีประวัติศาสตร์และแบบแผนการดำเนินชีวิตที่เหมือนและต่างกันอย่างไร อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มคนที่นักมานุษยวิทยาศึกษา เป็นกลุ่มทางชาติพันธุ์ทั้งที่เคยมีอยู่ในอดีตและกลุ่มที่มีชีวิตอยู่ในปัจจบัน ซึ่งกระบวนการทำงานที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนเหล่านั้น
มานุษยวิทยา ในฐานะเป็นศาสตร์ที่ศึกษา “วัฒนธรรม” ของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ทำให้ “วัฒนธรรม” คือหัวใจหลักของวิชามานุษยวิทยา แต่คำว่า “วัฒนธรรม” ในทางมานุษยวิทยามิใช่คุณสมบัติของสิ่งที่สวยงามหรือมีความคงที่ แต่เป็น “แนวคิด” (Concept) ที่มีข้อถกเถียงมาอย่างต่อเนื่อง
แนวคิดเรื่อง “วัฒนธรรม” ที่ปรากฎอยู่ในวิชามานุษยวิทยาเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบกับความรู้แบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตกซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในป่าและถิ่นทุรกันดารเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีวัฒนธรรม โดยที่ชาวตะวันตกจะมองว่าตนเองเป็นผู้ที่เจริญแล้ว มีความเฉลียวฉลาด และมีวัฒนธรรมที่สูงส่ง ในขณะที่ชนพื้นเมืองในดินแดนอื่นๆยังคงอยู่กับธรรมชาติจะถูกมองว่าล้าหลังและโง่เขลา ทำให้ขาดความเจริญทางวัฒนธรรม แต่มานุษยวิทยาออกมาโต้แย้งกับความคิดนี้โดยอธิบายว่า “วัฒนธรรม” มีอยู่ในชุมชนของมนุษย์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบตะวันตกหรือชุมชนพื้นเมืองเร่ร่อนในเขตทุรกันดาร ทุกชุมชนล้วนมีแบบแผนทางวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง
โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ที่มา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
โฆษณา