14 ส.ค. 2019 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
สาวยาคูลท์ที่ญี่ปุ่น ไม่ได้ขายแค่นมเปรี้ยว - Market Think
“อยากรู้เรื่องยาคูลท์ ถามสาวยาคูลท์สิคะ”
จากโฆษณาเก่าแก่ที่อยู่คู่กับคนไทย
ทำให้เวลาพูดถึงยาคูลท์ เราต้องนึกถึงสาวๆ ที่ขายยาคูลท์อีกที
แต่รู้หรือไม่ ที่ประเทศญี่ปุ่น สาวยาคูลท์ไม่ได้ขายแค่นมเปรี้ยว
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักจุดเริ่มต้นบริษัทยาคูลท์กัน
ปี พ.ศ. 2473 เกิดเหตุการณ์สำคัญ โดย ดร.มิโนรุ ชิโรต้า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกียวโต
ซึ่งกำลังวิจัยเรื่องแบคทีเรียอยู่ ได้ค้นพบจุลินทรีย์ชิโรต้า หรือ แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ สายพันธ์ุ ชิโรต้า (ตั้งตามชื่อตนเอง)
ซึ่งจุลินทรีย์ดังกล่าวมีคุณสมบัติ ช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของสารพิษของแบคทีเรียที่ก่อโรค และลดอาการท้องผูก-ท้องเสีย
1
ปี พ.ศ. 2478 เขาจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Yakult Honsha ที่เมืองมินะโตะ จังหวัดโตเกียว เพื่อผลิตนมเปรี้ยวยาคูลท์จำหน่าย
1
เริ่มแรกบริษัทใช้กลยุทธ์การขายตรงเป็นหลัก
โดยมี “สาวยาคูลท์” ที่สวมชุดยูนิฟอร์มอันเป็นเอกลักษณ์ ไปเคาะประตูถึงหน้าบ้านลูกค้า
3
เหตุผลที่ใช้กลยุทธ์นี้เพราะว่าสมัยก่อน ผู้หญิงญี่ปุ่นมักเป็นแม่บ้าน
การให้สาวยาคูลท์ไปขาย จะช่วยลดกำแพง ในการซื้อขายระหว่างลูกค้าได้
โดยเฉพาะเมื่อลูกค้าเป็นผู้หญิง หรือคนแก่ที่อยู่ตามลำพัง
1
แต่พอธุรกิจมีการขยายตัว และด้วยการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีคู่แข่งมากขึ้น
ทำให้บริษัทต้องปรับตัว โดยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ เช่น ร้านโมเดิร์นเทรด
1
นมเปรี้ยวยาคูลท์เป็นที่นิยมในหลายประเทศ ไม่เพียงแต่ญี่ปุ่น
เช่น จีน อินโดนีเซีย เม็กซิโก เกาหลีใต้ ไทย
โดยผลิตและจำหน่ายสินค้ากว่า 38 ประเทศ และมีสาวยาคูลท์กว่า 46,600 คนทั่วโลก
แต่ที่น่าสนใจคือบริษัท มีการพัฒนาและแตกไลน์สินค้าประเภทอื่นๆ
ได้แก่ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยา ภายใต้แบรนด์ของบริษัท
โดยนำความเชี่ยวชาญในเรื่องจุลินทรีย์ที่มีอยู่มาต่อยอด
1
ซึ่งการจำหน่ายเครื่องสำอาง จะมีช่องทางการขายตรง
โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรม คอยให้คำปรึกษาถึงบ้าน
ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสาวยาคูลท์ที่ขายนมเปรี้ยว
โดยสาวยาคูลท์ที่ขายเครื่องสำอางที่ญี่ปุ่นมีกว่า 4,760 คน
โรงงานที่ประเทศญี่ปุ่นมี 12 แห่ง ประกอบไปด้วย โรงงานผลิตนมเปรี้ยว 5 แห่ง
โรงงานผลิตเครื่องสำอาง 1 แห่ง โรงงานผลิตยา 1 แห่ง และโรงงานผลิตขวดยาคูลท์ 5 แห่ง
ปัจจุบัน Yakult Honsha Co., Ltd. มีมูลค่า 309,000 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 108,098 ล้านบาท กำไร 8,616 ล้านบาท
ปี 2560 มีรายได้ 114,745 ล้านบาท กำไร 9,734 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 116,323 ล้านบาท กำไร 9,984 ล้านบาท
1
โดยมีสัดส่วนรายได้จากยา เครื่องสำอางและอื่นๆ ประมาณ 10.8%
1
ส่วนประเทศไทย ยาคูลท์ได้เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2513
โดย คุณประพันธ์ เหตระกูล เนื่องจากตอนเรียนมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น เขามักมีอาการท้องเสีย
จนวันหนึ่งได้มีโอกาสดื่มยาคูลท์ แล้วพบว่าปัญหาเรื่องลำไส้ดีขึ้น
เขาจึงอยากให้คนไทยได้มีโอกาส ดื่มนมเปรี้ยวชนิดนี้
บริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด
ปี 2559 มีรายได้ 2,350 ล้านบาท กำไร 150 ล้านบาท
ปี 2560 มีรายได้ 2,370 ล้านบาท กำไร 309 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 2,409 ล้านบาท กำไร 358 ล้านบาท
แม้ว่ายาคูลท์จะได้รับความนิยมในประเทศไทยมากว่า 40 ปีแล้ว
แต่บริษัทก็ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวสินค้า
1
ด้วยเทรนด์การรักสุขภาพของคนในปัจจุบัน
ทำให้บริษัทได้ออก “ยาคูลท์ไลท์” นมเปรี้ยวสูตรน้ำตาลน้อยออกมาตีตลาด
ส่วนในอนาคต ที่ประเทศไทย
ก็น่าติดตามว่า เราจะมีโอกาสได้สั่งซื้อเครื่องสำอาง พร้อมนมเปรี้ยว ผ่านสาวยาคูลท์ หรือไม่..
โฆษณา