14 ส.ค. 2019 เวลา 05:15 • การศึกษา
รีวิว หนังสือ Like a Virgin : Secrets they won’t teach you at Business school
หนังสือประวัติชีวิตของ Richard Branson นักธุรกิจที่มีความบกพร่องในการอ่านจนทำให้เขาต้องเลิกเรียนในวัยเพียง 16 ปี แต่ปัจจุบันเขากลับเป็นของเจ้าของธุรกิจมากถึง 400 กิจการทั่วโลก!! 💰💰
“ไม่มีวิธีใดที่จะเรียนรู้วิธีที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ดีเท่าการเรียนรู้จากความผิดพลาด”
ชีวิตของเขาเริ่มต้นหลังจากที่ออกจากโรงเรียนในวัย 16 ด้วยการเริ่มทำนิตยสาร ถึงแม้มันจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เขาตั้งใจไว้ แต่เขาก็ไม่เคยยอมแพ้ เขาเดินหน้าต่อไปด้วยธุรกิจแผ่นเสียง 💽📀 ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก ร้านแผ่นเสียงของเขาแตกต่างจากร้านอื่นๆ เพราะเขาคิดนอกกรอบ เขาจัดร้านให้มีที่นั่งคุย นั่งใช้เวลาพูดคุยกันกับเพื่อนๆ เพื่อที่ทุกคนจะได้ใช้เวลาในร้านของเขามากขึ้น ทำให้ร้านของเขากลายเป็นเเหล่งรวมตัวผู้คนมากมาย
และชื่อ Virgin ก็มาจากการนั่งคุยกันเล่นกับเพื่อนๆของเขาในร้านแผ่นเสียงนั่นเอง
เขายังมีธุรกิจภายใต้เครือ Virgin อีกมากมาย หนึ่งในธุรกิจที่เรารู้จักกันดีก็คือ Virgin Airline ต้นแบบสายการบินราคาประหยัดที่มีเส้นทางการบินมากมายรอบโลก Virgin Record ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ปั้นศิลปินชื่อดังอย่างวง Sex Pistols ไปจนถึง Virgin Mobile, Virgin Money ธุรกิจธนาคารของประเทศออสเตรเลีย และอีกหลายธุรกิจรวมไปถึงการเข้าไปลงทุนแข่งกับยักษ์ใหญ่ในสินค้าที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงอย่างธุรกิจน้ำดำ นั่นคือ การทำธุรกิจ Virgin Cola!! 🥤
เขามีวิธีการนำเสนอสินค้าที่แปลกและแตกต่าง โดยที่เขาเน้นที่การโฆษณาตัวเขาเอง ด้วยความที่เขาเป็นคนที่กล้า และบ้าบิ่น ทำให้ตัวเขาเองกลายเป็นที่จดจำของผู้คนจำนวนมากได้ในเวลารวดเร็ว
หนังสือได้สอนถึงวิธีการคิด การทำธุรกิจในแบบของ Richard Branson ไว้ไม่ว่าจะเป็น
▶️ หัวใจที่เป็นหลักการในการทำธุรกิจที่สำคัญที่สุดของเขาซึ่งก็คือ การที่เราต้องรู้สึกสนุกกับสิ่งที่เราทำ เพราะการเริ่มทำธุรกิจเป็นเรื่องที่เราต้องทุ่มเทกับมัน ทั้งในเรื่องเวลาและความคิด เราจึงต้องทำในที่สิ่งที่เรารักและรู้สึกสนุกไปกับการทำสิ่งนั้น
▶️ การมีความคิดสร้างสรรค์ การกล้าที่จะมองออกนอกกรอบ หรือออกจาก confort zone ของตัวเอง ธุรกิจที่ดีคือธุรกิจที่เราต้องแตกต่างจากคนอื่นเพื่อให้เราเป็นที่รู้จักและจดจำ แต่ถ้าเราไม่มีสินค้าที่แตกต่าง เราก็ต้องทำให้บริการของเรายอดเยี่ยมชนะคู่แข่งของเราให้ได้
1
▶️ การเปลี่ยนมุมมองจากการเห็นลูกค้าเป็นพระเจ้า หรือ Customer come first ไปเป็น การให้ค่าพนักงานก่อน วัฒนธรรมองค์กรที่ Virgin กลับยอมรับให้พนักงานทำผิดพลาดได้เพื่อที่พวกเขาจะได้เรียนรู้ การสร้างความรู้สึกที่พนักงานทุกคนเป็นเจ้าของบริษัท กระตุ้นให้ทุกคนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะทำให้พนักงานทุกคนทำงานกันอย่างเต็มที่ กล้าคิดกล้าเสนอไอเดียใหม่ๆ จนทำให้ธุรกิจของเขาสามารถผ่านช่วงวิกฤตมาได้เป็นอย่างดี เขามักจะกระตุ้นให้พนักงานกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น เล่าถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขที่พนักงานที่อยู่หน้างานเท่านั้นที่จะมองเห็น
นอกจากให้พนักงานมาเป็นอันดับแรก เขายังจัดให้ลูกค้ามาเป็นอันดับสอง และผู้ถือหุ้นมาเป็นอันดับสาม เพราะท้ายที่สุดแล้วถ้าพนักงานมีความสุขในการทำงาน เขาก็จะทำงานได้ดี ลูกค้าก็จะมีความสุข และเมื่อลูกค้ามีความสุข ผลประกอบการก็จะดี ท้ายที่สุดผู้ถือหุ้นก็จะมีความสุข
▶️ เขามักพูดเสมอว่า การเป็นผู้นำที่ดี คือการเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะไม่มีใครที่ดีความคิดที่ดีอยู่คนเดียว ให้เราออกไปเจอผู้คนและฟังว่าคนอื่นจะพูดอะไรบ้าง สนับสนุนให้พวกเขาออกความเห็น และเรียนรู้จากพวกเขา
▶️และหลักการสุดท้ายคือ การทำให้ตนเองเป็นที่รู้จัก มีคนเห็นตัวเรา ออกสื่อให้บ่อย เพื่อที่จะให้ผลิตภัณฑ์และการบริการของเราเป็นที่รู้จัก อย่างเช่น ทุกครั้งที่เขาขึ้นเครื่อง เขาก็จะเดินไปทั่วทั้งเครื่องเพื่อพูดคุยกับลูกเรือและผู้โดยสาร เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง รับฟังปัญหา เขายังบอกอีกว่าการทำแบบนี้มักจะทำให้เขาได้รับคำแนะนำอะไรดีๆ กลับมามากมายเสมอ
1
เขามักเดินทางไปไหนมาไหนโดยการพกสมุดติดตัวเล่มหนึ่งเสมอ เขามักจะใช้สมุดเล่มนั้นเพื่อจดไอเดียใหม่ๆที่ได้จากการออกไปพบปะผู้คนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้มักจะทำให้เขาได้รับมุมมองอะไรดีๆอยู่ตลอด
1
เขายังมีความฝันในธุรกิจที่แปลกกว่าคนทั่วไป เช่น การไปท่องอวกาศ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอวกาศเพื่อเป็นแหล่งพลังงานของโลก การย้ายอุตสาหกรรมที่ส่งมลพิษไปยังอวกาศ หรือการลงไปสำรวจใต้ทะเลลึกอีกด้วย
เขายังมักบอกผู้คนเสมอเมื่อมีคนมาถามเขาเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวในธุรกิจต่างๆของเขาว่า ถ้าธุรกิจของคุณล้มเหลว จงจำไว้ว่าธุรกิจใหม่ส่วนใหญ่มักจะไปไม่รอด และบทเรียนที่ดีที่สุดบางบทเรียนมาจากความล้มเหลวนี่ล่ะนะ เพราะว่า “ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดที่เราไม่ทำผิดแบบซ้ำๆ”
#อ่านแล้วมาย่อย
โฆษณา